อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง “อนุดิษฐ์-จิรายุ” กรณีหมิ่น “กรณ์-ภรรยา” ใช้อภิสิทธิ์อัพเกรดบินไทย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 มิถุนายน ที่ห้องพิจารณาคดี 905 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางวรกร จาติกวณิช ภรรยานายกร มอบอำนาจให้นายวัฒนา งอกขาว ทนายความ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพรรคเพื่อไทย, นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 และขอให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ด้วย รวม 100 ล้านบาท

ตามฟ้องโจทก์ บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 26-27 ธันวาคม 2552 ที่ทำการพรรคเพื่อไทย น.อ.อนุดิษฐ์ และนายจิรายุ จำเลยที่ 3-4 กับพวก ได้แจกเอกสารแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองและครอบครัวว่า ได้รับการร้องเรียนจากพนักงานการบินไทยและผู้ถือหุ้นว่าโจทก์อาจมีการใช้อภิสิทธิ์ให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำการอัพเกรดบัตรโดยสารในการเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลได้ยกฟ้องพรรคเพื่อไทย และนายยงยุทธ อดีตหัวหน้าพรรค จำเลยที่ 1-2 และรับฟ้องไว้เฉพาะ น.อ.อนุดิษฐ์ และนายจิรายุ จำเลยที่ 3-4
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ยกฟ้องจำเลยที่ 3-4 ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว เห็นว่าโจทก์จ่ายค่าบัตรโดยสารในราคาขั้นต่ำ แต่ได้อัพเกรดบัตรโดยสารในขั้นที่สูงขึ้น ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ตรวจสอบข้อมูลก่อนแถลง เนื่องจากโจทก์เป็นลูกค้าชั้นดีจึงได้รับสิทธิในการเลื่อนชั้นบัตรโดยสาร แต่กรณีบุตรของโจทก์ซึ่งเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็สงสัยว่าเป็นลูกค้าชั้นดีด้วยหรือไม่ อีกทั้งพนักงาน บมจ.การบินไทยก็เบิกความว่า การเลื่อนชั้นบัตรโดยสารมีหลักเกณฑ์ซึ่งผู้บริหารที่มีอำนาจสามารถเซ็นอนุมัติได้ นอกจากนั้น การเลื่อนชั้นบัตรโดยสารยังมีกรณีพิเศษ ซึ่งบางรายการระบุเหตุผล บางรายการก็ไม่ได้ระบุเหตุผล ขณะที่บางรายการก็ระบุด้วยวาจา

ศาลเห็นว่า แม้การเลื่อนชั้นบัตรโดยสารจะมีหลักเกณฑ์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเซ็นอนุมัติ โดยโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าได้มีการเลื่อนชั้นบัตรโดยสารจริง แต่ไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์ ขณะที่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ อีกทั้งนายกรณ์ โจทก์ที่ 1 เป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมอยู่ในวิสัยปกติของประชาชนที่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถกระทำได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image