เลขาฯศาลยุติธรรมลงนามคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล สนับสนุนบริการด้านสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ห้องประชุมใหญ่สำนักงานศาลยุติธรรมชั้น 12 อาคารศาลอาญา นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมและ ร.ศ.ประยุทธ ศิริวงษ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขระ หว่างสำนักงานศาลยุติธรรมและคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบริการด้านสาธารณสุข และการจัดหาโลหิตให้เพียงพอต่อความต้องการในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย

นายสราวุธ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลวชิรพยาบาลเป็นเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับตติยภูมิ รับตรวจรักษาโรคทั่วไป และโรคที่สลับซับซ้อน ทั้งมีประชาชนมาใช้บริการในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีโลหิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในการให้บริการผู้ป่วย และบ่อยครั้งที่ธนาคารเลือดไม่สามารถจัดหาโลหิตมาสำรองไว้ได้อย่างเพียงพอ ทำให้ต้องจัดหาโลหิตแก่ผู้ป่วยที่ต้องการโดยเร่งด่วน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตร่างกายและอนามัยของผู้ป่วย โดยที่ผ่านมาสำนักงานศาลยุติธรรมได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลจัดโครงการบริจาคโลหิตมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พนักงานราชการ และลูกจ้างในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมมีจิตอาสาทำความดี ซึ่งการบริจาคโลหิตเพียง 1 ครั้ง สามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างน้อยถึง 3 คน สำนักงานศาลยุติธรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาลมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดทำบันทึกความร่วมมือด้านสาธารณสุขดังกล่าวขึ้น โดยกำหนดให้มีการรับบริจาคโลหิต ณ สำนักงานศาลยุติธรรมจำนวน 4 ครั้งต่อปี (3 เดือนต่อครั้ง) ทั้งนี้หากมีความจำเป็นเร่งด่วน ก็จะขอความร่วมมือรับบริจาคโลหิตเป็นกรณีพิเศษเป็นครั้งๆไป โดยโครงการดังกล่าวนี้จะดำเนินการต่อเนื่องไปเป็นเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันลงนามบันทึกความร่วมมือนี้

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสองหน่วยงานและประชาชนทั่วไป โดยที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลจะสนับสนุนบริการด้านการสาธารณสุข และเป็นเครือข่ายด้านการแพทย์ ให้แก่สำนักการแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อให้การบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการตรวจรักษาโรคที่สลับซับซ้อนหรือต้องการความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะต้องการเครื่องมือตรวจพิเศษ หรือวิธีการรักษาที่สำนักการแพทย์ยังไม่มี หรือขาดทักษะและความชำนาญที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อประโยชน์ในการป้องกันรักษาบำบัดและฟื้นฟู การเจ็บป่วยของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและประชาชนทั่วไป ในขณะที่สำนักงานศาลยุติธรรมก็จะช่วยสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ในการเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติของบุคลากรนักศึกษา เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ความสามารถในการให้บริการ หรือการผลิตบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลต่อไป.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image