‘สุเทพ’ เคียงบ่าเคียงไหล่ ‘4แกนนำกปปส.ชุดแรก’ ลุ้นตัดสินคดีร่วมกบฏ พรุ่งนี้

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีชุมนุม กปปส. 5 สำนวน คดีหมายเลขดำ อ.247/2561 , อ.832/2561, อ.1185/2561, อ.491/2562 , อ.791/2562 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “นายสุเทพ” เทือกสุบรรณ อายุ 70 ปี อดีตเลขาธิการ กปปส. และประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) , อดีตแกนนำ กปปส. และแนวร่วม รวมทั้งสิ้น 32 คน

ในความผิด 8 ข้อหาฐานร่วมกันกบฏ , สนับสนุนกบฏ , ขัดขวางการเลือกตั้งฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 , 116 , 117 , 209 , 210 , 215 , 216 , 362 , 364 , 365 , พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 ม.76 , 152 ขณะที่นายสุเทพกับนายชุมพล จุลใส ถูกฟ้องเพิ่มอีกข้อหาฐานก่อการร้าย ตามมาตรา 135/1 ด้วย

กรณีสืบเนื่องจากการร่วมชุมนุมกันของ กปปส.ที่มีนายสุเทพเป็นผู้นำการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556 – 1 พ.ค.2557 ซึ่งมีการพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งท้ายคำฟ้องอัยการโจทก์ยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของจำเลยด้วยมีกำหนด 5 ปี

ซึ่งคดีได้เริ่มสืบพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา และพยานต่อเนื่องทุกสัปดาห์

Advertisement

โดยวันนี้ “นายสุเทพ” จำเลยที่ 1 และทนายความก็เดินทางมาศาลพร้อมร่วมสืบพยาน ขณะที่วันนี้อัยการนำพยานเข้าสืบเพียง 1 ปาก เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลจนเสร็จสิ้น โดยวันนี้ศาลยังได้มีคำสั่งยกคำร้องที่จำเลยร่วมคดี กปปส.ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นด้วย ซึ่งศาลเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเกี่ยวกับการชุมนุมของ กปปส.ไว้แล้ว จึงไม่เข้าตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะส่งวินิจฉัยอีก

ภายหลังร่วมสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว “นายสุเทพ” อดีตเลขาธิการ กปปส. ให้สัมภาษณ์กรณีที่ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษา ที่อัยการยื่นฟ้อง นายสนธิญาน ชื่นฤทัยในธรรม , นายสกลธี ภัทธียกุล , นายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ , นายเสรี วงศ์มณฑา 4 แกนนำ กปปส.ร่วมกบฏ สำนวนแรก ในวันที่ 25 กรกฎาคมว่า ตนเองก็จะมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกันในฐานะที่เป็นผู้ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ ก็จะมาอยู่เป็นกำลังใจให้กับเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ด้วยกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีกบฏ กปปส.สำนวนแรก ที่ “ศาลอาญา” รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ห้องพิจารณา 711 นั้น

Advertisement

อัยการได้ยื่นฟ้อง ที่ “พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4” ได้ยื่นฟ้อง นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 57 ปี แกนนำ กปปส. และนายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 42 ปี อดีต ส.ส.กทม.ร่วมชุมนุม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. เป็นจำเลยที่ 1- 2 ต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 8 พ.ค.57 นั้น ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ , กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ , อั้งยี่ , ซ่องโจร , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ , เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้นแต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างเพื่อบังคับรัฐบาล , ร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 , 116, 117, 209, 210, 215, 362, 364, 365 และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง , ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มา ซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76 ,152 รวม 8 ข้อหา โดยศาลอาญาประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.1191/2557

ต่อมาปีเดียวกัน อัยการยังได้ทยอยยื่นฟ้องนักวิชาการที่ร่วมชุมนุม กปปส.อีก 2 คน คือ “นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อายุ 68 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และสภาปฏิรูปการเมือง (สปช.) ในคดีหมายเลขดำ อ.1298/2557

และ “นายเสรี วงศ์มณฑา” อายุ 70 ปี นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ในคดีหมายเลขดำ อ.1328/2557 ในความผิดฐานร่วมกันกบฎเช่นกัน โดยจำเลยทั้ง 4 รายให้การปฏิเสธ พร้อมตั้งทนายความสู้คดี ขณะที่จำเลยทั้งสี่ได้รับการปล่อยชั่วคราวชั้นพิจารณา

