ประธานศาลฎีกาชูสร้างกฎหมายระบบเดียวกัน-จัดตั้งส.กฎหมายอาเซียนเป็นองค์กรระดับโลก(ชมคลิป)

ประธานศาลฎีกาเจ้าภาพประชุมสมาคมกฎหมายอาเซียนครั้งที่ 41 ผลักดันสร้างกฎหมายระบบเดียวกัน-จัดตั้งสถาบันกฎหมายอาเซียนเป็นองค์กรระดับโลก

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา เมอร์ลินบีช จ.ภูเก็ต มีการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 41 (41th ASEAN Law Association Governing Council Meeting) โดย คณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำประเทศไทย (ASEAN Law Association (ALA), Thailand) ซึ่งมีนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำประเทศไทย ในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ 7 (7th Council of ASEAN Chief Justices Meeting) ในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ย.) ด้วย

โดยนายไสลเกษ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสมาคมกฎหมายอาเซียน ในช่วงเช้า ว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมอาเซียน ซึ่งจะมีการประชุมปีละครั้ง เรารับไม้ต่อจากประเทศสิงคโปร์ ที่มีนายซุนดาเรส เมน่อน (Hon. CJ Sundaresh Menon) ประธานศาลฎีกาสิงคโปร์ ในฐานะประธานสมาคมกฎหมายอาเซียน วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการบริหารจะนำแผนงานของสมาคมนักกฎหมายอาเซียนที่จะทำในอนาคต รวมถึงที่ทำมาแล้วในอดีตมาประเมินความสำเร็จว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ พร้อมรับข้อเสนอต่างๆ ของสมาคมกฎหมายอาเซียนแต่ละประเทศที่จะเสนอ ในวันนี้นายซุนดาเรส ประธานศาลฎีกาสิงคโปร์ ได้รายงานผลความคืบหน้าของการประชุมครั้งที่แล้ว พร้อมเปิดให้สมาชิกแสดงตัวตนมีส่วนร่วม

นายไสลเกษกล่าวว่า ประธานศาลฎีกาสิงคโปร์ได้สรุปว่า สมาคมกฎหมายอาเซียนจะยกระดับบทบาทของสมาคมกฎหมายอาเซียนให้ทำงานร่วมกับกลุ่มประชาคมอาเซียนอย่างใกล้ชิดทางด้านกฎหมาย เป็นที่ปรึกษาหรือที่รวมของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย และอำนวยความสะดวกในทางกฎหมายด้านต่างๆ ของประชาคมอาเซียนจะเดินไปข้างหน้า ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนได้รับรู้รับรองบทบาทของงสมาคมกฎหมายอาเซียน ดังจะเห็นได้ว่าวันนี้รองเลขาธิการอาเซียน เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ มานำเสนองานและแสดงการรับรู้บทบาทของสมาคมกฎหมายอาเซียน ชัดเจน รวมถึงการรับรู้ในเรื่องตราสารต่างๆ ซึ่งใช้ในเวลาติดต่อกันระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อพิพาทที่จะต้องอาศัยเอกสารทางราชการที่มีกระบวนการยุ่งยากในการได้เอกสารและเป็นที่ยอมรับ วัตถุประสงค์คือเราต้องหาวิธีการที่จะมีการรับรองเอกสารระหว่างประเทศ สามารถนำเอาไปใช้ระงับข้อพิพาท หรือดำเนินการทางบริหารได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีพ่อแม่ต่างสัญชาติกัน บุตรอยู่ต่างประเทศ จะได้รับรองสิทธิในการเป็นบุตรตามกฎหมายในประเทศ ก็จะต้องผ่านช่องทางนี้ คือการพัฒนาระบบการรับรองเอกสาร

