ทนายแม่ชายพิการโดนโจ๋รุมฆ่า ขอความเป็นธรรมอสส. ตีกันรองอธ.คดีอาญาวิจารณ์คดีร่วมพิจารณา

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ และประจักษ์พยานคดีฆ่าชายพิการ พร้อมด้วยนางทองคำ ศรีจันทร์ มารดาของนายสมเกียรติ ศรีจันทร์ อายุ 36 ปี ชายพิการอาชีพส่งขนมปังร้าน “ปังหอม” ผู้เสียชีวิต เดินทางมายื่นหนังสือถึง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อ ขอคัดค้าน และตั้งข้อรังเกียจ กรณีที่นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา จะเข้ามาร่วมรับผิดชอบคดี ที่พนักงานสอบสวน สน.โชคชัย รวบรวมหลักฐานกล่าวหา นายพีรพล ยศพงศ์อนันต์ กับพวก รวม 7 คน ผู้ต้องหาร่วมกันฆ่านายสมเกียรติ ทั้งนี้มีพยานหลักฐานสำคัญเป็นบันทึกการถอดเทปรายการ ถามตรง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ที่นายปรเมศวร์ ให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์และข้อกฎหมายทางคดี รวมทั้งบันทึกการโพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก ของนายปรเมศวร์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน โดยมีนายพันธุ์โชติ บุญศิริ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 เป็นผู้รับหนังสือ ซึ่งในหนังสือระบุว่า หากคดีนี้มีนายปรเมศวร์ ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย ก็จะขอให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งห้ามนายปรเมศวร์ ร่วมเป็นคณะทำงานพิจารณาคดีดังกล่าว

ภายหลังนายอนันต์ชัย ทนายความของมารดาผู้ตาย กล่าวว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนสน.โชคชัย ได้แจ้งข้อกล่าวหาฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา, บุกรุก, พกพาอาวุธในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาทะเลาะวิวาทนั้น พนักงานสอบสวนแจ้งว่า ไม่มีข้อหานี้ เราในฐานะผู้เสียหายก็สบายใจ เพราะไม่ต้องวิตกกังวล และเมื่อพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนพยานหลักฐานให้อัยการฝ่ายคดีอาญา 9 พิจารณา ในวันนี้ ตนจึงต้องมายื่นหนังสือต่ออัยการ 2 เรื่อง คือ 1.ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งตนนำพยานวัตถุที่จะแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้โทรศัพท์หากันและเตรียมอาวุธมา รวมทั้งพยานบุคคลที่จะแสดงให้เห็นว่า มีประเด็นใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน รวมทั้งแผ่นซีดีบันทึกคำสัมภาษณ์ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาและเมตตาครอบครัวผู้เสียหายในการตั้งข้อกล่าวหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ส่วนเรื่องที่ 2 คือกรณีนายปรเมศวร์ ซึ่งเป็นรองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ออกมาวิจารณ์ให้สัมภาษณ์สื่อ ทำนองว่า เรื่องนี้ไม่เข้าข่ายฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และให้ความเห็นด้วยว่า ญาติผู้ตายไม่อาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ เพราะผู้ตายสมัครใจทะเลาะวิวาท และอาจจะเรียกค่าเสียหายไม่ได้ นอกจากนี้นายปรเมศวร์ยังโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ฝ่ายผู้ตายกดดันตำรวจ อัยการ ศาล และให้ผู้เสียหายไปฟ้องเอง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ว่าจะถูกหรือผิดจะบวกหรือลบ นายปรเมศวร์ ซึ่งเป็นถึงรองอธิบดีไม่ควรจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ เพราะถือว่า มีส่วนได้เสียที่จะต้องรับผิดชอบสำนวนคดี เราไม่ได้กดดันอัยการ เพราะขณะนี้ตำรวจเพิ่งส่งสำนวนและไม่ทราบว่าอัยการคนใดรับผิดชอบ แม้กระทั่งศาลก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้จะยุติได้เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางศาล

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องตามกระแส แต่เป็นการร้องเรียนขอความเป็นธรรมในขั้นตอนต่างๆ และที่มีการกล่าวว่าไปกดดันตำรวจ อัยการ ศาลนั้นไม่เป็นความจริง เราพยายามอย่างถึงที่สุดแล้วในการต่อสู้เพื่อคนตาย หากท้ายที่สุดอัยการสูงสุดไม่สั่งให้สอบเพิ่มเติมในข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เราก็ต้องยอมรับ แต่ในชั้นศาล นางทองคำจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและนำสืบให้ศาลเห็นว่ากลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์อย่างไร ซึ่งศาลก็อาจมีดุลพินิจที่จะลงโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิตได้” นายอนันต์ชัย กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า การทำงานร่วมกับอัยการจะมีปัญหาหรือไม่ นายอนันต์ชัย กล่าวว่า ถ้าคดีเข้าสู่ชั้นศาลแล้ว ก็ไม่น่ามีปัญหาในการทำงานร่วมกัน เพราะตนจะทำงานตามที่พนักงานอัยการวางแนวทางไว้

