แชร์-ตุ๋นออนไลน์ เตือนภัย-รับมือ

มีบทเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า กับการต้มตุ๋นทางออนไลน์ โดยเฉพาะ “แชร์ลูกโซ่” แต่ละครั้งมีเหยื่อต้องสูญเสียนับร้อยนับพันราย เม็ดเงินมหาศาลนับพันล้านบาท ทั้งแชร์แม่ชม้อยในอดีต แชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์น้ำมัน แชร์ธุรกิจเครื่องสำอาง แชร์ปลูกไม้หายากราคาแพง

สะกดจิตด้วยคำสัญญาผลตอบแทนล่อใจสูงลิ่ว ชนิดที่โลกแห่งการลงทุนมีความเป็นไปได้เท่ากับศูนย์

ขบวนการฉ้อฉลกลโกงทำนองนี้ จากแชร์ “แม่ชม้อย” โมเดลครึกโครมเมื่อ 40 ปีก่อน ก็ยังตกทอดถึงปัจจุบัน แตกสายพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ

“ฟอเร็กซ์ 3 ดี” ขายฝันลงทุนอัตราเปลี่ยนแลกเงินตรา มีข้อเสนอซับซ้อนซอยแบ่งเป็น 5 เวอร์ชั่นบรอนซ์-ซิลเวอร์-โกลด์-แพลทินัม-ไดมอนด์ ขึ้นอยู่กับระดับลงเงินมากน้อย

Advertisement

แพคเกจบรอนซ์ลงทุนขั้นต่ำสุด ได้รับความนิยมสูงสุด วางเงิน 2 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6 หมื่นบาท เพียงแค่ 20 วันได้รับเงินกลับมา 164%

ยิ่งข้ามแพคเกจ ผลประโยชน์ยิ่งเพิ่ม

ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์แล้วไม่น้อยกว่า 2 พันราย มูลค่าอย่างน้อยกว่า 400 ล้านบาท

หรือ “บ้านออมเงินแม่มณี” โฆษณาชวนเชื่อนำเงินไปลงทุนผลิตซีรีส์โทรทัศน์ ธุรกิจเครื่องสำอาง เสนอจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 93 กำหนดวงเงินขั้นต่ำเดือนละ 1,000 บาท ลงทุนเดือนนี้ เดือนหน้ารับไปเหนาะๆ เงินต้นบวกดอกเบี้ย 1,930 บาท

เหยื่อมากกว่า 4 พันคน ค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1.4 พันล้านบาท ทยอยแจ้งความร้องทุกข์กับทางการ

หรือ “ออมเงินบ้านบัว” จูงใจผลตอบแทนร้อยละ 10 ของเงินลงทุนต่อวัน แถมโปรโมชั่นเงินปันผลอีกร้อยละ 15 ภายใน 3 วัน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเพียงนักเรียนนักศึกษา ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท

น่าตกตะลึงก็คือ เท้าแชร์วงนี้อายุเพียง 15 ปีเท่านั้น

สิ่งที่หนุนส่งให้แชร์ลวงโลกเบ่งบาน ขยายตัวได้กว้างขวาง

ส่วนหนึ่งยากปฏิเสธ เป็นผลพวงจากเทคโนโลยีสื่อสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์

จะจับได้ไล่ทันตกเป็นภาระหน่วยงานตรวจสอบ เฝ้าระวัง

พ.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ผกก.5 บก.ปอศ. บอกว่า แม้ตำรวจจะคอยสืบสวนหากลุ่มผู้กระทำผิด รวมถึงเฝ้าระวังกลุ่มเล่นแชร์ที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยมาโดยตลอด แต่ยังมีปัญหาในการทำงานเชิงรุก อันดับแรก คือเมื่อความเสียหายยังไม่เกิด ก็จะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เล่นแชร์ ทำให้ยากแก่การจับกุมเท้าแชร์ เช่น มีคนเล่นแชร์ 20 คน ได้รับเงินแล้ว 5 คน ส่วนที่เหลือยังไม่ได้ ก็จะเป็นช่องโหว่ที่เท้าแชร์ใช้อ้างเมื่อถูกตำรวจจับว่าหากไม่โดนจับ ก็ยังจ่ายเงินปันผลให้ลูกแชร์อีก 15 คนได้ ทั้งยังขู่แจ้งความกลับต่อเจ้าหน้าที่

อันดับต่อมา เมื่อความเสียหายยังไม่เกิด ผู้ที่เล่นแชร์วงไม่ร่วมมือที่จะแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ เพราะเกรงว่าเมื่อเท้าแชร์ถูกจับแล้ววงแตกจะไม่ได้รับเงินที่ลงทุนไป

รูปแบบคดีฉ้อโกงที่พบ แบ่งได้เป็น 1.แชร์ลูกโซ่ 2.หลอกลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (FOREX) 3.หลอกลงทุนเงินสกุลดิจิทัล (Cryptocurrency) 4.หลอกลงทุนธุรกิจรูปแบบต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง ยา โดยรับรองผลตอบแทนในอัตราที่สูง และ 5.หลอกลงทุนระยะยาวจนเหยื่อเชื่อว่าคนร้ายนำเงินไปทำธุรกิจจริง