โดยคำฟ้องบรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย.56 จนถึงวันฟ้อง (เดือน พ.ค.57) ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ฟ้องกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้มั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและเกินกว่า 10 คนสมคบกันเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร ซึ่งร่วมกันและแบ่งหน้าที่กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ โดยมีการจัดตั้งเป็นคณะบุคคลชื่อ “ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.”  ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศตัวเป็นเลขาธิการ กปปส. โดยจำเลยทั้งสองเป็นสมาชิกและเป็นกรรมการผู้มีหน้าที่สั่งการ ร่วมกันปลุกระดม ยุยง ชักชวนให้ประชาชน เข้าร่วมการชุมนุมและร่วมกิจกรรมในการก่อความไม่สงบ มุ่งขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี รวมทั้งดำเนินการคัดค้านและขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อไม่ให้มีนายกรัฐมนตรีและ ครม.ชุดใหม่ เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งมีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยปราศรัยชักชวนประชาชนให้ออกมาขับไล่รัฐบาล อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็นกองกำลังทั้งที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ บุกเข้าไปยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานต่างๆ เพื่อไม่ให้รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีการใช้กำลังขัดขวางต่อสู้ทำร้ายร่างกาย โดยวันที่ 16 ม.ค. 57 เวลากลางคืน ได้มีการจัดตั้งสะสมกองกำลังอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการกบฏ และประกาศรับสมัครชายฉกรรจ์ 500 คน เพื่อทำการขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และจับตัวรัฐมนตรีคนอื่นๆ บีบบังคำให้ลาออกจากตำแหน่ง รวมทั้งจัดตั้งศาลประชาชนขึ้นพิจารณาลงโทษและริบยึดทรัพย์ อันเป็นการล้มล้างอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ

นอกจากนี้วันที่ 13 ม.ค. – 2 มี.ค. 57 จำเลย , นายสุเทพ พร้อมพวก ยังได้ปิด กทม. มีการตั้งเวทีปราศรัย 7 แห่ง ปิดกั้นการจราจรและได้ยึดครองไม่ให้ประชาชนใช้เส้นทางดังกล่าว โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต รัฐบาลมอบหมายให้ศูนย์รักษาความสงบและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ออกคำสั่ง ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้จำเลยและพวก เลิกชุมนุมและบุกรุกสถานที่ราชการ หยุดปิดกั้นการจราจร แต่จำเลยกับพวกไม่เลิกกระทำการดังกล่าว  เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ขณะที่ท้ายคำฟ้องอัยการ ไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า กระทั่งวันที่ 13 ก.พ.58 ระหว่างคดีเริ่มสู่กระบวนการตรวจพยานหลักฐาน อัยการได้ขอรวมสำนวนพิจารณาเป็นคดีเดียวกันพิจารณาเป็นสำนวนคดีเดียวกัน เพื่อให้ขั้นตอนการพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว เนื่องจากมีมูลคดีและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน ศาลก็อนุญาต โดยอัยการโจทก์แถลงต่อศาล มีพยานหลักฐานเอกสารนำส่งศาล ทั้งสิ้น 216 แฟ้มรวม 27 กล่อง ซึ่งกระบวนการสืบพยานได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 จนเสร็จสิ้นในปี 2562 นี้

โดยคดีการชุมนุม กปปส. นั้น ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ค.57 คณะทำงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เป็นแกนนำ , นักวิชาการ , แนวร่วม รวม 51 ราย โดยพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สามารถนำตัวส่งให้อัยการ ยื่นฟ้องได้ 4 คนดังกล่าวชุดแรกก่อน

ส่วนที่เหลือนั้น คือกลุ่มนายสุเทพ , นายถาวร เสนเนียม กับพวกซึ่งเป็นแกนนำ กปปส. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งกลุ่มนักวิชาการ 48 รายนั้น อัยการ รอดีเอสไอส่งตัวผู้ต้องหาเพราะระหว่างนั้นยังติดช่วงการชุมนุมยังไม่สามารถนำตัวมาได้

จนเมื่อยุติการชุมนุมแล้ว เดือน ม.ค.58 นายสุเทพ อดีตเลขาธิการ กปปส. , นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตโฆษก กปปส. , พระพุทธะอิสระ และแกนนำ กปปส. เวทีต่างๆ พร้อมด้วยแนวร่วมที่มีทั้งกลุ่ม พธม.เดิม – กลุ่มนักวิชาการ ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันและสนับสนุนเป็นกบฏ ทยอยเดินทางเข้าพบอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อรายงานตัวตามขั้นตอน พร้อมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการในการสอบพยานเพิ่มเติม ซึ่งอัยการพิจารณาแล้วก็คงยืนยันคำสั่งให้ฟ้องแกนนำ – แนวร่วม กปปส. ดังกล่าว

แล้วตั้งต้นเดือน ม.ค.61 – ต้นปี 62 อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้ทยอยไล่ฟ้อง “นายสุเทพ” อดีตเลขาธิการ กปปส. , แกนนำ กปปส.เวทีจุดต่างๆ รวม 32 รายใน 5 สำนวน ซึ่งทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ปัจจุบันนี้คดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ โดยศาลอาญาได้สืบพยานโจทก์ คดี กปปส. ชุดนายสุเทพนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 พ.ค.62 ที่ผ่านมา ขณะที่จำเลยทั้งหมดได้รับการประกันตัวคนละ 600,000 บาท พร้อมมีเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลด้วย

โดยคดีกลุ่ม กบฏ กปปส.นั้น ยังเหลือผู้ต้องหาที่รอส่งตัวอีก 10 กว่าคน อาทิ นายพิภพ ธงชัย อดีตแกนนำ พธม. , นายนิติธร ล้ำเหลือ , น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image