“ทนายวิญญัติ” ชี้ให้ประกันตัววันหยุดผ่อนคลายจำกัดสิทธิเสรีภาพ แนะใช้ข้อบังคับปธ.ศาลฎีกาด้วย

นายวิญญัติ ชาติมนตรี

“ทนายวิญญัติ” ชี้ให้ประกันตัววันหยุดผ่อนคลายจำกัดสิทธิเสรีภาพ แนะใช้ข้อบังคับปธ.ศาลฎีกา เรื่องหลักเกณฑ์ประกันตัวในชั้นตำรวจ-อัยการด้วย เตือนรัฐตระหนักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่าใช้คดีอาญาเป็นเครื่องมือ

วันที่ 22 ต.ค. นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความสิทธิมนุษยชนและเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) กล่าวถึงกรณีที่นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา มีดำริให้ศาลพิจารณาประกันตัวในวันหยุด ว่า การพิจารณาปล่อยชั่วคราวในวันหยุดราชการ อาจเป็นมาตรการผ่อนคลายการจำกัดสิทธิเสรีภาพให้ดีขึ้นก็ได้ แต่การขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญานั้น พูดตามตรงว่าเป็นภาระกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา เพราะการดำเนินคดีในบ้านเรา เป็นระบบกล่าวหา ที่เน้นระบบการควบคุมอาชญากรรมโดยให้อำนาจอย่างกว้างแก่เจ้าพนักงานของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายและมุ่งที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ จึงส่งผลให้รัฐต้องควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้เพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนีไปก่อภยันตรายแก่สังคม อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ถูกควบคุมหรือคุมขัง

นายวิญญัติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้โดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็นต้องมีหลักประกันให้วงเงินไม่เกิน 200,000 บาท เว้นแต่มีเหตุสมควรที่จะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ให้ระบุเหตุนั้นไว้โดยชัดแจ้ง ตนเห็นว่า หากสามารถนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ในชั้นสอบสวนของตำรวจหรืออัยการได้ด้วยจะดีมาก

“แม้ตามหลักการสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ จะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดก็ตาม แต่ก่อนจะมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ต้องผ่านกระบวนการทางคดีอาญาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ กระทั่งมาถึงชั้นศาล ซึ่งมีระยะเวลาพอสมควรถึงยาวนานในบางคดี ดังนั้น เส้นทางในระหว่างเริ่มต้นกว่าคดีจะถึงที่สุดก็ต้องได้รับโอกาสในการปล่อยชั่วคราว โดยต้องถือหลักพึงมีสิทธิที่จะได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก การจะไม่อนุญาตเป็นข้อยกเว้น แต่ในทางปฏิบัติกลับมีปัญหาหลายประการที่ศาลใช้ดุลพินิจตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 108, 108/1 และ 109 เป็นการจำกัดสิทธิอยู่ดี แต่หากปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขอนุญาตไว้สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และไม่เป็นการเพิ่มจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำอีกด้วย” นายวิญญัติ กล่าว

Advertisement

นายวิญญัติ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ทุกฝ่ายหากเข้าใจถึงหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับ และที่สำคัญหากลดปัญหาของการเลือกปฏิบัติหรือความไม่เสมอภาคลงได้ โดยรัฐต้องตระหนักให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มากกว่าการดำเนินนโยบายป้องกันและปราบปรามของรัฐ เพราะในระยะหลังเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง จึงมักใช้อำนาจในการดำเนินคดีอาญาเป็นเครื่องมือหนึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม จึงต้องช่วยกันสร้างสมดุลระหว่างความยุติธรรมในการปล่อยชั่วคราวกับการดำเนินคดีอาญา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image