อัยการธนกฤตชี้ปม ‘กระทงละเมิดลิขสิทธิ์’ ยกกฎหมายระหว่าง ‘ล่อซื้อ’ กับ ‘ล่อให้กระทำผิด’

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล

อัยการธนกฤต ชี้ ข้อกฎหมายประเด็นกระทงหลงทางยกข้อแตกต่างระหว่างการล่อซื้อกับการล่อให้กระทำความผิด เผย หากเป็นล่อให้กระทำความผิดถือเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกเงินเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์ เว้น น้องอ้อมขายกระทงละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ก่อนและตัวแทนลิขสิทธิ์ได้รับมอบอำนาจโดยชอบ

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์เฟซบุ๊คให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณีน้องอ้อม เด็กหญิงวัย 15 ปี ถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์จากการทำกระทงติดภาพตัวการ์ตูนขาย มีข้อความว่า ประเด็นร้อนกระทงละเมิดลิขสิทธิ์หรือจะเป็นกระทงหลงทาง ข้อแตกต่างระหว่างการล่อซื้อกับการล่อให้กระทำความผิด

กรณีน้องอ้อม เด็กหญิงวัย 15 ปี ถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์จากการทำกระทงติดลายการ์ตูนขาย โดยบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพการ์ตูนเป็นผู้สั่งซื้อกระทงและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมน้องอ้อม และต่อมาบุคคลดังกล่าวได้เจรจาต่อรองให้น้องอ้อมจ่ายค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาท เพื่อจะได้ถอนแจ้งความและน้องอ้อมไม่ต้องถูกดำเนินคดีนั้น ว่า คดีนี้มีความจำเป็นต้องแยกข้อแตกต่างระหว่างการล่อซื้อกับการล่อให้กระทำความผิด

โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้เคยมีหนังสือเวียนที่ อส 0007(ปผ)/ว154 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2557 เรื่อง แนวทางการพิจารณาข้อแตกต่างของการล่อซื้อกับการล่อให้กระทำความผิด มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

Advertisement

การล่อซื้อ เป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยผู้กระทำผิดมีพฤติการณ์และเจตนากระทำความผิดมาแต่เดิมอยู่ก่อนแล้ว การส่งสายลับไปล่อซื้อและจับกุมจำเลยมาดำเนินคดี จึงเป็นเพียงวิธีพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่ใช่เป็นการก่อให้จำเลยกระทำความผิด พยานหลักฐานที่ได้มาจึงชอบด้วยกฎหมาย รับฟังลงโทษจำเลยได้ และผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องคดีได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2562, 412/2545)

ส่วนการล่อให้กระทำความผิด เป็นการล่อให้บุคคลที่ไม่มีเจตนากระทำความผิดมาแต่แรกให้ลงมือกระทำความผิดตามที่ถูกล่อ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยผู้นั้นไม่ได้มีเจตนากระทำผิดมาก่อน ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้ และพยานหลักฐานที่ได้มาจึงเป็นพยานหลักฐาน ที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2543, 4077/2549, 9600/2554)

กรณีของน้องอ้อมนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่น้องอ้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตนเองเพิ่งมาทำกระทงขายช่วงนี้เพราะใกล้เทศกาลลอยกระทง และไม่เคยทำกระทงลายการ์ตูนที่เป็นลายลิขสิทธิ์ขายมาก่อน เพิ่งมาทำเป็นครั้งแรกหลังจากมีผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ลายการ์ตูนสั่งซื้อและสั่งให้ทำเฉพาะเจาะจงลายการ์ตูนที่มีลิขสิทธิ์ ก็ย่อมถือว่าน้องอ้อมไม่ได้มีพฤติการณ์และเจตนาในการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ลายการ์ตูนนี้มาตั้งแต่แรก แต่เป็นการทำกระทงลายการ์ตูนลิขสิทธิ์ตามที่มีผู้สั่งซื้อและจ้างให้ทำ และจึงถือว่ากรณีนี้เป็นการสั่งซื้อที่เป็นการล่อให้กระทำความผิด โดยน้องอ้อมไม่ได้มีเจตนาในการกระทำความผิดมาแต่แรก จึงเป็นการสั่งซื้อที่เป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด เป็นกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับน้องอ้อมได้ และพยานหลักฐานที่ได้มาในคดีนี้จึงเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ได้

Advertisement

นอกจากนี้ ตามที่ปรากฏข่าวว่าบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ได้เรียกร้องให้น้องอ้อมจ่ายค่าเสียหายจำนวน 5 หมื่นบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนแจ้งความ และได้มีการเจรจาต่อรองเหลือ 5 พันบาทนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการล่อให้กระทำความผิดโดยน้องอ้อมไม่ได้มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์มาตั้งแต่แรกแล้ว การเรียกร้องค่าเสียหายจึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นการขู่เข็ญให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อเสรีภาพ และถือว่าเป็นการข่มขืนใจให้ยอมมอบเงินค่าเสียหาย อันเป็นการยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน บุคคลที่เรียกร้องค่าเสียหายจึงอาจมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15718/2553) นอกจากนี้ ยังอาจมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วย

อย่างไรก็ตาม หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีนี้ได้มีการขายกระทงลายการ์ตูนลิขสิทธิ์มาอยู่ก่อนแล้ว ในกรณีนี้จะถือเป็นการล่อซื้อ เนื่องจากมีพฤติการณ์และเจตนาในการกระทำความผิดมาก่อนแล้ว บุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์หากได้รับมอบอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ย่อมมีอำนาจในการร้องทุกข์ดำเนินคดีได้ และพยานหลักฐานที่ได้มาก็สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดในคดีนี้ได้ และบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์หากได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีโดยชอบด้วยกฎหมายก็ย่อมมีสิทธิจะเรียกร้องค่าเสียหายและเจรจาต่อรองค่าเสียหายที่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมได้ โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายในการเรียกร้องและเจรจาค่าเสียหาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2510) แต่ถึงแม้จะเป็นการดำเนินคดีโดยชอบและถูกต้องตามกฎหมาย แต่จะสมควรหรือไม่ที่จะดำเนินคดีกับน้องอ้อมเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรต้องมาพิจารณาดู เพราะน้องอ้อมซึ่งเป็นเด็กอายุ 15 ปี ทำกระทงขายด้วยตั้งใจจะหาเงินมาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ ไม่ได้ทำขายมากมายใหญ่โต ไม่ได้มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์แต่ทำไปเพราะไม่รู้กฎหมาย และไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรง การว่ากล่าวตักเตือนเพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมมากกว่าการจับกุมเด็กมาดำเนินคดีตามกฎหมายและยังแถมซ้ำด้วยการเรียกร้องค่าเสียหายจากเด็กและครอบครัวซึ่งก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอีก

เรื่องน้องอ้อมนี้คงพอจะเป็นอุทาหรณ์และความรู้ข้อกฎหมายและข้อควรระวังในการดำเนินชีวิตที่ต้องติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้คนในสังคมได้บ้าง และน่าจะพอเป็นแนวทางให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีลักษณะเดียวกันโดยไม่เป็นธรรมได้ไว้ใช้ในการต่อสู้ปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเองได้พอสมควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image