“พ.ต.อ.ภาดล” เผยอีกว่า ประชุมหารือกับกระทรวงยุติธรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยเสนอให้ควบคุมการเล่นแชร์ หากใครจะเล่นแชร์ต้องได้รับการอนุญาต ไม่เช่นนั้น ให้ถือว่าผู้เล่นและเท้าแชร์มีความผิดเหมือนกับ พ.ร.บ.การพนัน ไม่ให้เล่นแชร์กันอย่างเสรี

หากขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้รัฐควบคุมวงแชร์ได้ว่าใครเป็นเท้าแชร์กี่วง สมาชิกกี่คน วงเงินเท่าไร ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.แชร์ ที่ระบุให้เท้าแชร์ 1 คน มีวงแชร์ได้ไม่เกิน 3 วง ลูกแชร์รวมกันไม่เกิน 30 คน วิธีนี้ เป็นการเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มแชร์ที่อาจมีสุ่มเสี่ยงก่อคดีฉ้อโกง

“กฎหมายปัจจุบันไม่ทันกับยุคสมัย ที่รูปแบบการโกงมีแต่จะเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ เช่น คดี FOREX ที่ผู้กระทำผิดอ้างว่านำเงินเหยื่อไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งยังมีเรื่องเงินสกุลดิจิทัล ที่จับต้องไม่ได้ ทำให้อายัดได้ยาก ส่งผลต่อการสรุปสำนวนคดี นอกจากนี้ยังมีคดีหลอกลงทุนปลูกไม้กฤษณา ที่เหยื่อต้องวางเงินลงทุนระยะยาวถึง 7 ปี ไปก่อน เพราะไม้ต้องใช้เวลาปลูกนาน แต่กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็สายเสียแล้ว” พ.ต.อ.ภาดลเผยถึงภัยการต้มตุ๋นออนไลน์รูปแบบต่าง

ด้าน ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและบริการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เสริมว่า แคทสนับสนุนปฏิบัติการของศูนย์แอนตี้ เฟค นิวส์ เซ็นเตอร์ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยแคทให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังเว็บไซต์ปลอมอย่างมาก เป็นการร่วมสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการคุมเข้มข่าวปลอม รวมถึงการหลอกลวงของเว็บไซต์ปลอม โดยประสานกับกองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อป้องกันหยุดยั้งผลเสียหายที่กระทบผู้บริโภคได้ทันท่วงที พร้อมส่งเสริมให้ความรู้ประชาชนได้รู้เท่าทัน ไม่หลงกลการหลอกลวงผู้บริโภคในโลกออนไลน์

“ภาครัฐมีศูนย์แอนตี้ เฟค นิวส์ เซ็นเตอร์ โดยเน้นใช้กฎหมายปราบปรามผู้กระทำผิด แคทจึงร่วมแก้ปัญหาอีกด้านหนึ่งด้วยการตรวจสอบเผ้าระวังภัยจากข่าวปลอม รวมทั้งเว็บไซต์ปลอมที่หลอกลวงประชาชนรูปแบบต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องในความดูแล ซึ่งพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการปราบปรามข่าวปลอมการสร้างข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์ เพื่อลดความเสียหายต่อประชาชน” ดนันท์ระบุ

ทั้งนี้ แคท ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติของทราฟฟิกโทรต่างประเทศที่เกิดจากเว็บ www.emayday.com โดยเพจดังกล่าวเป็นเว็บไซต์ปลอมหรือฟิชชิ่ง ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นหลอกเหยื่อให้เข้าไปตอบแบบสอบถามและระบุให้โทรฟรี เพื่อขอรับของรางวัล เช่น กินฟรี รับของสมนาคุณฟรี ผู้หลงเชื่อทำตามจะถูกหลอกให้กดโทรออกไปเลขหมายปลายทางในต่างประเทศซึ่งระบบจะโทรออกไปอัตโนมัติทำให้เสียค่าโทรโดยไม่รู้ตัว

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบเว็บไซต์ปลอมนี้ได้แอบอ้างแบรนด์ลอรีอัลให้เครื่องสำอางฟรีและมีการล่อหลอกให้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ล่าสุดเว็บไซต์นี้ถูกบล็อกการใช้งานแล้ว ก่อนหน้านี้ มีผู้เสียหายที่มีการเชื่อมโยงสัญญาณผ่านระบบการให้บริการของแคท กว่า 1,000 ราย ซึ่งแคทได้พิจารณายกเว้นค่าบริการให้เฉพาะกรณีดังกล่าวแล้ว

“เชื่อว่า ยังคงมีเว็บไซต์ปลอมอื่นที่ใช้วิธีเดียวกันนี้ในการหลอกลวงลูกค้า จึงขอเตือนประชาชนที่อาจพบเว็บไซต์ในลักษณะเดียวกันให้เพิ่มความระมัดระวังและสงสัยไว้ก่อนว่า จะเป็นเว็บไซต์ปลอม อย่าหลงเชื่อกดเข้าไปตอบแบบสอบถาม อย่ากดโทรไปหมายเลขโทรฟรีตามที่เพจแนะนำ และอย่าแชร์ต่อโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ” ดนันท์เตือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image