อัยการชี้ ดำเนินคดีกระทงลิขสิทธิ์ ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนหรือไม่ ยกป.วิ.อ.ต้องกระทำต่อหน้าสหวิชาชีพ

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล

‘อัยการธนกฤต’ตั้งข้อสังเกตดำเนินคดีเยาวชนทำกระทงละเมิดลิขสิทธิ์ ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนหรือไม่ ยก ป.วิ.อ. มาตรา 134/2 บวก 133 ทวิ สอบสวนเด็กเยาวชนต้องทำต่อหน้าสหวิชาชีพ เปรียบเทียบปรับคดีความผิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าไม่ได้ ชี้ควรตรวจสอบการทำหน้าที่ ตร. แจ้งข้อหาสอบเด็ก เพื่อคุ้มครองเด็กเยาวชนตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะอาจารย์ผู้บรรยายวิชาหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณีในคดีข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์จากการทำกระทงติดภาพตัวการ์ตูนขายมีข้อความว่า

ข้อสังเกตต่อความชอบด้วยกฎหมาย ของการแจ้งข้อหา สอบสวนและควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนคดีกระทงละเมิดลิขสิทธิ์

กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการดำเนินคดีข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์กระทงภาพลายการ์ตูนกับบุคคลจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีเด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมอยู่ด้วยหลายราย เช่น กรณีของน้องอ้อม อายุ 15 ปี ที่จังหวัดนครราชสีมา และน้องสุกัญญา อายุ 16 ปี ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น มีข้อควรพิจารณาในเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหา การสอบสวน และการควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.ศาลเยาวชน ฯ) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) ดังนี้

Advertisement

1. การแจ้งข้อกล่าวหาและการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด

ตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชน ฯ มาตรา 75 วรรคสอง กำหนดให้การแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดในชั้นสอบสวน (ซึ่งไม่ใช่การสอบถามเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชน ฯ มาตรา 70) จะต้องมีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนอยู่ด้วยทุกครั้ง พร้อมทั้งต้องมีการแจ้งสิทธิให้เด็กหรือเยาวชนทราบ ว่ามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ และถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

นอกจากนี้ ในการสอบปากคำผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหรือเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี นอกจากต้องมีที่ปรึกษากฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อหน้าสหวิชาชีพ โดยมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กหรือเยาวชนร้องขอ และอัยการ เข้าร่วมในการสอบปากคำด้วย ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ ด้วย โดยความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง ที่มีอัตราโทษจำคุกด้วย เด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหาจึงมีสิทธิตามป.วิ.อ. มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ ที่จะร้องขอให้การสอบปากคำกระทำต่อหน้าสหวิชาชีพได้

Advertisement

ในคดีกระทงละเมิดลิขสิทธิ์ จึงมีข้อสังเกตในเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาและการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนี้

(1) พนักงานสอบสวนได้จัดหาที่ปรึกษากฎหมายให้แก่เด็กหรือเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ และขณะที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนในชั้นสอบสวน มีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนร่วมอยู่ด้วย ตาม พรบ.ศาลเยาวชน ฯ มาตรา 75 วรรคสอง หรือไม่

(2) พนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งสิทธิเด็กตามกฎหมายดังกล่าว ตาม พรบ.ศาลเยาวชน ฯ มาตรา 75 วรรคสอง หรือไม่

(3) การสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนได้กระทำต่อหน้าสหวิชาชีพตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ หากเด็กหรือเยาวชนร้องขอ หรือไม่

ถ้าไม่ได้มีการดำเนินการตามที่กล่าวมา ย่อมต้องถือว่าการแจ้งข้อกล่าวหา และการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถ้อยคำที่เด็กหรือเยาวชนให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดไม่ได้

2. การควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด
ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชน ฯ มาตรา 72 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการตรวจสอบการจับกุมโดยศาลไว้ว่า เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เว้นแต่เป็นคดีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าอาจเปรียบเทียบปรับได้

ถึงแม้ความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์นี้ถือเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง ที่เด็กหรือเยาวชนถูกกล่าวหาดังกล่าว ตามมาตรา 77 ถือว่าเป็นความผิดที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ ดังนั้น พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมภายใน 24 ชั่วโมง การที่พนักงานสอบสวนควบคุมตัวน้องสุกัญญาไว้ที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด จึงมีข้อควรพิจารณาว่า ระยะเวลาที่น้องสุกัญญาถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจเกินกว่า 24 ชั่วโมงที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือไม่

ตามที่ พล.ต.อ. วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. สั่งให้มีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนในคดีละเมิดลิขสิทธิ์นี้ จึงควรที่จะให้มีการตรวจสอบการแจ้งข้อกล่าวหา การสอบสวนและการควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนของพนักงานสอบสวนในคดีเหล่านี้ว่าเป็นไปโดยชอบและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้วยังจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนตามกฎหมายด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image