Advertisement

“อีกเรื่องคือการสร้างความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายให้แก่อาเซียน เรามีเป้าหมายสำคัญที่หวังว่ากลุ่มประเทศอาเซียนจะยกระดับสร้างกฎหมายที่มีความสอดคล้องกัน ในขณะนี้องค์การสหประชาชาติ และที่ประชุมนักกฎหมายระหว่างชาติ พยายามที่จะออกคำแนะนำว่าทำอย่างไรประเทศต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กันได้ใช้กฎหมายในระบบเดียวหรือใกล้เคียงกันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้โลกเชื่อมโยงกันได้ในการใช้ระบบกฎหมายเดียวกัน แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนต้องใช้เวลา เนื่องจากคงมีขอบเขตว่ากฎหมายส่วนไหนที่สามารถเชื่อมโยงหรือทำให้เป็นระบบเดียวกันได้”นายไสลเกษกล่าว

นายไสลเกษ กล่าวต่อไปว่า ข้อสรุปอีกอย่าง ทำอย่างไรสมาคมกฎหมายอาเซียนจะทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในระบบกฎหมาย เราจัดระบบการแข่งขันโดยเอาคนรุ่นใหม่ นักกฎหมายรุ่นใหม่มาแข่งขันกันตอบระบบกฎหมายอาเซียน นักกฎหมายจากไทยก็จะเรียนรู้ระบบกฎหมายของเพื่อนบ้านเรา 9 ประเทศ อีก 9 ประเทศก็เรียนรู้ระบบกฎหมายของไทย ตนเชื่อว่าในอนาคตจะทำให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นนักกฎหมาย เข้าใจระบบของกฎหมายซึ่งกันและกันในกลุ่มประเทศอาเซียนดีขึ้น จะมีผลดีคือลดข้อพิพาทที่ไม่จำเป็นระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ จะมีการตั้งสถาบันกฎหมายระหว่างอาเซียน (Asian Law Institute) ทำหน้าที่รวบรวมค้นคว้ากฎหมายในกลุ่มประเทศอาเซียน จัดตั้งในรูปแบบองค์กรถาวร มีการบริหารที่เป็นระบบ แสวงหางบประมาณเพื่อส่งเสริมให้อาเซียนเข้าใจซึ่งกันและกันในระบบกฎหมาย สถาบันนี้อาจจะมีบทบาทส่งเสริมการฝึกอบรมเรียนรู้ร่วมกันในอนาคต ขณะนี้มีการวางแผนดำเนินการล่วงหน้าไป 3-4 ปี ถ้าทุกอย่างเดินไปตามแผน สถาบันฯ จะเกิดขึ้นและเป็นองค์กรในระดับโลก

Advertisement

ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ระบบการทำงานของอาเซียนใช้ระบบมติเป็นเอกฉันท์ ทุกอย่างที่จะได้รับการผลักดันออกไปต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันทุกประเทศ ไม่สร้างความขัดแย้ง จะพัฒนาต้องจับมือเดินไปด้วยกัน จึงใช้ระบบมติเอกฉันท์ ต้องยกมือทั้ง 10 ประเทศ ถ้าประเทศใดไม่เห็นชอบก็จะไม่ได้มติเอกฉันท์ที่ผลักดันต่อไป ตรงนี้ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างประนีประนอม


นายไสลเกษ กล่าวด้วยว่า วันนี้ประธานศาลฎีกาสิงคโปร์กล่าวว่า อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ปัจจุบันนี้มีศักยภาพ รายได้ ธุรกิจ มีรายได้เป็นอันดับ 5 ของโลก ฉะนั้นประชากรในแถบนี้ การดำเนินธุรกิจธุรกรรมมีมูลค่ามหาศาล จึงได้รับความสำคัญและการยอมรับจากประเทศอื่นและองค์กรระดับนานาชาติ จึงเชื่อว่า ALA จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นและสำคัญขึ้น ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ภารกิจของเราต้องร่วมกันและศึกษาให้ถ่องแท้ถึงระบบกฎหมายอาเซียนว่าจะมีผลกับประเทศของเราอย่างไร จะผลักดันอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเรา เราจะสามารถทำงานอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านของเราอย่างสันติ สิ่งที่ดีใจปีนี้คือประธานสมาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เดินทางมาร่วมครบถ้วน ประธานสมาคมกฎหมายอาเซียน ประเทศฟิลิปปินส์ เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทางการจากสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะมาประชุมประธานศาลฎีกาอาเซียนในวันพรุ่งนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงบทบาทของ ALA เกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องการค้า เช่นกฎหมายบางฉบับทำในประเทศหนึ่งไม่ผิด อีกประเทศผิด เช่นคดีฟิลลิปมอร์ริส จะไปช่วยไกล่เกลี่ยได้หรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ได้รับการพิจารณา ทำอย่างไรเมื่อเกิดข้อพิพาทแล้วระงับข้อพิพาทด้วยการเจรจา หรืออนุญาโตตุลาการ แต่จะเน้นเรื่องการเจรจามากกว่า และสร้างทางเลือกนอกจากเอาเข้าสู่ระบบศาลยุติธรรมของแต่ละประเทศแล้ว ยังสร้างระบบการเจรจาไกล่เกลี่ยมากขึ้น รูปแบบที่จะเจรจาไกล่เกลี่ยยังเป็นการบ้านที่จะต้องทำต่อ เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้ข้อพิพาทได้รับการระงับและหาข้อยุติได้รวดเร็ว เป็นที่ยอมรับและพอใจของคู่กรณี

