รองโฆษก ตร.แถลงโต้ พ.ต.อ.ไพรัตน์ ยันแต่งตั้งถูกตามหลักเกณฑ์ ขุดประวัติแฉถูกร้องเรียนตั้งแต่ปี’44-60

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 มกราคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.เดชา กัลยาวุฒิพงศ์ ผบก.ทพ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ชี้แจงประเด็นที่ พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ รอง ผบก.อก.บช.ภ.9 อดีตรอง ผบก.ภ.จว.เพชรบุรี ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 กรณีใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม

โดย พล.ต.ต.เดชากล่าวว่า กรณีที่ พ.ต.อ.ไพรัตน์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ กล่าวหา ผบ.ตร.ว่าใช้อำนาจไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งตนไปดำรงตำแหน่งรอง ผบก.อก.บช.ภ.9 ซึ่งในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจมีระเบียบ หลักเกณฑ์ และกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ซึ่งกฎ ก.ตร.ในการแต่งตั้ง พ.ศ.2561 มีสาระสำคัญซึ่งได้วางหลักการเกี่ยวกับการแต่งตั้งไว้ว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งใดต้องคำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลทุกข์สุขของราษฎรเป็นสำคัญ โดยยึดหลักทุกพื้นที่จำเป็นต้องมีข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้มีอำนาจสามารถที่จะแต่งตั้งข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่งในลักษณะงาน หรือพื้นที่ที่แตกต่างไปจากเดิมได้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการทำงานที่รอบด้าน สำหรับข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งครั้งสุดท้ายครบ 2 ปี สามารถยื่นคำร้องขอไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ กรณีที่ผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้วเพื่อประโยชน์และไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ ก็สามารถแต่งตั้งข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ตามสมควรแก่กรณีตามความเหมาะสม สำหรับอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในระดับ รอง ผบก.ลงมา พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ.2547 มาตรา 54 ได้ให้อำนาจ ผบ.ตร.เป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้ง ซึ่งการแต่งตั้งจะทำในรูปคณะกรรมการ ตั้งแต่ระดับกองบังคับการ เสนอผ่านกองบัญชาการ และเสนอมาที่ ตร.

กรณีของ พ.ต.อ.ไพรัตน์ เดิมที่ดำรงตำแหน่ง รอง ผบก.ภ.จว.เพชรบุรี เมื่อวาระ 60 ต่อมาวาระ 62 ได้แต่งตั้งไปเป็น รอง ผบก.อก.บช.ภ.9 เป็นการแต่งตั้งพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้บังคับบัญชา ข้อเท็จจริงเบื้องต้น พ.ต.อ.ไพรัตน์มีเรื่องถูกร้องเรียนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ การแต่งตั้งครั้งนี้จึงเป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ สำหรับประเด็นการแต่งตั้งครั้งสุดท้ายไม่ครบ 2 ปี ตามกฎ ก.ตร.ไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้แล้ว เป็นแนวทางที่ ผบ.ตร.วางหลักไว้ว่าการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ หากดำรงตำแหน่งไม่ครบ 2 ปี ให้มีเหตุผลความจำเป็นในการแต่งตั้งทุกราย ซึ่งในการแต่งตั้งวาระต่างๆ ที่ผ่านมาก็ได้มีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งครั้งสุดท้ายไม่ครบ 2 ปี ตามเหตุผลความจำเป็นที่มีการเสนอมา เมื่อการแต่งตั้งเสร็จสิ้นลง ข้าราชการตำรวจรายใดที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อ ก.ตร.ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 106 ได้

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ทาง ผบ.ตร.เป็นบุคคลสาธารณะ อยู่ในตำแหน่งเข้าปีที่ 5 แล้ว ก็พร้อมที่จะรับการตรวจสอบ การฟ้องร้องกันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะท่านเป็นผู้นำองค์กร แต่สิ่งที่อยากจะฝากถึง พ.ต.อ.ไพรัตน์ กรณีที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าถูกกลั่นแกล้งในการแต่งตั้งโยกย้าย ก็ต้องถามกลับไปว่าความประพฤติตนเองที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2544 สมัยเป็นสารวัตร จนล่าสุดปี 2560 เกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ขายบัตรกิจกรรมดนตรี อ้างว่าเป็นรายได้มาใช้ในกิจการสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ทำไมไม่พูดออกมาบ้าง ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจรอง ผบก.-ผกก. มีตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งกว่า 2,500 ตำแหน่ง หลังคำสั่งมีผลเมื่อ 16 ธันวาคม 2562 เวลาล่วงเลยมากว่า 1 เดือน ทำไมเพิ่งรู้ตัวว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม มันมีการรอรับฟังสัญญาณอะไรหรือไม่ ถึงได้ออกมาช่วงนี้ การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจผู้มีอำนาจไม่ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ใช้อำนาจที่กฎหมายให้เอาไว้เท่านั้น การแต่งตั้งผู้ที่ทำหน้าที่ก็จะนำข้อมูลมาประกอบและพิจารณาไปตามเนื้อผ้า บางคนที่เคยทำผิดวินัย ผิดกฎหมายอาญา ก็แต่งตั้งไปในที่ไม่ได้สัมผัสกับประชาชน ซึ่งหลังคำสั่งออกกว่า 1 เดือน มีคนที่เดินทางมาพบ ผบ.ตร.เพื่อมาถามว่าทำไมจึงถูกย้าย ทาง ผบ.ตร.ก็ได้เยียวยา โดยให้ไปช่วยราชการตามที่ต่างๆ ทำไม พ.ต.อ.ไพรัตน์จึงไม่มาพบ ผบ.ตร. แต่กลับไปเดินสายเปิดเผยข้อมูล เปิดก็เปิดไม่หมด มีวินัยหรือไม่

Advertisement

ถามว่ามีบางสื่อโยงกรณีดังกล่าวไปถึงเรื่อง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า เป็นเรื่องของ พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไปฟ้องศาลเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เมื่อเป็นเรื่องประเด็นบุคคล การไปเอาเรื่อง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์มาเกี่ยวข้องมันเป็นการบิดเบือนข้อมูลหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image