ปธ.ศาลฎีกาเยี่ยม 8 ศาลขอนแก่น รุกให้ 5 นโยบายราบรื่น สู่’ยุติธรรมสีเขียวยั่งยืน’

ประธานศาลฎีกาตรวจราชการ 8 หน่วยงานศาลภาค4 ขอนแก่น ย้ำนโยบาย’ปล่อยตัววันหยุด-พิพากษารอบคอบ-เทคโนโลยีมาใช้-พัฒนาบุคลากร-สร้างกรีนคอร์ท’ให้ราบรื่น สู่’ยุติธรรมสีเขียวยั่งยืน’

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา และคณะ เดินทางมาตรวจราชการและรับฟังผลการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานของศาลยุติธรรมในจังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลจังหวัดชุมแพ ศาลจังหวัดพล ศาลแขวงขอนแก่น และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น รวม 8 หน่วยงาน

โดยมี นายปกิต สุวรรณพรหมา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 นายสันทัด สุจริต อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 นายกัมปนาท วงษ์นรา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 พร้อมด้วยผู้พิพากษาหัวหน้าศาล คณะผู้พิพากษา ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ ประธานศาลฎีกาได้ปลูกต้นรวงผึ้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นด้วย

นายไสลเกษ กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาตรวจเยี่ยมศาลในภาค 4 คือ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลจังหวัดชุมแพ ศาลจังหวัดพล ศาลแขวงขอนแก่น และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ที่อยู่ในสังกัด รวม 8 หน่วยงาน เพื่อรับฟังสภาพการทำงานและปัญหาอุปสรรคของแต่ละศาลในระยะเวลาที่ผ่านมา ในการบริหารจัดการคดีทั้งหลายมีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง และเรื่องอะไรที่ยังไม่เข้าใจในนโยบาย เพราะตนเพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่นาน และได้ออกนโยบายใหม่ๆเพิ่มมาหลักๆ คือ 5 ข้อ และต้องการจะสอบถามผู้ปฏิบัติเหมือนกันว่าเข้าใจนโยบายที่เราต้องการแค่ไหน

นายไสลเกษ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่เร่งด่วนขณะนี้ที่คิดว่าอยากจะให้ การดำเนินการตามนโยบายราบรื่น คือการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีวันหยุด ตรงนี้เป็นความคาดหวังประชาชนที่อยากได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เพราะฉะนั้นผจึงได้เดินทางมาซักซ้อมว่าทางภาค 4 มีปัญหาหรือไม่ การที่จะปฏิบัติตามนโยบายนี้ และได้เอาบทเรียนจากหลายๆสถานที่ได้ ทำในช่วงที่ผ่านมานี้เอามาชี้แนะและแนะนำให้ทุกศาลในสังกัด ได้ระมัดระวังและแก้ไขปัญหาสิ่งหนึ่งที่ ได้เรียนให้ศาลได้รับทราบ คิดว่าน่าจะจุดประกายที่จะเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้าน คือทำอย่างไรจะเอาคนจน ที่ติดคุกโดยไม่จำเป็น และระหว่างรอการพิจารณาออกจากคุกให้ได้ เราก็ได้ใช้ต้นแบบที่ศาลจังหวัดเมืองกาญจน์ เคยทำคือเป็นการทำงานเชิงรุก ผู้พิพากษาเข้าไปในคุกไปสัมภาษณ์ จำเลยที่ต้องขังอยู่ระหว่างพิจารณาคดีว่าทำไมถึงไม่ขอประกันตัวทั้งๆที่เป็นคดีที่ไม่ได้ร้ายแรง ซึ่งได้รับคำตอบต่างๆนานาสรุปว่า 1 ไม่รู้ว่าประกันตัวได้ อันนี้คือคนยากคนจนความด้อยโอกาสของเขา อย่างที่ 2 คือไม่มีสตางค์ อันที่ 3 มีเงินแต่ไม่มากต้องเก็บหอมรอมริบไว้ ดูแลครอบครัวหรือให้ลูกได้เรียนหนังสือ

