‘ชำนาญ รวิวรรณพงษ์’ อดีต ปธ.แผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา แจ้งความ 11 ก.ต.หมิ่นเบื้องสูง

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ สน.ชนะสงคราม นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รอง ผกก.สอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) 11 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

โดยรายละเอียดตามบันทึกประจำวัน ข้อ 3 สน.ชนะสงคราม นายชำนาญได้ร้องทุกข์กล่าวโทษมีใจความระบุว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 มติการประชุม ก.ต.ครั้งที่ 9/2562 ป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ ต่อมาเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโส 135 ราย ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งรวมถึงตนด้วย อันเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 190 ประกอบพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการแต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโส (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 มาตรา 7

กรณีจึงเป็นการพ้นอำนาจ ก.ต. ที่จะนำมติดังกล่าวกลับมาทบทวน เนื่องจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งไปแล้ว จึงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย

ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ก.ต.ได้กระทำการก้าวล่วงพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยการลงมติในการประชุมครั้งที่ 16/2562 ให้นำมติครั้งที่ 9/2562 ที่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส และได้นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้วกลับมาทบทวน โดยมิได้มีการพระราชทานเรื่องกลับมาทบทวน จากนั้น ก.ต.ลงมติไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส อันเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ฝ่าฝืนมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุเกิดที่ห้องประชุม อาคารศาลยุติธรรม ศาลฎีกา แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ

Advertisement

โดยนายชำนาญกล่าวว่า วันนี้ตนได้เดินทางมาแจ้งความเอาผิดกับ ก.ต. 11 คน เว้นนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เพื่อให้เกียรติตำแหน่ง สาเหตุเนื่องจากการที่ ก.ต.นำมติ ก.ต. ครั้งที่ 9/2562 ที่เห็นชอบให้ตนดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส และได้นำความกราบบังคมทูลตามกฎหมายแล้ว ซึ่งพ้นจากอำนาจ ก.ต. แล้ว ซึ่ง ก.ต.นำมติดังกล่าวกลับมาทบทวนในที่ประชุม ก.ต.ครั้งที่ 16/2562 ซึ่งเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 190 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายมาตรา ซึ่งหลังจากนี้ตนจะยื่นถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพึ่งพระบารมีต่อไป

ทั้งนี้ตนต้องการให้ปรับปรุงโครงสร้าง ก.ต. ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเคยเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้สามารถอุทธรณ์มติ ก.ต.ได้ เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครสามารถตรวจสอบ ก.ต.ได้

ด้าน พ.ต.ท.โชคอำนวยกล่าวว่า ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ ก่อนจะเสนอให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานสอบสวนคดีดังกล่าวต่อไป

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการตุลาการมีด้วยกันทั้งสิ้น 15 คน จำนวน 11 คนดังกล่าวคือ 1.นายธงชัย เสนามนตรี ปธ.แผนกคดีสิ่งแวดล้อม 2.นางวาสนา หงส์เจริญ ปธ.แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวกลางในศาลฎีกา 3.นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 4.นายสมเกียรติ ตั้งสกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา 5.นายเศกสิทธิ์ สุขใจ ปธ.แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ 6.นายศิริชัย ศิริกุล ปธ.แผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ 7.นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ 8.นายธนรัตน์ ทั่งทอง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 9.นายสุวิชา สุขเกษมหทัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา

10.นายกำพล รุ่งรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลล้มละลายกลาง 11.นายวรสิทธิ์ โรจนพานิช ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิศาลฎีกา ส่วนที่นายชำนาญไม่ได้เเจ้งความดำเนินคดี คือ นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา ก.ต.สัดส่วนจากบุคคลนอก เเละ ก.ต.เสียงข้างน้อยที่ลงมติให้นายชำนาญเป็นผู้พิพากษาอาวุโสฯต่อคือ นายกิจชัย จิตธารารักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เเละนายพศวัจณ์ กนกนาก ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา ซึ่งทั้ง 2 เป็น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิศาลฎีกา รวมถึงนายไสลเกษ วัฒนพันธ์ุ ประธานศาลฎีกา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ก.ต.ตั้งกก.สอบวินัยร้ายแรง’ชำนาญ รวิวรรณพงษ์’แทรกแซงคดีมรดก-ไม่ตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image