ปอศ.เผย สถิติจับ 111 บริษัท ซอฟต์แวร์เถื่อน เสียหาย 200 ล้าน ต้นตอมัลแวร์ป่วนธุรกิจ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ต.อ.ปภัชเดช เกตุพันธ์ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (รอง ผบก.ปอศ.) เปิดเผยรายงานผลการจับกุมของ บก.ปอศ.ในรอบปี ว่า ผลการบุกจับและดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจ 111แห่ง พบใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ มูลค่าความเสียหายเกือบ 200 ล้านบาท ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์จำนวนกว่า 1,100 เครื่อง ส่วนหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ บก.ปอศ. กำลังเร่งเครื่องปราบปรามองค์กรธุรกิจ เพื่อลดการใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ สาเหตุหนึ่งของการถูกมัลแวร์โจมตี ที่กำลังสร้างความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและความมั่นคงปลอดภัย

“จากรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ถูกจับและดำเนินคดีอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง วิศวกรรมและออกแบบ ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และนครปฐม เป็นต้น ราวร้อยละ 86.9 มีคนไทยเป็นเจ้าของ ส่วนที่เหลือมีชาวต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้น เช่น ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย อเมริกัน อิสราเอล และสวีเดน ทั้งนี้การเข้าตรวจค้น จับ และดำเนินคดี เกิดขึ้นทุกวัน การใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังและกำลังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาสำคัญ และเราจำเป็นต้องแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านการบังคับใช้กฎหมายไปพร้อมกับการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงด้านกฎหมายและความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์หรือของระบบคอมพิวเตอร์ ที่เกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ” พ.ต.อ.ปภัชเดชกล่าว

รอง ผบก.ปอศ. กล่าวต่อว่า ในบรรดาองค์กรธุรกิจที่ถูกจับและดำเนินคดี มีบริษัทจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างรายใหญ่ ที่มีสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และนครปฐม พบซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ 45 เครื่อง นอกจากนี้ยังพบโรงงานผลิตแบบพิมพ์ไดคัท ของผู้ถือหุ้นชาวไทยและญี่ปุ่นในจังหวัดสมุทรปราการ ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนเครื่องคอมพิวเตอร์ 41เครื่อง ซอฟต์แวร์ของบริษัทไมโครซอฟท์ และไทยซอฟท์แวร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ถูกพบละเมิดลิขสิทธิ์ในบริษัทดังกล่าว

“ความเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์จากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ อาจทำให้องค์กรธุรกิจเสียหายด้านการเงิน ถูกละเมิดหรือขโมยข้อมูล ชื่อเสียงถูกทำลาย และอื่นๆ ซีอีโอและผู้บริหารควรต้องจัดการอย่างจริงจังเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว เพราะพวกท่านอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญาในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และความเสียหายอื่นที่ตามมาดังกล่าว” รอง ผบก.ปอศ.กล่าว

Advertisement

รอง ผบก.ปอศ. กล่าวด้วยว่า เร็วๆ นี้ บก.ปอศ. จะร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจัดทำโครงการรณรงค์ระดับประเทศประจำปี 2559 หัวข้อ ‘Safe Software, Safe Nation’ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขององค์กรธุรกิจให้หันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ไทยเป็นหนึ่งประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถลดอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิได้ชัดเจน ทั้งนี้ประชาชนรายงานการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ และหากพบเบาะแสสามารถแจ้งผ่านทางสายด่วน 0-2714-1010 หรือระบบออนไลน์ จะถูกเก็บเป็นความลับ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image