พ่อ นรต.ร่มไม่กางโวย อสส. สั่งคดีอาญาเอาผิดช้า รองโฆษกแจงเอกสารมากยันไม่ให้หมดอายุความ

พ่อ นรต.ร่มไม่กางโวย อสส.สั่งคดีอาญาเอาผิดผู้เกี่ยวข้องอืด ด้านรองโฆษก อัยการ แจงคดีอยู่ที่ฝ่ายอัยการชี้ขาด มีเอกสารมาก ผู้ถูกกล่าวร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ต้องพิจารณารอบคอบ ยันไม่ปล่อยให้คดีขาดอายุความ

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ นายสาธร พุทธชัยยงค์ บิดาของ นรต.หรือนายชยากร พุทธชัยยงค์ หรือ โยโย่ อายุ 19 ปี ที่ฝึกกระโดดร่มเเล้วร่มไม่กาง จนเสียชีวิตที่ จ.บุรี เมื่อปี 2557 ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม พร้อมถือป้ายประท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการสูงสุด หลังจากคดีอยู่ในชั้นสำนักงานอัยการสูงสุดมานานกว่า 1 ปีครึ่ง แต่คดีไม่คืบหน้า อีกทั้งยังมีผู้ถูกกล่าวหา พยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในชั้นอัยการ

โดยมีนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายสาธรกล่าวว่า คดีนี้เดิมพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 11 ราย แต่ตนพบว่า มีผู้ถูกกล่าวหา 1 คนพยายามแทรกแซง ทำให้ในชั้นพิจารณาของอัยการจังหวัดเพชรบุรี และอัยการสำนักงานคดีภาค 7 กลับมีความเห็นสั่งไม่สั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหารรายนั้น ต่อมาคดีถูกส่งมาถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2561 เพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดว่า จะมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหารายนั้นหรือไม่ แต่จนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งแล้ว แต่ทางอัยการสูงสุดก็ยังไม่มีความเห็น อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาคนดังกล่าว ยังโทรศัพท์ไปหา พล.ต.ต.สมเกียรติ แสงสินศร รอง ผบช.ภาค 7 ขอให้ช่วยเหลือ แต่ทางรอง ผบช.ภาค 7 ไม่ตอบสนองคำขอ ทำให้ตนเองรู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก จึงมาร้องขอความเป็นธรรม

Advertisement

ด้านนายโกศลวัฒน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่าสาเหตุที่คดีนี้ล่าช้า เนื่องจากต้องพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมจากทางผู้เสียหาย และผู้ถูกกล่าวหา และอัยการกับตำรวจมีความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ที่สำนักงานอัยการฝ่ายชี้ขาดคดี ซึ่งเอกสารสำนวนคดีมีเป็นปริมาณมาก โดยปกติกรอบระยะเวลาของคดีที่มีความซับซ้อนจะใช้ระยะเวลาประมาณปีกว่า ดังนั้นคดีนี้เป็นไปได้ว่าอาจจะใกล้มีความเห็นชี้ขาดแล้ว ยืนยันว่าอัยการจะไม่ปล่อยให้คดีหมดอายุความ

ส่วนกรณีที่นายสาธรกล่าวว่า มีผู้ถูกกล่าวว่า พยายามแทรกแซง กรณีนี้ยืนยันว่าการทำงานของอัยการสูงสุดทุกขั้นตอน มีการลงบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรสามารถตรวจสอบได้ โดยจะนำหนังสือคำร้องของนายสาธร มอบให้ผู้บัญชาการตรวจสอบรายละเอียดคำร้อง ส่วนจะมีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับอัยการที่มีส่วนในกระบวนการแทรกแซงหรือไม่นั้น ให้รอผลพิจารณาของผู้บัญชาการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนคดีแพ่งที่นายสาธร ยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 49.5 ล้านบาทกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของบุตรชายนั้น ล่าสุดศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ ให้ผู้ที่ถูกยื่นฟ้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเพิ่มจาก 2.7 ล้านบาทของศาลชั้นต้นเป็น 4.8 ล้านบาทในชั้นอุทธรณ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image