ฎีกายกคดี ‘ยุทธพงศ์’ หมิ่น ‘เกียรติ’ กล่าวหาแทรกคดีฟิลลิป มอร์ริสฯ สูญภาษี6.8หมื่นล้าน ชี้ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐ

ซ้าย-นายเกียรติ สิทธีอมร คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ และประธานผู้แทนการค้าไทย ขวา-นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 มิถุนายน ที่ห้องพิจารณา 914 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่นายเกียรติ สิทธีอมร คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ และประธานผู้แทนการค้าไทย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา

คำฟ้องสรุปว่า วันที่ 6 มีนาคม 2554 จำเลย ในฐานะหัวหน้าทีมอภิปราย แถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และพาดพิงมาถึงโจทก์ ทำนองว่า โจทก์เป็นบุคคลที่รับวิ่งเต้น แทรกแซง คดีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ แสดงราคานำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี 68,000 ล้านบาท โดยโจทก์อาจได้ผลประโยชน์จากต่างประเทศ ล้วนเป็นเท็จทำให้โจทก์เสียหาย

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุก 3 เดือนและปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี พร้อมทั้งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาย่อใน หนังสือพิมพ์รายวัน 8 ฉบับ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ต่อมาจำเลยยื่นฎีกาต่อสู้คดีขอให้ศาลยกฟ้อง

วันนี้นายยุทธพงศ์ จำเลย และนายเกียรติ โจทก์ เดินทางมาศาล

Advertisement

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลย ประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การแถลงข่าวไม่ได้กล่าวถึงชื่อโจทก์ แต่เรียกบุคคลที่เป็นผู้ทำหน้าที่ล็อบบี้ยิสต์ วิ่งเต้นล้มคดี คือ “เสี่ย ก.” ส่วนโจทก์ อ้างผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อฟังถ้อยคำแถลงของจำเลย ทราบได้ทันทีว่าหมายถึงโจทก์ เมื่อจำเลยระบุรูปพรรณสัณฐานว่า ผมหงอก และมีเครา ดังนั้นแม้การแถลงข่าวไม่ได้ระบุชื่อ แต่ถือเป็นการยืนยันตัวบุคคลว่าเป็นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ส่วนจำเลย มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยยื่นฎีกาว่า การตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านจึงเป็นการติชมโดยสุจริต โจทก์ในฐานะประธานผู้แทนการค้าไทย มีการเรียกพนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ กรมสรรพสามิต และ กรมสรรพากร เข้าประชุมหลายครั้ง มีการตำหนิเจ้าหน้าที่ดีเอสไอว่าไม่ควรสั่งฟ้องคดีเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศของบ.ฟิลลิป มอร์ริสฯ กระทั่งต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ก่อนที่ดีเอสไอจะทำความเห็นแย้งต่ออัยการสูงสุดให้ดำเนินคดี บ.ฟิลลิป มอร์ริสฯ จำเลยจึงต้องดำเนินการตรวจสอบและยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ ดังกล่าว

ศาลเห็นว่า จากการตรวจสอบนำเข้าบุหรี่ ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2541-2550 ของ บ.ฟิลลิป มอร์ริส พบว่ามีแสดงรายการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศในราคาต่ำกว่าบริษัทอื่นอย่างมาก ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษี 68,000 ล้านบาท จำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เมื่อจำเลยตรวจสอบรายการการประชุมที่โจทก์เรียกตัวแทนจากอัยการ ดีเอสไอ กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร เข้าประชุมที่มีการกล่าวถึงการดำเนินคดีให้เป็นผลดีกับบ.ฟิลลิป มอร์ริส และมีการตำหนิ ดีเอสไอ ในที่ประชุมว่าไม่ควรสั่งฟ้อง การแสดงความเห็นของโจทก์ตามความรู้สึกของคนทั่วไป ย่อมส่งผลไม่มากก็น้อยกับการทำหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในคดี กระทั่งอัยการสั่งไม่ฟ้องในเบื้องต้น ก่อนอัยการสูงสุดจะมีคำสั่งฟ้องต่อมา ตามความเห็นแย้งของดีเอสไอ

Advertisement

จำเลย จึงย่อมมีเหตุเชื่อได้ว่า โจทก์กระทำการมีความเคลือบแคลงน่าสงสัยว่าจะแทรกแซงการทำงานด้วยคนของรัฐบาลหรือไม่ ดังนั้นการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ติชมด้วยความเป็นธรรม จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษายกฟ้อง

ภายหลัง นายเกียรติ โจทก์ กล่าวว่า เมื่อวันนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง ต้องถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว

ขณะที่นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเพราะตนทำหน้าที่ในฐานะนักการเมืองที่ตรวจสอบโครงการหรือเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ สำนวนที่โจทก์ฟ้องมานั้นเป็นการแถลงข่าว ในช่วงวันที่ 6-7 มีนาคม 2554 อย่างไรก็ดี ปัจจุบันคดี บ.ฟิลลิป มอร์ริสฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ถ้ามีหมายเรียกให้มาเป็นพยานในคดีนี้ก็พร้อมที่จะมาเป็นพยาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image