กฎหมายเก่า แต่เทคโนโลยีล้ำ อุปสรรคสกัด’รุก’ เปิดช่องโหว่จับคดีหลอกลงทุน

กระแสการลงทุนเล่นแชร์ เติบโตขึ้นมากมายท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจขาลง ทำผู้คนต่างอยากรวยทางลัด หลงเชื่อในคารมคำพูดหวานหอมจากปากเท้าแชร์ที่อ้างถึงผลตอบแทนสูง แม้จะลงทุนเพียงน้อยนิด

แรกเริ่มเหยื่อยังย่ามใจ ควักเงินลงทุนก้อนเล็ก แต่พอเห็นผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาหลอกล่อทำเอาถอนตัวไม่ขึ้น บางรายถึงขั้นกู้หนี้ยืมสินเพียงเพื่อนำเงินไปเล่นแชร์

เมื่อเงินของประชาชนถูกนำไปใช้ลงทุนกับการเล่นแชร์ จนหายออกไปจากระบบเศรษฐกิจ ทำให้ภาคการผลิตสูญเสียรายได้ทางธุรกิจ หรือแม้แต่ภาครัฐเอง ก็ไม่มีเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียนเพื่อพัฒนาประเทศ

ด้านกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) รวบรวมข้อมูลสถิติคดีการฉ้อโกงประชาชนทุกรูปแบบในช่วงเวลา 4 ปี ย้อนหลังที่ได้รับแจ้ง รวมทั้งสิ้น 77 คดี ความเสียหาย 1,263,153,801 บาท

Advertisement

ที่น่าเป็นห่วง เพราะปี 2562 นี้ มีสถิติคดีฉ้อโกงสูงโด่งที่สุด รวม 24 คดี มูลค่าความเสียหาย 491 ล้านบาท(มูลค่าก่อนคดีที่กำลังกล่าวถึง)

หนึ่งในนั้น คือ คดีโครงการออมเงินแม่มณี ที่ น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช และนายเมธี ชิณภา แฟนหนุ่ม เป็นแม่ข่าย อ้างเงินปันผลสูงถึงร้อยละ 93 มีเหยื่อหลงเชื่อทั่วประเทศ จนความเสียหายพุ่งสูงถึง 1.3 พันล้านบาท ถูกเหยื่อเปิดโปงชำแหละวิธีการ พร้อมเข้าแจ้งความกับ ตำรวจ บก.ปอศ. รวมถึงโรงพักท้องที่ และหน่วยงานอื่นๆ เมื่อช่วงกลางตุลาคมที่ผ่านมา

ด้าน พ.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ผกก.5 บก.ปอศ.เปิดเผยถึงประเด็นนี้ว่า แม้ตำรวจจะคอยสืบสวนหากลุ่มผู้กระทำผิด รวมถึงเฝ้าระวังกลุ่มเล่นแชร์ที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยโดยตลอด แต่ยังมีปัญหาในการทำงานเชิงรุก อันดับแรก คือ เมื่อความเสียหายยังไม่เกิด ก็จะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เล่นแชร์ ทำให้ยากแก่การจับกุมเท้าแชร์ กรณีนี้ เช่น มีคนเล่นแชร์ในวง 20 คน ได้รับเงินแล้ว 5 คน ส่วนที่เหลือยังไม่ได้ ก็จะเป็นช่องโหว่ที่เท้าแชร์ใช้อ้างเมื่อถูกตำรวจจับว่าหากไม่โดนจับ ก็ยังสามารถทยอยจ่ายเงินปันผลให้ลูกแชร์ได้ อีก 15 คนที่ยังไม่ได้รับเงินต้นและเงินปันผลได้ ทั้งยังขู่แจ้งความกลับต่อเจ้าหน้าที่

Advertisement

และอันดับต่อมา เมื่อความเสียหายยังไม่เกิด ผู้เสียหายที่ลงทุนเล่นแชร์วงนั้นอยู่กลับไม่ร่วมมือที่จะแจ้งเบาะแส หรือพยานหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพราะเกรงว่าเมื่อเท้าแชร์ถูกจับแล้ววงแตกจะไม่ได้รับเงินที่ลงทุนไปกลับคืนมา หรือบางรายลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อยจนไม่ติดใจเอาความ

สำหรับรูปแบบคดีการฉ้อโกงที่พบ แบ่งได้เป็น 1.แชร์ลูกโซ่ 2.หลอกลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ(FOREX) 3.หลอกลงทุนเงินสกุลดิจิทัล(Cryptocurrency) 4.หลอกลงทุนธุรกิจรูปแบบต่างๆ เช่นเครื่องสำอาง ยา เป็นต้น โดยรับรองผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ที่สถาบันการเงินกำหนด และ 5.หลอกลงทุนระยะยาวจนเหยื่อเชื่อว่าคนร้ายได้นำเงินไปทำธุรกิจจริง

อย่างไรก็ตามตำรวจยังคงหาแนวทางการทำงานเชิงรุก ซึ่ง พ.ต.อ.ภาดล ระบุว่าได้ประชุมหารือกับกระทรวงยุติธรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางรับมือกับปัญหาข้างต้น โดยตำรวจได้เสนอความเห็นควรให้ควบคุมเรื่องการเล่นแชร์ หากใครจะเล่นแชร์ต้องได้รับการอนุญาต ไม่เช่นนั้น ให้ถือว่าผู้เล่นและเท้าแชร์มีความผิดเหมือนกับ พ.ร.บ.การพนัน ทั้งนี้เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เล่นแชร์กันอย่างเสรีจนเป็นวงลูกโซ่

หากขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้รัฐควบคุมวงแชร์ได้ว่าบุคคลใด เป็นเท้าแชร์กี่วง เงินในการเล่นแชร์เท่าไหร่ และจำนวนสมาชิกกี่คน ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.แชร์ ที่ระบุให้เท้าแชร์ 1 คน มีวงแชร์ได้ไม่เกิน 3 วง ลูกแชร์รวมกันไม่เกิน 30 คน ซึ่งวิธีนี้ เป็นการเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มแชร์ที่อาจมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงก่อคดีฉ้อโกง

พ.ต.อ.ภาดล บอกต่อว่า จากประสบการณ์การทำงานด้านงานป้องกันปราบปรามคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ มองว่ากฎหมายในปัจจุบันไม่ทันกับยุคสมัย ที่รูปแบบการโกงมีแต่จะเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ เช่น คดี forex หรือสกุลเงินดิจิตอล ที่ผู้กระทำผิดอ้างว่านำเงินของเหยื่อไปลงทุนในต่างประเทศ พร้อมแสดงความน่าเชื่อถือด้วยเอกสารใบอนุญาตที่ไม่แน่ชัดว่าเป็นของจริงหรือไม่ ซึ่งตรวจสอบได้ยากเพราะมีต้นทางอยู่ต่างประเทศ ทั้งยังมีเรื่องเงินสกุลดิจิตัล ที่จับต้องไม่ได้เหมือนของกลางชนิดอื่น ทำให้ติดตามกลับคืน อายัดหรือจัดเก็บไว้ยาก ส่งผลต่อการสรุปสำนวนคดี และอาจเกิดความล่าช้าทำให้ไม่ครบกำหนดฝากขัง

“ยังมีคดีหลอกลงทุนปลูกไม้กฤษณา ที่เหยื่อต้องวางเงินลงทุนระยะยาวถึง 7 ปี ไปก่อน เพราะไม้ต้องใช้เวลาเพาะปลูกและเจริญเติบโตนาน แต่กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็สายเสียแล้ว อีกทั้ง หากยังไม่ถึงเวลาตามกำหนดในสัญญา ก็ก่ำกึ่งว่าเป็นการประกอบธุรกิจจริงหรือฉ้อโกงประชาชน จะทราบก็ต่อเมื่อ เวลาผ่านพ้นไปแล้วตามสัญญา เหมือนอย่างบางคดีที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่ ทำให้ยากในการที่จะติดตามทรัพย์สินคืนมา ตรงนี้ขอให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การลงทุนใดที่มีผลตอบแทนสูงกว่าปกติ และจะให้ผลตอบแทนในอนาคต นับว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะถูกหลอกลวง” พ.ต.อ.ภาดล กล่าวและต่อว่า

การจับกุมตัวคนร้าย ในคดีที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ ยังใช้หลักการของ ป.วิ อาญา ซึ่งต้องปราศจากข้อสงสัย จึงจะลงโทษผู้กระทำความผิดได้ แต่ส่วนนี้ยังมีอุปสรรคเพราะบางคดีไม่สามารถหาพยานหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่าได้กระทำความผิดจริง ยกตัวอย่างเช่น คดีเรื่องปั่นหุ้น เป็นต้น จึงมีแนวคิดเสนอให้บัญญัติกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความเศรษฐกิจ เพื่อความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีด้านการเงินเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยให้ดูจากพฤติการณ์ส่อกระทำผิดให้ถือว่ามีความผิดได้เลย เช่น ผู้ที่ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ กฎหมายให้ถือว่าเมา หรือ ผู้ที่อยู่ในวงเล่นการพนัน กฎหมายก็ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เล่นด้วย ฉะนั้น การพิจารณาหรือรับฟังพยานหลักฐานดำเนินคดีควรสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจพิจารณาจากพฤติการณ์ของคนผิด หรือสร้างความยืดหยุ่นการรับฟังพยานหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนจะเป็นความผิดต่อรัฐ ซึ่งตำรวจสามารถเป็นผู้กล่าวหาได้ แต่เมื่อความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงแต่เป็นพยานในคดี ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและดุลยพินิจของศาล หากขาดพยานที่เป็นผู้เสียหาย จะมีน้ำหนักเพียงพอในการ พิจารณาคดีแล้วหรือไม่ และเพื่อเป็นการติดเกราะให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ยังมีความเห็นว่าควรปรับปรุงเนื้อหาใน มาตรา 7 ของ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงิน ให้คุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทั้งทางแพ่งและอาญา หากเป็นเช่นนี้ได้ คิดว่าจะสามารถทำงานเชิงรุกได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นับเป็นหนึ่งเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงานที่ต้องการให้การทำงานในภาพรวมเต็มไปด้วยประสิทธิภาพ แต่ฟากประชาชนเอง ก็ต้องพึงระวังและป้องกันตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยสังคมเหล่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image