‘เรืองไกร’ ร้อง อสส.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ชวน’ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ปมเสนอชื่อนายกฯ

“เรืองไกร” ร้อง อสส.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ชวน” ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 6/2559 เรื่องการเสนอชื่อนายกฯต้องทำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แล้วจึงมาโหวตในที่ประชุมรัฐสภา

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 13 สิงหาคม ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เดินทางมายื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด โดยมีนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้รับหนังสือ เพื่อขอให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าการที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วน กรณีให้ความเห็นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งก่อนหน้านี้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2559 ระบุไว้ชัดเจน ว่าการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญได้มีการแบ่งขั้นตอนของการเสนอชื่อและการให้ความเห็นชอบออกจากกัน คือขั้นตอนการเสนอชื่อต้องทำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และขั้นตอนการให้ความเห็นชอบต้องทำในที่ประชุมรัฐสภา เรื่องนี้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวางบรรทัดฐานไว้แล้วไม่น่าจะมีการทำผิดพลาดขึ้นมาได้

นายเรืองไกรกล่าวว่า แต่ก็มีเหตุขึ้นมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นายชวน ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องดำเนินการให้มีการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อน แต่นายชวนไม่ทำทั้งที่มีการทักท้วงแล้ว และมีการรวบขั้นตอนไปทำในที่ประชุมรัฐสภา เหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 มีหลักฐาน 2 ชิ้น คือบันทึกการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และบันทึกการประชุมรัฐสภาที่ระบุชัดเจน ในวันนี้ที่นำมาร้องเป็นคำร้องที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรองรับ  ซึ่งเท่ากับว่านายชวนทำความผิดสำเร็จแล้วใช่หรือไม่

Advertisement

นายเรืองไกรกล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2559 เกิดจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการเขียนมาตรา 272 ถูกต้องตามผลประชามติและการได้รับความเห็นชอบตามคำถามพ่วงหรือไม่ ซึ่งฉบับดั้งเดิมตามมาตรา 272 มีวรรคเดียว ทางกรรมาธิการจึงจำเป็นต้องเสนอตามบทบังคับที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ซึ่งมีคนโต้แย้งว่าตนอ่านรัฐธรรมนูญไม่เข้าใจก็ขอให้กลับไปอ่านใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้ 17 หน้า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้แล้วให้ 3 หน่วยงานเสนอความเห็นคือ สนช. สภาปฏิรูป และ ครม. แต่มีเพียง สนช.ที่เสนอ และในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดว่าการเสนอชื่อตามมาตรา 159 วรรคหนึ่งและวรรคสองให้ทำในสภา และเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญก็มาแก้ในวรรคสองว่า แต่เดิมกรรมาธิการเขียนไปเหมือนให้สภาผู้แทนฯเป็นผู้เสนอ กรณีที่ไม่สามารถหาบุคคลตามมาตรา 88 ได้ ก็แก้ให้เป็นที่ประชุมรัฐสภา ด้วยเหตุผลนี้ที่มาตรา 272 จึงมี 2 วรรค ทั้งนี้ ขั้นตอนการเลือกตามมาตรา 272 จึงให้เป็นตามมาตรา 159 เว้นแต่มาตรา 159 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ซึ่งวรรคหนึ่งเขียนว่าให้ทำความเห็นในที่ประชุมรัฐสภา ส่วนวรรคสามให้มีความเห็นเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา แสดงว่าวรรคสองยังต้องดำเนินการอยู่ แล้วเหตุใดนายชวนจึงเอาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปเสนอชื่อในที่ประชุมรัฐสภา

“ท่านอยู่มากี่ปีและท่านเล่นการเมืองมาตั้งนาน ท่านบอกว่าท่านสามารถทำอาชีพอื่นก็ได้ ที่ผ่านมาท่านเป็นนายกฯ และประธานสภามาแล้ว ขอให้ท่านอ่านกฎหมายให้ดี ด้วยความเคารพ เราต้องโต้แย้งกันด้วยเหตุผล ซึ่งการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าใจ   ว่าขั้นตอนการเสนอชื่อต้องเสนอในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่” นายเรืองไกรกล่าว

นายเรืองไกรยังเชื่อว่าสมาชิกฝ่ายค้านจะตามเรื่องนี้ผ่านญัตติและกระทู้ถามต่อไป ซึ่งในวันที่ 5 มิถุนายน ก็มีสมาชิกได้ทักท้วงและทำเป็นญัตติแล้ว ซึ่งถ้ายังดำเนินการมีมติอะไรต่อไปก็ยิ่งพันกันยุ่งไปใหญ่ ดังนั้นเห็นว่าท่านควรพิจารณาตนเองและ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องรีบดำเนินการแก้ไข เพราะท่านก็ต้องรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชนและ ครม.ด้วย ถ้าข้อเท็จจริงตามที่ตนได้ส่งต่ออัยการสูงสุดครบถ้วนตามนี้ก็ขอให้ท่านไปดูรายงานการประชุมของสภา แล้วก็ขอให้ทบทวนเสียด้วย” นายเรืองไกรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image