ศาลถอนประกาศกสทช.ให้กสท.-เอไอเอสนำรายได้หลังสิ้นสัมปทานเป็นรายได้แผ่นดิน

ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนประกาศกทสช.เรื่องให้ กสท. และ เอไอเอส นำส่งเงินรายได้จากการให้บริการหลังสิ้นสุดสัมปทาน เป็นรายได้แผ่นดิน ชี้เป็นประกาศที่ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์

เมื่อวันที่ 11 กันยายน ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ฉบับที่2) ลงวันที่ 17 ก.ย.2558 ข้อ4 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้เงินรายได้จากการให้บริการที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราของส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ให้บริการเคยนำส่งภายใต้สัญญาสัมปทาน ณ วันสุดท้าย ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ทั้งนี้ ให้มีผลนับแต่วันที่ 21 ก.ย.2558 ที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้

คดีนี้ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)  ยื่นฟ้อง กทสช.ต่อศาลปกครองกลาง ว่า กทสช.ออกประกาศ  เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคาวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ฉบับที่2) ลงวันที่ 17 ก.ย.2558 ข้อ4 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้เงินรายได้จากการให้บริการที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละของส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ให้บริการเคยนำส่งภายใต้สัญญาสัมปทาน ณ วันสุดท้าย ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ใช้อำนาจเกินกว่ากฎหมายกำหนด เนื่องจากพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 มิได้บัญญัติให้อำนาจกสทช.ในการหารายได้เข้ารัฐแต่อย่างใด

โดยศาลพิจารณาพิพากษาเพิกถอนประกาศ โดยเห็นว่า การกำหนดเงินขั้นต่ำที่จะต้องนำส่ง เป็นรายได้แผ่นดินตามประกาศที่พิพาทเป็นการกำหนดกรอบรายได้ขั้นต่ำแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ได้คำนึงถึงรายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละรอบเดือน ย่อมเป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่ผู้ให้บริการ  ประกอบกับการให้บริการในช่วงระยะเวลาคุ้มครองเป็นการให้บริการชั่วคราวในระหว่างสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทาน เพื่อให้ผู้ใช้บริการใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่มุ่งแสวงหากำไร ดังนั้นการที่ กสทช. กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องนำส่งรายได้ขั้นต่ำโดยใช้หลักเกณฑ์ตามสัญญาสัมปทานเดิม ทั้งที่ข้อเท็จจริงในการให้บริการเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ในการตรวจสอบรายได้จากการประกอบกิจการในช่วงระยะเวลาคุ้มครองได้กำหนดให้มีคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง อัยการสูงสุด  ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้แทนกระทรวงไอซีที ทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดทำรายงานรายได้จากการให้บริการของผู้ให้บริการอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นกลไกควบคุมตรวจสอบความชอบของรายงาน รายได้ของผู้ให้บริการไว้อย่างชัดเจนเพียงพอแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดจำนวนเงินรายได้ขั้นต่ำที่ผู้ให้บริการต้องนำส่ง เป็นรายได้รัฐ แต่อย่างใด เมื่อมาตรการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับรายได้ และรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละรอบการประกอบการ จึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการออกประกาศดังกล่าว และไม่เป็นธรรม จึงพิพากษาให้เพิกถอน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image