นายปรเมศวร์ ว่า คงไม่เป็นไร เพราะตนไม่ได้ทำคดีนี้อยู่แล้ว สำนักงานอัยการกองคดีอาญา 9 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนนั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ดูแลของตน แต่เป็นรองอธิบดีฯอีกคนหนึ่ง และถึงแม้ตนได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีนี้ก็จะต้องถอนตัวอยู่แล้วเพื่อความสบายใจ ตนเองก็เป็นคนแนะนำเองว่าถ้าหากไม่สบายใจก็ตั้งข้อ ”รังเกียจ” ซึ่งจริงแล้วมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งปกติแล้วใช้สำหรับผู้พิพากษา ซึ่งจะใช้กรณีที่ขัดแย้ง โกรธเคืองกัน ซึ่งตนก็แนะนำให้ นายอนันตชัย ยื่นไปเพื่อความสบายใจ ส่วนการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้น นายอนันตชัยจะต้องไปขอที่ศาล ซึ่งศาลก็จะอนุญาตหากได้ความว่า เป็นผู้เสียหายจริง แต่ที่ตนเคยเตือนไว้ตั้งแต่แรกๆ ว่า การที่ไปพูดมากๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องสมัครใจทะเลาะวิวาทและไม่ได้กลายเป็นผู้เสียหาย สิทธิมันก็จะหายไป

“มาตรา 288 นั้นก็มีโทษสูงสุดให้ประหารชีวิตถ้าเราสืบพยานแล้วเห็นว่าเด็กพวกนี้ กระทำความผิดเป็นคนชั่วร้ายมาก โทษประหารชีวิตศาลก็ลงได้ อยู่แล้วแต่การไปกำหนดว่าจะต้องเข้ามาตรา 289 ซึ่งเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ถ้าข้อเท็จจริงมันได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าข้อเท็จจริงมันไม่ได้แล้วเราไปฟ้องแบบนั้นมันเท่ากับบีบบังคับกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลมากไป ศาลท่านสามารถใช้ดุลพินิจได้ ที่ผมทักท้วงคือตรงนี้ผมไม่ได้บอกว่าไม่ฟ้องแต่จะฟ้อง 288 หรือ 289 ต้องดูสำนวนก่อนแต่การเที่ยวออกไปพูดอยู่บ่อยๆผมว่ามันไม่ดี” นายปรเมศวร์ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า หากสุดท้ายพนักงานอัยการไม่สั่งฟ้องในมาตรา 289 แต่สุดท้ายแล้วทางญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมและนำพยานหลักฐานเข้าสืบ แล้ว ตามกฎหมายแล้วศาลจะสามารถลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 ได้หรือไม่ นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ศาลจะลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 แต่อาจจะกำหนดโทษบทหนักให้ประหารชีวิตได้ ซึ่งไม่ต่างกันแต่ที่ นายอนันต์ชัย ต้องการคืออยากให้ศาลกำหนดโทษประหารชีวิตสถานเดียว ถ้าหากเราฟ้องมาตรา 289 แต่ศาลฟังว่า ผิดตามมาตรา 288 ก็สามารถลงโทษประหารได้ แต่โดยปกติแล้วนักกฎหมายจะไม่ตั้งข้อหาหนักกว่าที่ข้อเท็จจริงปรากฏ การตั้งข้อหาหนักจะทำให้ใช้หลักทรัพย์เยอะการประกันตัวลำบาก แต่โทษในคดีนี้ก็สูงถึงขั้นประหารชีวิตได้อยู่แล้ว ถ้าเห็นศาลเห็นพฤติการณ์ว่า เลวร้ายก็สามารถที่จะกำหนดบทลงโทษหนักได้

ก.7
ต่อมาเมื่อเวลา 12.30 น. วันเดียวกัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก พ.ต.ท.อลงกรณ์ ศิริสงคราม รอง ผกก.หัวหน้างานสอบสวน สน.โชคชัย พร้อมคณะ ได้นำสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องกลุ่มผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 9 พิจารณาสั่งคดี

ภายหลัง พ.ต.ท.อลงกรณ์ กล่าวว่า นำสำนวนส่งให้อัยการ 417 แผ่น โดยผู้ต้องหาที่ 1-7 ถูกแจ้งข้อหาร่วมฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา, ร่วมพกพาอาวุธมีดไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุผลสมควรฯ และผู้ต้องหาอีก 4 ถูกดำเนินคดี ข้อหาร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธมือและใช้กำลังประทุษร้าย ส่วนข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้นทางพยานสอบสวนยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ทางตำรวจไม่รู้สึกกังวลใด ๆ เนื่องจากได้สอบสวนจากพยานหลักฐานที่มีอยู่จริงและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า หากอัยการสั่งให้สอบเพิ่มเติมให้ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จะทำได้หรือไม่ พ.ต.ท.อลงกรณ์ กล่าวว่า หากพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเข้าหลักเกณฑ์ในข้อหาดังกล่าว อัยการก็สามารถสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวได้

ด้านนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา กล่าวว่าจะต้องขออ่านสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้ละเอียด เรียบร้อยก่อน เนื่องจากมีคนกลุ่มหนึ่ง พยายามที่จะให้มีการแจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นตายโดยไตร่ตรองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 ให้ได้ เพื่อจะมีการแถลงข่าวต่อไป แต่ขอยืนยันว่า จะไม่ทำงานตามกระแส จะต้องดูเหตุและผลในพยานหลักฐานให้ชัดเจนก่อน วันนี้คงยังไม่มีอะไรมาก เป็นแค่การรับสำนวนจากพนักงานสอบสวนเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image