อัยการซัดคดีกระทงละเมิดลิขสิทธิ์อย่าใช้กฎหมายรังเเกกัน ส่วนกรณีขังเด็กอายุ 16 หนึ่งคืน ชอบกฎหมายหรือไม่

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

อัยการซัดคดีกระทงละเมิดลิขสิทธิ์อย่าใช้กฎหมายรังเเกกัน ตั้งข้อสังเกตกรณีรวมถึงคดีขังเด็กอายุ 16 หนึ่งคืน ชอบด้วยกฎหมายเด็กหรือไม่ กรรมการเนติฯชี้หากพบ’ร่วมตีกิน’ ผิดม.157

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยงค์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยเรื่องการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือเวียนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เรื่องแนวทางการพิจารณาการล่อซื้อกับการล่อให้กระทำความผิด ซึ่งหนังสือเวียนดังกล่าวจะมีคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อให้พนักงานอัยการระมัดระวังในการสั่งคดี ปัญหาคือ ถ้าคดีไม่มาถึงอัยการ ตกลงจบกันที่สถานีตำรวจ อัยการก็คงสั่งฟ้องให้ไม่ได้ แนวคำพิพากษาศาลฎีกาบอกไว้ชัดเจนแล้วว่าการล่อให้กระทำความผิด เท่ากับเป็นผู้ก่อให้เขากระทำความผิดจึงไม่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายที่จะดำเนินคดีได้ นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า การล่อให้เขากระทำความผิดไม่ใช่การล่อซื้อ เช่น ถ้ากรณีปกติไม่ได้มีการผลิตขึ้นจำหน่าย แต่ไปสั่งให้เขาทำ แล้วก็เอาตำรวจไปจับ อย่างนี้ถือเป็นการล่อให้กระทำความผิด แต่ถ้ามีการผลิตจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว ไปติดต่อขอซื้อถือเป็นการล่อซื้อ เมื่อศาลเคยตัดสินแล้วว่าคดีเช่นนี้ไม่เป็นผู้เสียหาย ที่จะดำเนินคดีได้ ปัญหาต่อมาคือการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามการชี้ให้จับของผู้ที่อ้างตนว่าเป็นผู้เสียหาย จนถึงขั้นมีการเรียกร้องค่าเสียหายกัน จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คงต้องมีการดำเนินการสอบสวนโดยละเอียด เพราะมีข่าวออกมาว่าบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการมอบอำนาจให้ผู้ใดไปจับ จึงเกิดคำถามได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปจับถูกหลอกลวงด้วยหรือไม่ ได้ตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจถูกต้องแล้วหรือไม่ เรื่องนี้น่าจะต้องติดตามดำเนินคดี สอบสวนให้ได้ความจริงโดยละเอียด มีใครผิดบ้างนำมาลงโทษ ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรม ไม่ใช้กฎหมายมาอ้างข่มเหงรังแกกัน นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า ยังได้ติดตามสื่อมวลชนว่านอกจากเคสเด็กอายุ 15 เเล้วยังมีกรณีอื่นอีกที่ได้ยินว่ามีการจับกุมเด็กอายุ 16 ปี ขังไว้ที่สถานีตำรวจ 1 คืน จึงอยากยก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาให้ได้ดูกันว่ามีการปฏิบัติครบถ้วนตามนั้นหรือไม่ มาตรา 70 บัญญัติไว้ว่า เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ หรือเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดถูกเรียกมา ส่งตัวมา เข้าหาพนักงานสอบสวนเอง มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน หรือมีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และคดีนั้นเป็นคดีที่ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบถามเด็กหรือเยาวชนในเบื้องต้นเพื่อทราบชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ สถานที่เกิด และอาชีพของเด็กหรือเยาวชน ตลอดจนชื่อตัว ชื่อสกุล และรายละเอียดเกี่ยวกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย แล้วแจ้งเรื่องที่เด็กหรือเยาวชนถูกกล่าวหาให้บุคคลหรือผู้แทนองค์การดังกล่าวทราบ โดยให้โอกาสบุคคลหรือผู้แทนองค์การดังกล่าวที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชนได้ และแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจเพื่อดำเนินการตามมาตรา 82 โดยการสอบถามเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทยก็ให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หากเด็กหรือเยาวชนประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยและอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ตามควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้าเเละ เมื่อพนักงานสอบสวนสอบถามเบื้องต้นแล้ว หากปรากฏหลักฐานตามสมควรว่าเด็กหรือเยาวชนน่าจะได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนในโอกาสเดียวกันก็ได้ แต่ต้องดำเนินการตามมาตรา 75 ในการสอบสวน ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสมโดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องใช้ภาษาและถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทยให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดจะต้องมีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่าเด็กหรือเยาวชนมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ทั้งนี้ เมื่อคำนึงถึงอายุ เพศ และสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดแต่ละราย ในการแจ้งข้อหาและการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนตามวรรคสอง บิดา มารดา ผู้ปกครองบุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยจะเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนดังกล่าวด้วยก็ได้ ด้านว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเนติบัณฑิตยสภา ว่า คดีจับลิขสิทธิ์นั้นปัจจุบันมีปัญหามากโดยเฉพาะพวกที่เรียกกันว่า “ตีกิน” คือแกล้งจับแล้วเรียกร้องเอาทรัพย์สินเพื่อแลกกับให้ปล่อยตัว ซึ่งผู้กระทำคือคนที่ไม่สุจริตเรียกกันว่าพวก “นักบิน” ขออธิบายเป็นลำดับกล่าวคือในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์มีอำนาจในการทำซ้ำดัดแปลง,โอนงาน,จำหน่ายหรืออนุญาตให้ผู้อื่นได้ใช้งานนั้นโดยมีค่าตอบแทน การที่มีคนไปทำงานลิขสิทธิ์ซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือทำสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์วางขาย บริษัทจะสืบทราบแล้วส่งตัวแทนไปจับ ตัวแทนหากเป็นทนายความจะมีความรอบคอบโดยเฉพาะเอกสารการมอบอำนาจ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ตัวแทนที่ไปจับ มีใบมอบอำนาจแต่งตั้งจริงหรือไม่ ถ้ามี ใบมอบนั้นหมดอายุหรือยัง ใบมอบนั้นครอบคลุมถึงสินค้าที่ให้จับหรือไม่ เป็นเพียงมอบอำนาจเฉพาะหรือมอบทั่วไป ใบอำนาจนั้นปลอมหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ เมื่อตัวแทนไปพบตำรวจเพื่อพาไปจับ เป็นหน้าที่ของตำรวจในประการแรก ที่จะตรวจสอบใบมอบนั้นว่าถูกต้องแท้จริงหรือไม่ เพราะถ้าไปถึงที่เกิดเหตุแผงค้า แทบไม่มีพ่อค้าแม่ค้ารายใดขอดู หรือถ้าดูก็ไม่รู้ว่าจริงหรือปลอม ว่าที่ พ.ต.สมบัติกล่าวว่า ถ้าตัวแทนเป็นพวกนักบิน อาจใช้ใบมอบปลอม เป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม เมื่อจับผู้ค้ามาก็อาจผิดกักขังหน่วงเหนี่ยว กรรโชกทรัพย์ อาจผิดข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ข้อหารู้ว่าไม่มีความผิดอาญาเกิดขึ้น แต่เแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานว่ามีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรือแจ้งเกินความจริง ส่วนตำรวจ หากรู้อยู่แล้ว ว่าใบมอบปลอม แล้วยังฝืนไปกับตัวแทนเพื่อจับกุม ก็อาจมีความผิดฐานกลั่นแกล้งจับกุมบุคคลให้รับโทษทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้ที่โดยมิชอบ และหากมีการจับกุมโดยไม่ชอบก็จะกระทบถึงอำนาจฟ้องของฝ่ายรัฐ คดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดอาญา เมื่อตำรวจจับมาก็ต้องทำประวัติทำบันทึกต่างๆ หากอ้างว่าเมื่อมีการจับมาแล้ว ตำรวจก็ปล่อยให้ตัวแทนกับพ่อค้าแม่ค้าเจรจากันไป มีการต่อรองกันไป หากเจรจาจ่ายเงินก็จบแยกย้ายกันไป ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเมื่อมาถึงที่ทำการพนักงานสอบสวนแล้วก็ควรจะมีการตั้งเรื่องสอบมีเอกสาร มีคำร้องทุกข์ มีหนังสือตั้งตัวแทน เก็บเป็นสำเนาไว้บ้าง ไม่ใช่ว่าทุกอย่างหายไปหมดหรือไม่เคยมีเลย หากไม่มีเลยทำให้ชวนคิดไปได้ว่า มีการร่วมกัน “ตีกินหรือไม่” ในคดีที่ผู้ถูกจับเป็นเด็ก ต้องขออนุญาตจับก่อน และต้องนำตัวส่งสถานพินิจเพื่อทำประวัติตรวจร่ายกาย และให้ประกันตัวเป็นหลัก ซึ่งหลักทรัพย์ก็ไม่สูงมาก ถามว่าคดีนี้เมื่อจับเด็กมาแล้วได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ เด็กได้พบที่ปรึกษากฎหมายหรือไม่ หรือเจตนาแค่จับแล้วคุยกัน เมื่อจ่ายก็จบ คดีลักษณะนี้มีมาก โดยเฉพาะจับกางเกงยีนส์ ละเมิดแบรนด์ดังๆ หากเป็นกรณี พ่อค้าขายกางเกงทั่วไป แล้วตัวแทนกับตำรวจ ไปล่อให้เขากระทำผิด โดยไปบอกว่าต้องการยี่ห้อดัง ต้องการจ่ายเงินให้ราคาดี เมื่อพ่อค้าตกลงก็ไปสรรหากางเกงมาให้ พอส่งมอบก็ถูกจับ แบบนี้ไม่ใช้ล่อซื้อโดยชอบ เพราะพ่อค้าไม่มีเจตนาค้างานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต มาแต่แรก เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยไม่ชอบ ศาลมักจะไม่รับฟังพยานหลักฐานเหล่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image