บึ้ม-เผาป่วนกรุง ลองของ ‘บิ๊กตู่’ คุมมั่นคง-เศรษฐกิจ

เหตุระทึกคนร้ายปูพรมวางระเบิดนับสิบจุดในหลายเขตของเมืองกรุง เมื่อวันศุกร์ปลายสัปดาห์ก่อน เริ่มมีสัญญาณความไม่ปกติตั้งแต่วันก่อนหน้าที่มีมือดีไปวางระเบิด 2 ลูก บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระราม 1 โชคดีเก็บกู้ได้

ต่อมาช่วงเช้ามืดวันที่ 2 สิงหาคม เกิดเหตุเพลิงไหม้ย่านประตูน้ำไล่เรียงกัน 3-4 จุด อย่างผิดปกติ

ตกสายทั้งเหตุวางเพลิงห้างสรรพาสินค้าชื่อดัง ระเบิดตูมตามและพบวัตถุต้องสงสัยกระจายในทั่วกรุงเทพฯ หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดต้องทำงานหนักตลอดทั้งวัน

มีเสียงพิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพการข่าวของหน่วยงานความมั่นคง

Advertisement

แต่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.รมน.) ก็ให้สัมภาษณ์ทำนองออกตัวถึงเหตุที่เกิดขึ้นว่า ฝ่ายความมั่นคงแจ้งเตือนมาระยะหนึ่งแล้ว ได้ประสานงานทั้ง กอ.รมน. เหล่าทัพ ตำรวจ และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ แต่ไม่คาดคิดว่าจะมาเกิดเหตุในช่วงนี้

“เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 1 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.รมน. ได้สั่งการหน่วยงานความมั่นคง โดยโทรศัพท์สายตรงไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้ดูแลสถานการณ์ เพราะกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ตามมา” พล.อ.อภิรัชต์ให้สัมภาษณ์หลังเกิดเหตุป่วน

ขณะเดียวกัน แม้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเป้าหมายของกลุ่มก่อเหตุ หวังผลอะไร ดูเหมือนข้อสังเกตของ พล.อ.อภิรัชต์กลับมีลักษณะคล้ายฟันธงว่าลักษณะเหตุการณ์รูปแบบการก่อเหตุคล้ายกับเหตุการณ์ในปี 2549 ที่เป็นกลุ่มคนเดิม แนวคิดเดิม และมาจากสำนักเดิม มีคนสั่งการคนเดิม แต่คนลงมืออาจเป็นคนหน้าใหม่ และนี่คือสิ่งบอกเหตุทางการเมือง

Advertisement

รวมไปถึงมีการตั้งข้อสังเกต เป็นเพราะอำนาจเด็ดขาดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดสิ้นลง ทำให้การก่อเหตุทำนองนี้เกิดง่ายขึ้น

หากว่ากันตามข้อเท็จจริงคงไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะเมื่อย้อนกลับสำรวจเหตุการณ์วางระเบิดช่วง 5 ปีของการรัฐประหาร ทั้งที่มีดาบอาญาสิทธิ์ คสช.ก็เกิดเหตุระเบิดหลายครั้งเช่นกัน และส่วนใหญ่จับคนร้ายไม่ได้

ย้อนไปดูเมื่อปี 2558

-1 กุมภาพันธ์ เกิดระเบิด 2 ครั้ง บริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยามเหนือแยกราชประสงค์ คนร้ายนำระเบิดไปป์บอมบ์ไปวางบริเวณประตูของจุดบริการด่วนมหานครสำนักงานเขตปทุมวัน มีผู้บาดเจ็บ 3 คน คาดว่าสาเหตุมาจากการเมือง

-7 มีนาคม คนร้าย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์ปาระเบิดอาร์จีดี 5 เข้าไปในบริเวณศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่เข้ายิงปะทะ สามารถจับกุมคนร้ายทั้งสองคนได้คือนายยุทธนา เย็นภิญโญ และนายมหาหิน ขุนทอง ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มเสื้อแดงที่มีการติดต่อพูดคุยกันในกลุ่มแอพพลิเคชั่นไลน์ จากการตรวจสอบการสนทนาในกลุ่มไลน์ พบว่ามีการวางแผนจะก่อเหตุสร้างสถานการณ์ครั้งใหญ่ในวันที่ 15 มีนาคม 2558 ในกรุงเทพมหานครอย่างน้อย 100 จุด

