สกู๊ปหน้า1: สนง.ศาลฯ ยกระดับ อารักขา‘ผู้พิพากษา’

เหตุอุ้มฆ่า วีรชัย ศกุนตะประเสริฐ อายุ 67 ปี พี่ชายของ พนิดา ศกุนตะประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นเหตุสะเทือนขวัญในกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นอย่างมาก

เพราะมูลเหตุอาชญากรรมร้ายแรงครั้งนี้มุ่งประสงค์กระทำไปเพื่อต่อรองคดีหวังบังคับขู่เข็ญให้น้องสาวในฐานะเจ้าของสำนวนคดีโอนการหุ้น ชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือ เสี่ยจืด ที่ถูกโอนไปยังบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ ให้ยกฟ้องจำเลยด้วย เนื่องจากเห็นว่ามีกันแค่สองพี่น้องจึงสร้างเงื่อนไขมาบีบคั้น

เหตุการณ์อุ้มไปฆ่าจึงเกิดขึ้นอย่างอุกอาจที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

แน่นอนได้สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้พิพากษาทั่วประเทศ

Advertisement

สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ผู้พิพากษามีการตื่นตัวมากมีการสอบถามเข้ามาทั้งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และสำนักคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) เนื่องจากเป็นเหตุที่ไม่เคยเกิดมาก่อนมีการข่มขู่ต่อรองคดี

“ท่านประธานศาลฎีกาให้ความสำคัญมากเพราะเป็นเรื่องกระทบต่อความเป็นอิสระและความเป็นกลางของผู้พิพากษาในการทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี เมื่อเหตุแบบนี้เกิดขึ้นมา ผมเชื่อว่าต่อไปหากมีการพิจารณาคดีของผู้มีอิทธิพลหรือข้าราชการระดับสูง ผู้พิพากษาองค์คณะ เจ้าของสำนวนหรือผู้บริหารศาล ก็จะแจ้งเข้ามาเพื่อให้เราส่งพนักงานตำรวจศาลไปคุ้มกัน”

เลขาฯศาลในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วย “เจ้าพนักงานตำรวจศาล” หรือคอร์ทมาร์แชล บอกว่า ที่ผ่านมาก็มีการขอกำลังเข้ามาไม่ว่าจะเป็นที่ศาลอาญา หรือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เนื่องจากคดีเหล่านี้ ผู้บริหารหรือผู้พิจารณาคดีในศาลนั้นจะทราบว่าคดีไหนมีโอกาสที่จะเกิดเหตุร้ายขึ้นได้

อย่างเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ได้รับรายงานข่าวกรองว่าจะมีการชิงตัวจำเลยในศาลอาญาตลิ่งชัน ซึ่งคดีนี้จำเลยเป็นคนมีสี เป็นตำรวจเก่าเชี่ยวชาญการใช้อาวุธ ข่าวกรองที่ได้มาว่าจะมีการส่งอาวุธและเตรียมตัวที่จะแย่งชิงตัวจำเลย จึงมีการวางมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุแบบที่ศาลพัทยา

Advertisement

โดยการวางกำลังคุ้มกันดักไว้ ตรงนี้จะเห็นว่าระบบการข่าวมีความจำเป็นและสำคัญมาก เพราะหากคนร้ายจะลงมือจะต้องมีการนัดแนะวางแผนหลบหนีล่วงหน้าถึงจะส่งอาวุธเข้าไปได้ ต่อไปทุกครั้งที่มีกลุ่มจำเลยกลุ่มเสี่ยงคดีนี้ขึ้นศาล จะส่งกำลังไปอีกเพราะถือว่าได้เบาะแสและมีข้อมูลการข่าว

