เปิด 7 เงื่อนไขรับอนุญาตฎีกาสุดเข้ม คดีทุจริตอัลไพน์ หลังศาลฎีกาไม่อนุญาต’ยงยุทธ’ฎีกาต่อ

“โฆษกศาล”เปิดเงื่อนไขรับอนุญาตฎีกาสุดเข้ม 7 ข้อ คดีทุจริตฯอัลไพน์ หลังศาลฎีกาไม่อนุญาต”ยงยุทธ”ฎีกาต่อ ชี้ วิ.อาญาฯคดีทุจริตฯเเตกต่าง วิ.อาญาทั่วไป

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขออนุญาตฎีกา ภายหลังศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกฯและรมว.มหาดไทย จำเลยฎีกาในคดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี ว่า

คดีนี้เป็นคดีที่ฟ้องภายหลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้วจึงต้องใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพ.ศ. 2559 มาบังคับซึ่งมาตรา 42 กำหนดว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุดหากคู่ความประสงค์จะฎีกาต้องปฏิบัติตามมาตรา 44 ที่กำหนดให้การฎีกาผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาด้วย

ซึ่งเหตุที่ศาลฎีกาจะพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ระบุไว้ในมาตรา 46 คือต้องเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยซึ่งรวมถึงปัญหาดังต่อไปนี้

Advertisement

(1) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ
(2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
(3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน
(4) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น
(5) เมื่อจำเลยต้องคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
(6) เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วอาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
(7) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาซึ่งข้อบังคับของประธานศาลฎีกาได้กำหนดปัญหาสำคัญอื่นเพิ่มเติมอีก 2 กรณีคือ
(1)คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีความเห็นแย้งในสาระสำคัญ
(2) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทยส่วนเรื่องการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาก็เป็นสิทธิที่จำเลยพึงกระทำได้ซึ่งหากมีการยื่นขอปล่อยชั่วคราวมาทางองค์คณะก็จะเป็นผู้พิจารณาคำร้องดังกล่าวว่าเห็นควรส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยหรือพิจารณามีคำสั่งได้เลย

นายสุริยัณห์ อธิบายเพิ่มว่า สำหรับคดีอาญาทั่วไปหรือเป็นกรณีที่ฟ้องก่อนจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบก็จะต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งบัญญัติไว้ว่า หากคู่ความจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงต้องปฏิบัติตามมาตรา 221 ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218,219เเละ220 แห่งประมวลกฎหมายนี้ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาหรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป

ส่วนคดีนายยงยุทธนี้ เป็นคดีที่ต้องใช้พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ฯ ซึ่งเมื่อศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก2 ปีซึ่งต้องห้ามคู่ความคือห้ามทั้งโจทก์และจำเลยฎีกา ตรงนี้การยื่นฎีกาได้จะต้องขออนุญาตฎีกาซึ่งจะต้องใช้ผู้พิพากษาศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตเเละจะต้องเข้าเงื่อนไขตามที่กล่าวไว้ข้างบน ซึ่งจะมีความเเตกต่างกับการรับรองฎีกาใน ป.วิอาญาที่เพียงใช้ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์ที่พิจารณาหรือลงลายมือชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งพิจารณาและอนุญาตให้ฎีกาหรือให้อัยการสูงสุดรับรองฎีกา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ด่วน! ‘ยงยุทธ วิชัยดิษฐ’ เข้าเรือนจำ คุก 2 ปีไม่รอลงอาญา หลังศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกาคดีที่ดินอัลไพน์

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image