“อย่างนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่ามันเป็นปัญหาที่น่าเห็นใจ และได้ถามผู้ต้องขังว่าอยากออกไหม ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากได้เสรีภาพหมด ก็เลยได้เอาคำร้องไปให้เขายื่นขอประกันตัว และเราก็ดูบนพื้นฐานที่เขาอยากขอประกันตัวเราเอาแบบฟอร์มที่เราทำงานวิจัย ประเมินความเสี่ยงในการที่เขาจะหลบหนีว่ามีมากน้อยแค่ไหน สัมภาษณ์เก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหาและทางแบบก็ประเมินออกมาเป็นค่าของความเสี่ยงว่าจะหนีหรือไม่ เสร็จแล้วก็พบว่า 70 กว่าคน ที่โดนขังระหว่างพิจารณา มีค่าความเสี่ยงต่ำกว่าครึ่ง ก็ส่งแบบประเมินให้ศาลผู้พิพากษาพิจารณา ท่านก็สั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยที่ไม่ต้องมีหลักประกัน ซึ่งวันนั้นมีคำร้องยื่นและสัมภาษณ์ไป 70 กว่าราย สามารถปล่อยออกมาได้ในวันเดียวโดยที่ไม่ต้องมีหลักประกัน 54 ราย อันนี้คิดว่ามันเป็นการทำงานเชิงรุกของศาลที่ให้โอกาสกับคนที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่าผิด ให้เขาออกมาใช้ชีวิตตามปกติและต่อสู้คดีได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็อธิบายให้ทางผู้ต้องหาฟังว่าถ้าได้รับโอกาสแล้วอย่าทำลายโอกาสคืออย่าหนี เพราะการหนีคือการทำลายโอกาสไปโดยปริยายและไม่คุ้มที่จะหนี อย่างนี้เป็นต้น และโครงการตอนนี้เราก็เอามาแนะนำให้กับศาลต่างๆที่อยู่ในภาค 4 ลองใช้เชิงรุกดู อาจจะมีโอกาสได้ทำบุญคือสงเคราะห์ให้คนที่ยากจนทั้งหลาย สามารถจะออกมาจากคุกได้ไม่ต้องถูกขังโดยไม่จำเป็น ก่อนมีคำพิพากษา”นายไสลเกษกล่าว

Advertisement

นายไสลเกษกล่าวอีกว่า ในส่วนของ 5 นโยบาย ที่ได้ออกมาเพิ่มเติมคือเรื่องที่ 1 เรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวที่พูดไปแล้วเรื่องที่ 2 คือการที่จะยกระดับคุณภาพของการพิจารณา และการทำพิพากษาให้ดีขึ้นให้มีประสิทธิภาพขึ้นเพื่อให้ผู้พิพากษาได้พิจารณาพยานหลักฐานสำนวนต่างๆโดยละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ ทุกวันนี้เราทำคดีได้เร็วตามเป้าหมายที่วางแผนไว้แต่เราก็มีข้อสังเกตว่าเร็วต้องยุติธรรมต้องละเอียดต้องรอบคอบ คิดว่านโยบาย ข้อที่ 2 นี้ ที่ให้ทางผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดีโดยรอบคอบ จำเป็นและต้องให้ทุกคนมีทัศนคติที่ดี ว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการความเป็นธรรมที่มีคุณภาพ ข้อที่ 3 เราเอาเรื่องส่งเสริมเรื่องการเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้ คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีมีโอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีในการฟ้องศาล หรือว่าขอข้อมูลต่างๆในคดีก็ดีง่ายขึ้น เรื่องนี้ เป็นเพียงทางเลือกถ้าประชาชนคนไหนหรือชาวบ้านเข้าถึงเทคโนโลยีไม่ได้ก็ใช้วิธีการปกติแต่เราจะอำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคดีให้มากยิ่งขึ้น อย่างบางคนถูกฟ้องหรือฟ้องคดีไม่รู้เลยว่าคดีไปถึงไหนข้อมูลทางเทคโนโลยีจะให้เขาสามารถติดตามได้ว่าสถานะของคดีเป็นอย่างไรและเราเอามาใช้ในเรื่องให้ผู้พิพากษาและบุคลากรในศาลใช้เทคโนโลยีในการทำงานได้รวดเร็วขึ้นแม่นยำขึ้น