ถามต่อไปว่า ตรงนี้จะเป็นการปรับกฎหมายแต่ละประเทศให้สอดคล้องตามแนวคิดของ ALA หรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า เป็นความพยายามแต่ไม่ง่าย ที่น่าดีใจคือทุกประเทศสมาชิกมีความพยายามหาข้อยุติเรื่องนี้

ถามเรื่องการค้าขายของกลุ่มประเทศอาเซียนกับกลุ่มอื่น ALA จะเข้าไปช่วยดูกฎหมายการค้าด้วยหรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า คิดว่ามีส่วนแน่นอน แต่ในเบื้องต้น เราเน้นในกลุ่มระหว่างอาเซียนก่อน ถ้ากลุ่มอาเซียนเรามีความเป็นเอกภาพ ตนเชื่อมั่นว่าทุกประเทศเข้าใจดีว่า อำนาจต่อรองของ 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งมีลำดับเศรษฐกิจลำดับที่ 5 ของโลกจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่เราจะต้องมีการเจรจากับกลุ่มประเทศอื่นๆ ทุกทวีป ถ้าเราใช้แนวทางแบบเดียวกัน

ถามว่าการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยสนับสนุนประเด็นใดสำคัญที่สุด นายไสลเกษ กล่าวว่า เราฟังเขา ทุกประเด็นที่เสนอมาเน้นส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องงานวิชาการ ซึ่งจุดนี้ยังไม่เป็นข้อผูกพันผูกมัดอะไรกับประเทศเรา เรื่องการศึกษาวิชาการกฎหมายประเทศต่างๆ เราสมควรให้การสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันถ้าเราต้องไปเซ็นสัญญาข้อผูกพันระหว่างประเทศ เราจะต้องคุยกันมากกว่านี้ จะต้องเป็นกระทรวงการต่างประเทศและส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง มีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม ALA ครั้งที่ 41 มีวัตถุประสงค์ (1) ส่งเสริมความร่วมมือและความเข้าใจกันของนักกฎหมายในประเทศสมาชิกอาเซียน (2) เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคในการศึกษาวิจัยกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียน (2.1) เพื่อส่งเสริมการสร้างความสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันของกฎหมาย ตามจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียน (2.2) เพื่อส่งเสริมและอำนวยการให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือในระดับสถาบันทางกฎหมายหรือองค์กรวิชาชีพด้านกฎหมายภายในภูมิภาค

(2.3) เพื่อส่งเสริม และแลกเปลี่ยน ข้อมูลด้านกฎหมาย ระบบกฎหมาย และการพัฒนากฎหมาย ในระดับภูมิภาค (2.4) เพื่อจัดทำวารสาร จัดกิจกรรมทางวิชาการ การประชุม สัมมนา หรือเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อวัตถุประสงค์ตามข้างต้น (3) เพื่อสร้างองค์กรความร่วมมือในระดับอาเซียนสำหรับการขจัดความขัดแย้ง การอนุญาโตตุลาการ หรือการระงับข้อพิพาททางกฎหมายในสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆที่มีลักษณะข้ามชาติภายในภูมิภาค และ (4) เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรในระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับชาติ หรือองค์กรอื่น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวข้างต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image