-17 สิงหาคม เกิดเหตุระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ที่ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่าเป็นระเบิดทีเอ็นทีหนัก 3 กิโลกรัม บรรจุอยู่ในท่อในบริเวณศาลท้าวมหาพรหม มีผู้บาดเจ็บกว่าร้อยคน เสียชีวิต 16 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว

ต่อมาตำรวจขอศาลอนุมัติหมายจับนายยงยุทธ พบแก้ว หรือ อ๊อด พยุงวงศ์ ซึ่งเคยเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่น อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เมื่อปี 2553 และเหตุระเบิดที่ซอยราษฎร์อุทิศ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ปี 2557 ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์อยู่ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง

-18 สิงหาคม เกิดระเบิดใกล้ท่าเรือสาทร ฝั่งพระนคร ระเบิดในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ระหว่างท่าสาทรและสถานีสะพานตากสิน คาดว่าต้องการโยนลงท่าเรือสาทรแต่พลาดตกลงแม่น้ำ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ข้ามไปปี 2559

-11 พฤษภาคม เกิดเหตุระเบิดบริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย มานั่งรอรถไฟเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด สอบสวนสาเหตุปรากฏว่าหนึ่งในผู้บาดเจ็บไปเก็บขวดยาแก้ไขมาเขี่ยบุหรี่ โดยภายในขวดบรรจุดินประสิวไว้ทำให้เกิดการระเบิด

ส่วนปี 2560

-5 เมษายน เกิดเหตุระเบิดบริเวณถังขยะหน้ากองสลากเก่า ถนนราชดำเนินกลาง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน หนึ่งในนั้นเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด กทม. ขณะกวาดทำความสะอาดบริเวณตู้ไปรษณีย์บนบาทวิถีแล้วเกิดเหตุระเบิดขึ้น ไม่มีความคืบหน้าในการติดตามตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

-15 พฤษภาคม เกิดเหตุระเบิดบริเวณใกล้ป้ายรถเมล์หน้าโรงละครแห่งชาติ สนามหลวง มีผู้บาดเจ็บ 2 คน เบื้องต้นพบว่าระเบิดถูกซ่อนไว้ในถังขยะหน้าโรงละครแห่งชาติ เป็นระเบิดไปป์บอมบ์ตั้งเวลาด้วยไอซี ไทเมอร์ ชนิดเดียวกับที่ต่อมาเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่บริเวณชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

22 พฤษภาคม 2560 วันครบรอบ 3 ปีการทำรัฐประหารของ คสช. เกิดเหตุระเบิดหน้าห้องวงษ์สุวรรณ โรงพยาบาลพระมงกุฎ มีทหารและพลเรือนบาดเจ็บรวม 21 คน

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม นายวัฒนา หรือตุ่ม ภุมเรศ อายุ 62 ปี อดีตวิศวกรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมหลักฐานอุปกรณ์ประกอบวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง โดยนายวัฒนาให้การรับสารภาพมีเหตุจูงใจจากการเมือง คดีขึ้นสู่ศาลถูกพิพากษาจำคุกรวม 111 ปี 6 เดือน

กลับมาล่าสุดจากเหตุลอบเผาและวางระเบิดหลายจุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม อาจสร้างทำลายล้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินไม่รุนแรงนัก เมื่อเทียบเหตุที่เกิดขึ้นกระจายในหลายพื้นที่ แต่อานุภาพของแรงระเบิดกลับขยายไปถึงภาพลักษณ์ประเทศกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมต่อภาคเศรษฐกิจ กระทบความเชื่อมั่นการลงทุน ด้านการท่องเที่ยวที่ถือเป็นรายได้หลักเข้าประเทศ

ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่งลงทันทีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 5 สิงหาคม ที่เริ่มเปิดวันแรกของสัปดาห์

ดัชนีตลาดหุ้นยังติดลบต่อเนื่อง

อาจถือเป็นการ “ลองของ” กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำกับดูแลทั้งด้านความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึงยังดูแลด้านเศรษฐกิจด้วย ในฐานะประธานหัวโต๊ะ “ครม.เศรษฐกิจ” ที่ปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่

ผลการ “ลองของ” ครั้งนี้ จะได้ผลแค่ไหน… “บิ๊กตู่” จะเอาอยู่หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image