ข้อ 4 ก็คือ การพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญโลกเปลี่ยนเร็วมาก บุคลากรในศาลไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษาหรือธุรการก็ดีต้องให้ทันโลกทันเหตุการณ์ ส่งเสริมให้มีโอกาสได้อบรมในโครงการต่างๆได้เรียนรู้โครงการต่างๆมากขึ้นขณะเดียวกันก็ ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของเจ้าหน้าที่ด้วยความรู้ความสามารถจริงๆเราคิดว่าองค์กร จะมีคุณธรรมหรือมีการพัฒนาได้ข้าราชการหรือบุคลากรในหน่วยงานมีความมั่นใจว่าบุคคลที่ทำงาน เป็นคนดีสมควรได้รับการส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้า และข้อที่ 5 คือการสร้างศาลสีเขียว”กรีนคอร์ท” คิดว่าศาลควรจะมีความรับผิดชอบในการส่งเสริมให้ สร้างสิ่งแวดล้อมในประเทศนี้ซึ่งทุกวันนี้เป็นที่ตระหนักและยอมรับว่าไฟไหม้ในแต่ละที่ต่างๆทั่วโลกควันพิษฝุ่นพิษต่างๆเกิดจากมนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้นและสารคิดว่าควรจะมีบทบาทนำในเชิงสัญลักษณ์กับสาธารณะ ถ้าศาลมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้สร้างความสีเขียว สร้างป่าให้กับบ้านเมืองเรา ก็จะมีส่วนช่วยและกรีนคอร์ทในที่นี้หมายถึงการ สร้างความยุติธรรมให้มีความยั่งยืน รักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดและรักษาหลักนิติธรรม อันนี้คือ’กรีนจัสติก’คือความยุติธรรมสีเขียวที่ยั่งยืน อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการให้ ศาลมีความเป็นธรรมจริงๆ

นายไสลเกษได้กล่าวถึงผู้ไต้บังคับบัญชาที่รู้สึกถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาว่า สำหรับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ในระบบบ้านเรา มีศาลปกครองถ้าคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งออกไปไม่ถูกไม่ชอบหรือว่าไม่มีจริยธรรม กฎหมายก็เปิดช่องให้ ร้องเรียนทางด้านวินัยได้อยู่แล้วและอีกส่วนหนึ่งก็คือสามารถจะไปฟ้องศาลปกครองเพื่อถอนคำสั่งเพราะคำสั่งในการแต่งตั้งในการโยกย้ายหรือคำสั่งต่างๆที่ไม่เป็นธรรม ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งมีระบบศาลที่จะพิสูจน์กันได้อยู่แล้ว สำหรับคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชาการแกล้งหรือไม่ เราต้องมาดู ว่า ถ้าเป็นการกลั่นแกล้งในลักษณะที่ไม่ใช่เป็นการกระทำในการปกครองก็จะเป็นการเรื่องของการละเมิดธรรมดาถ้าเป็นเรื่องของการละเมิดธรรมดาเราก็มาที่ศาลยุติธรรม ทั้งนี้ต้องแยกเรื่อง แล้วต้องหาความรู้เหมือนกันว่า คดีประเภทไหนอยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาของศาลปกครองหรือคดีไหนจะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรม ในหลักการแล้วถ้าผู้ใต้บังคับบัญชามีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกรังแกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะขอคุ้มครองได้แต่ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่รังแกหรือไม่ให้ความเป็นธรรมหรือไม่เป็นเรื่องที่คนที่เป็นกลางคือศาลจะฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งเพราะบางครั้งการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะมีความขัดแย้งกันแต่ละฝ่ายก็คงจะมีอคติคิดว่าอีกฝ่ายไม่ให้ความเป็นธรรมกับตัวเอง

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image