สภาทนายฯแจงยิบคดีป้าบุรีรัมย์ โอละพ่อ พูดความจริงไม่หมด อ้างถูกทนายยึดที่ 14 ไร่

เมื่อวันที่ 16 มกราคม นายนิพนธ์ จันทเวช เลขาธิการสภาทนายความและโฆษกสภาทนายความ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีนางวัฒนา คงงาม อายุ 56 ปี ชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์ ค้ำประกันซื้อรถมอเตอร์ไซค์ 8 หมื่นบาท โดยให้ทนายความช่วยว่าความให้ แต่นางวัฒนาอ้างทนายความดังกล่าวยึดบ้านและที่ดิน 14 ไร่ ของตนเอง ซึ่งล่าสุดมีการไกล่เกลี่ยเสร็จสิ้น ว่า สรุปข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามที่นางวัฒนากล่าวอ้าง โอละพ่อ ทนายที่ถูกกล่าวหานั้นไม่ได้เป็นทนายของนางวัฒนา และไม่ได้มอบให้ทนายไปดำเนินการ ไม่เคยรู้จักกัน การฟ้องคดีบังคับคดีเป็นไปตามกฎหมายถูกต้องทุกอย่าง ซึ่งนางวัฒนาได้มาร้องที่สภาทนายความฯ จ.บุรีรัมย์ ประธานสภาทนายความ จ.บุรีรัมย์ ได้ให้ความช่วยเหลือดูแลไกล่เกลี่ย โดยไปไกล่เกลี่ยกันที่สำนักงานบังคับคดี จ.บุรีรัมย์ สาขานางรอง

“คุณป้าก็ได้ขอโทษทนาย ที่พูดความจริงไม่หมด ซึ่งทางสภาทนายความ จ.บุรีรัมย์ และสำนักงานบังคับคดี จ.บุรีรัมย์ และคุณป้าก็ช่วยกันไกล่เกลี่ย สามารถตกลงกันได้ โดยคุณป้าซื้อคืน ทนายความก็ยินดีขายคืนในราคาที่ซื้อมาจากสำนักงานบังคับคดี เพราะทนายเขาซื้อมาในนามบุคคลภายนอก เป็นบุคคลภายนอกที่เข้าไปซื้อแต่เป็นทนายเท่านั้นเอง เป็นความจริงที่คุณป้าพูดไม่หมด ท่านก็ขอโทษทนาย ตกลงกันว่าทางคุณป้าซื้อคืนในราคาที่ทนายผู้ถูกกล่าวหาซื้อมา ในราคา 340,000 บาทเศษ และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกิดขึ้น คุณป้าก็ต้องจ่าย คือค่าธรรมเนียมโอนคืน จะไปดำเนินการชำระคืนให้ทนายภายใน 3 เดือน ทำบันทึกกันที่สำนักงานบังคับคดี จ.บุรีรัมย์ สาขานางรอง” นายนิพนธ์ กล่าวและว่า ก่อนหน้านี้ที่นางวัฒนาพูดความจริงไม่หมด ทนายความเสียหายก็ไปฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายกับนางวัฒนาที่ศาล เมื่อตกลงกันได้แล้วก็จะไปถอนคดีให้

ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการค้ำประกันซื้อรถมอเตอร์ไซค์ 8 หมื่นบาท เป็นเรื่องจริงหรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า คดีเรื่องจริงหมด ตั้งแต่ปี 2560 มีการฟ้องคดีทั้งผู้ซื้อผู้ค้ำมา โดยนางวัฒนารู้ว่าถูกฟ้อง และได้มอบอำนาจให้ญาติไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาล ไม่เกี่ยวข้องกับทนายคนที่ถูกร้อง โดยไปทำสัญญาผ่อนกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อที่ศาล หลังจากทำสัญญาแล้ว ฝ่ายผู้เช่าซื้อกับนางวัฒนาที่เป็นผู้ค้ำประกันก็ไม่ได้ชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นเหตุให้บริษัทออกหมายบังคับคดี แล้วไปบังคับคดี สืบทรัพย์ผู้เช่าซื้อ ผู้ค้ำประกัน ลูกหนี้จำเลยในคดีที่ทำสัญญามีทรัพย์สินหรือไม่ ก็ปรากฏว่าทางบริษัทสืบพบจากสำนักงานที่ดินว่าทางผู้เช่าซื้อไม่มี แต่ผู้ค้ำประกันมีที่ดินพิพาทที่เป็นข่าว ติดจำนอง ธ.ก.ส.อยู่ 8 แสนบาทเศษ ทางโจทก์ประเมินแล้วเอามาขายราคาก็จะคุ้มอยู่ จึงให้ทนายของบริษัทไปยึด ก็ต้องมีการขายทอดตลาด

นายนิพนธ์ อธิบายต่อไปว่า สำนักงานบังคับคดีจะประกาศขาย 4 นัด ห่างกันประมาณนัดละ 1 เดือน 4 นัดแรกนางวัฒนาไปดูทุกครั้ง เพียงแต่ไม่มีคนซื้อ จนประกาศนัดที่ 5 ราคาหล่นมาประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ของราคาประเมิน ทางทนายผู้ถูกร้องเห็นว่าซื้อได้ เขาเป็นบุคคลภายนอกไปซื้อตามปกติ ก็ไปไถ่ถอนจดทะเบียนโอน ตามหลักกฎหมายเมื่อซื้อได้จากการขายทอดตลาด กฎหมายใหม่ไม่ต้องไปฟ้องขับไล่เป็นคดีใหม่ เพียงแต่ผู้ที่ซื้อได้สามารถยื่นคำขอต่อศาลขอให้ออกคำบังคับให้ออกไปได้เลย ศาลจะส่งหมายไปให้ผู้ที่ยังคงอยู่ คือนางวัฒนา จำเลย ให้ออกภายใน 30 วัน ถ้าปิดหมายเพิ่มอีก 15 วัน หากครบกำหนดแล้วไม่ออก เป็นเรื่องของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ต้องไปดำเนินการ ในขั้นตอนนี้ที่เกิดเป็นเรื่องราวขึ้น ทางทนายก็ได้รับความเสียหาย

Advertisement

เมื่อถามว่าที่มีการอ้างทนายขายคืน 4 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องจริง นายนิพนธ์ กล่าวว่า ไม่จริง ข้อเท็จจริงมีปลีกย่อยอีกว่านางวัฒนานำที่ดินนี้ไปขายปากเปล่าให้กับบุคคลอีกหลายคน แบ่งขาย ผู้ซื้อก็ต้องเสี่ยงภัย การซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์จะถูกต้องตามกฎหมายต้องทำที่สำนักงานที่ดิน ถ้าซื้อปากเปล่าเป็นโมฆะ ต้องดูข้อเท็จจริงส่วนนั้นอีกว่าผู้ซื้อทราบข้อเท็จจริงนี้หรือไม่ ถูกยึดแล้วมีการขายก่อนยึดหรือหลังยึด ต้องตรวจสอบกันต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีตกลงกันได้ ทางทนายรับเงินคืนและโอนคืนก็คงจบกันด้วยความปรองดอง

“ทางสภาทนายความฯ ก็ขอขอบคุณสำนักงานบังคับคดี จ.บุรีรัมย์ สาขานางรอง สภาทนายความฯ จ.บุรีรัมย์ โดยประธานสภาจังหวัดและคณะกรรมการที่ช่วยเหลือ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการไกล่เกลี่ยตกลงกัน ซึ่งจะว่าไปแล้วเดี๋ยวนี้นโยบายรัฐบาลก็มีนโยบายเรื่องการไกล่เกลี่ยอยู่ เราก็ช่วยเรื่องการไกล่เกลี่ยในส่วนนี้ด้วย” เลขาธิการสภาทนายความ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image