ฮิต!ฟ้องหมอ ทำแหยงไม่กล้ารักษาคนไข้ กระทบระบบสาธารณสุข อุปนายกแพทยสภาชงตั้งศาลคดีแพทย์เฉพาะ

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 9 มิถุนายน ที่ห้องประชุมสัญญาธรรมศักดิ์ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก สถาบันวิจัยและพัฒนาพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม จัดสัมมนาเรื่อง ผ่าตัดคดีแพทย์ สิทธิแพทย์ สิทธิผู้ป่วย มีเจ้าหน้าที่แพทยสภา ผู้พิพากษา อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก
นายศิริชัย วัฒนะโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายความรับผิดทางการแพทย์สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะสร้างความเข้าใจหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองสิทธิทุกฝ่าย รวมทั้งระดมความคิด ข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอันจะก่อให้เกิดการพัฒนาหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวข้องกับความรับผิดของแพทย์ในประเทศไทยให้เหมาะสม

ต่อมาได้มีการอภิปรายเรื่องผ่าตัดคดีแพทย์ สิทธิแพทย์ สิทธิผู้ป่วย โดยศ.คลินิกเกียรติ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 แพทยสภา กรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันการฟ้องร้องทางการแพทย์ได้ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วย แพทย์ สังคม เศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุขของประเทศ อาทิ นักเรียนที่เรียนเก่งสมัครเข้าเรียนแพทย์น้อยลง แพทย์เลิกประกอบวิชาชีพหรือเปลี่ยนแปลงอาชีพ แพทย์ขาดความกล้าตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤต แพทย์รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีป้องกันตนเอง ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นมาก สาเหตุเหล่านี้เกิดจากสาเหตุที่แพทย์กลัวโดนฟ้องเป็นผู้ต้องหาในคดี ดังนั้นจึงอยากขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 1.ให้เน้นคุณธรรมและจริยธรรมให้เข้มข้นตั้งแต่เริ่มเรียนแพทย์ซึ่งแพทยสภาได้ร่วมกับนิสิตนักศึกษาแพทย์ทุกสถาบันร่างจรรยาบรรณนิสิตนักศึกษาแพทย์ขึ้น โดยลงนามและให้สัตยาบันไปแล้วในปี 2535 และให้ครูแพทย์สอดแทรกจริยธรรมร่วมไปกับการเรียนการสอนด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง 2.สร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ให้กลับคืนมาเหมือนในอดีต

3.แก้ไขกฎหมายโดยการเสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ…โดยให้การฟ้องร้องทางการแพทย์ไม่เป็นคดีผู้บริโภค เนื่องจากคดีผู้บริโภคหมายความว่า คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่นกับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ แต่ทั้งนี้มิให้หมายความรวมถึงการบริบาลทางการแพทย์ รวมถึงเสนอให้แก้ไขร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ครอบคลุมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาลในทุกระบบและขยายเพดานเงินช่วยเหลือจาก 4 แสนบาทเป็น 2 ล้านบาท และเสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.ความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบการวิชาเวชกรรม พ.ศ…ให้แพทย์ต้องรับผิดทางอาญาในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเฉพาะในกรณีที่กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น 4.เสนอแนวทางกระบวนการพิจารณาคดีในศาลโดยขอให้ศาลเป็นผู้เรียกพยานผู้เชียวชาญเฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้นๆ มาเบิกความในทุกคดีทางการแพทย์โดยให้น้ำหนักพยานมากกว่าพยานที่โจทก์และจำเลยนำมาหรือขอให้มีหมายเรียก และ 5.เสนอจัดตั้งศาลคดีทางการแพทย์ขึ้นเพื่อพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับทางการแพทย์โดยเฉพาะ

พ.อ.นพ.สุทธิจิต สีนานนท์ ศัลยแพทย์ที่ปรึกษา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่าแพทย์ทำงานหนักภายใต้ความกดดัน เนื่องจากกำลังคนน้อยไม่พอเพียงและจากการขาดงบประมาณ จึงทำให้สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย อยากให้ทุกคนมองว่าในเมื่อกำลังคนของแพทย์น้อยลงแล้ว และเมื่อแพทย์คนหนึ่งต้องคดี ไม่ว่าจะแพ้ชนะแพทย์ส่วนใหญ่จะเลิกให้บริการ เลิกอาชีพไปเลย ทำให้สังคมสูญเสียแพทย์เพิ่มไปอีก 1 คน จึงอยากพูดในประเด็นที่ว่าอนาคตของวงการแพทย์ไทยจะเป็นอย่างไรกับการฟ้องร้องทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น

Advertisement

“จึงตั้งคำถามที่ว่า “คนที่มาเรียนหมอโง่หรือเปล่า” ซึ่งระดับมันสมองหมอเป็นชั้นต้นๆ ของประเทศในสมัยก่อน ส่วนผมนั้นมองว่า คุณหมอโง่ เนื่องจากวิชาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เรียนรู้ไม่รู้จักจบสิ้น และหมอสนใจในเรื่องของวิชาการจึงทำให้ความรู้รอบตัวในเรื่องต่างๆ ต่ำลงไปด้วย ทำให้แพทย์รู้แค่เรื่องวิชาการ และแพทย์มักจะถูกปลูกฝังและสอนให้มุ่งมั่นอยู่ในจริยธรรม ซึ่งมักทำให้ถูกคนในสังคมอื่นรังแก และส่วนมากแพทย์จบใหม่มักจะถูกสอนให้คิดตามหลักการพิจารณาของแพทย์ คือคิดเป็นระบบและคิดตามหลักฐานทางการแพทย์ ซึ่งนี้จะเป็นแนวคิดหลักของแพทย์ที่นำมาใช้ในการวินิจฉัยผู้ป่วย” พ.อ.นพ.สุทธิจิตกล่าว

พ.อ.นพ.สุทธิจิต กล่าวต่อว่าปัจจุบันการผลิตและฝึกอบรมแพทย์ จะมุ่งเน้นที่บุคลากรแพทย์หนึ่งคนสามารถรักษาโรคได้หลากหลายเพื่อตอบปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และปัจจัยอีกอย่างที่ทำให้แพทย์ไม่กล้ารักษาคนป่วยเนื่องจากแพทย์กลัวถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้แพทย์ไม่กล้าทำงาน และสำคัญจะส่งผลให้คนเก่งเรียนแพทย์ลดลงมาก ต่อไปจะทำให้สถาบันต่างๆ ที่รับนักศึกษาแพทย์มีเพิ่มมากขึ้น เข้าง่ายขึ้นกว่าเดิม และทำให้วงการแพทย์มีไอคิว (IQ) เฉลี่ยที่ต่ำลงซึ่งจะทำให้มีผลรกระทบต่อปัญหาสาธารณสุขมายิ่งขึ้น

ศ.เกียรติคุณ นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษากฎหมายสุขภาพและจริยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า คดีที่ฟ้องร้องกันระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ผู้รักษาเกิดขึ้นจากสาเหตุความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน จึงทำให้เกิดการฟ้องร้องกันขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบวิชาชีพควรมีจริยธรรมแห่งวิชาชีพ พูดง่ายๆต้องอาศัยหลักของพระพุทธศาสนา คือหลัก พรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งแพทย์เข้าใจระบบมีเมตตาหรือกรุณาอย่างเดียวไม่ได้ จึงต้องมีครบทั้ง 4 อย่าง นอกจากนี้แพทย์ยังต้องเป็นผู้ที่ให้ความยุติธรรมแก่ผู้ป่วย ต้องปราศจากอคติทั้งหลาย คือ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ โมหาคติ คือจะต้องอยู่ในความเป็นกลางหรือทางแพทย์คือไม่เลือกปฏิบัติแก่ผู้ป่วย เท่านี้ก็เป็นจริยธรรมของแพทย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจภาพพจน์ของวิชาชีพในลักษณะแบบนี้ปัญหาการฟ้องจะเกิดน้อยลง เพราะความสำคัญของผู้ป่วยและผู้ประกอบวิชาชีพก็จะดีทั้ง 2 ฝ่าย ฉะนั้นแพทย์ควรรับฟังผู้ป่วยให้มาก และผู้ป่วยก็ต้องอธิบายให้แพทย์เข้าใจ และถ้าความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยดีก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น และเมื่อพูดถึงหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อผู้ป่วย หน้าที่หลักจะต้องให้การวินิจฉัยโรคแก่ผู้ป่วย ให้การศึกษาแก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่องโรคที่เขาเป็น และเมื่อรักษาหายหรือไม่หาย ควรจะมีคำปรึกษาให้แก่ผู้ป่วยว่าปฏิบัติอย่างไร โดยคำนึงถึงความเป็นไปในชีวิตจริงของผู้ป่วยด้วย พร้อมทั้งแนะนำการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันให้แก่ผู้ป่วย แพทย์ควรเข้าใจความเจ็บป่วยในบริบทของผู้ป่วย ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ช่วยผู้ป่วยหากลยุทธที่จะอยู่กับการเจ็บป่วย และต้องแนะนำผู้ป่วยให้เข้าใจความเป็นไปของโรคที่เขาเป็น ที่สำคัญแพทย์ต้องพยายามให้ผู้ป่วยลดความกังวลในใจ

Advertisement

นายนพพร โพธิรังสิยากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กล่าวว่าปัญหาในการร้องเรียนและฟ้องร้องแพทย์มีสาเหตุจากการบริการสาธารณสุข มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจำนวนการร้องเรียนและความรุนแรงของข้อหาจากการฟ้องร้องข้อพิพาทในคดีแพ่งนำไปสู่คดีอาญานั้นที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สาเหตุที่ทำให้แพทย์ถูกฟ้องมาขึ้นเนื่องจากการประกอบวิชาชีพมีจำนวนมากกว่าสายอาชีพอื่น และมาจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของกฎหมายทุรเวชปฏิบัติ รวมทั้งความคาดหวังที่สูงของประชาชนที่มีต่อองค์กรวิชาชีพแพทย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image