‘สราวุธ’ ขยายเพิ่มเติมว่า ต่อไป ‘ตำรวจศาล’ จะต้องมีการวางระบบยกมาตรฐานกำชับมาตรการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรื่องการข่าวได้ตระหนักดีว่าการหาข้อมูลจะต้องมีแหล่งข่าว จึงประสานกับหน่วยข่าวกรองที่ประสานบูรณาการทั้งตำรวจ ทหาร ราชทัณฑ์และหน่วยราชการอื่น ที่มีข้อมูล จะแลกเปลี่ยนกัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากของศาลเองมี พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา อดีตรอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นกรรมการสำนักคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) มาเป็น ประธานกรรมการให้การอบรมมาช่วยวางระบบว่าจะดำเนินการอย่างไร ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องจะต้องนัดมาทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางว่าจะทำอย่างไรที่จะได้ข้อมูลข่าวสารเพื่อที่จะนำไปดูแลความปลอดภัยของสถานที่และบุคคล

อย่างในโครงสร้างของ “ตำรวจศาล” จะให้มีหน่วยที่วิเคราะห์เรื่องข้อมูลข่าว เรียกว่าจะมีทั้งหน่วยป้องกัน หน่วยตามจับ และหน่วยวิเคราะห์ข้อมูล แต่ลักษณะการทำงานในขนาดนี้ยังเป็นทีมเล็กๆ ที่ยังไม่แบ่งหน้าที่ชัดเจน เนื่องจากมีจำนวนน้อย แต่ก็ต้องมีประสิทธิภาพตำรวจศาลคนเดียวต้องทำได้หลายอย่าง ส่วนในอนาคตจะแยกหรือไม่นั้นต้องดูจำนวนกำลังของตำรวจศาลตอนนี้มีน้อยอยู่หากแยกไปจะไม่มีประสิทธิภาพ
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องสมรรถภาพในครั้งแรกที่มีการบรรจุตำรวจศาล 35 คน มีการส่งบางส่วนไปดูงาน US. Court Marshal ที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นต้นแบบที่มีประสิทธิภาพมาก การฝึกฝนอบรมคุ้มกันดูแลผู้พิพากษาของหน่วยนี้ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับหน่วยที่มีหน้าที่ดูแลประธานาธิบดี จึงส่งตำรวจศาลไปดูว่ามีการฝึกฝนอย่างไร

และเดือนมีนาคมนี้ US. Court Marshal ก็จะเดินทางมาเยี่ยม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและควรจะปรับปรุงอะไรบ้าง ยืนยันตำรวจศาลมีระบบฝึกการอบรมที่จะใช้งานได้ อย่างเวลาเกิดเหตุที่จะต้องคุ้มกัน ตั้งเป้าหมายไว้ว่าการอารักขาผู้พิพากษาในศาลมาตรฐานจะต้องเทียบเท่าบุคคลสำคัญในประเทศอย่างผู้นำฝ่ายรัฐบาลต่อไป ตำรวจศาลต้องมีประสิทธิภาพและสมรรถภาพให้เท่าหน่วยพิเศษของตำรวจและทหาร
ผู้บังคับบัญชาสูงสุด “คอร์ทมาร์แชล” ระบุถึงสิ่งที่ต้องการตอนนี้ว่า พนักงานตำรวจศาลมีครั้งแรกวันที่ 5 สิงหาคม 2562 มีเพียง 35 คน ถ้าเทียบจำนวนศาลทั่วประเทศ 270 กว่าศาล การดูแลความปลอดภัยทั้งอาคารสถานที่และบุคคลยังไม่เพียงพอ โดยหลังจากเกิดเหตุชิงตัวจำเลยที่ศาลจังหวัดพัทยาและยิงในศาลจังหวัดจันทบุรี ทางสำนักงานศาลได้เสนอขอเพิ่มอัตรากำลังจากเดิมที่มีการอนุมัติ 309 อัตรา เพิ่มเป็น 1,182 อัตรา ซึ่ง ก.ศ.และประธานศาลฎีกาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ต้องรอฝ่ายบริหารเห็นชอบ

ส่วนในปีนี้ถ้าได้ตำรวจศาลอีก 309 อัตราก็เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ แต่ถ้าถามว่าพอหรือไม่ บอกเลยว่าไม่พอ อยากได้มากกว่านี้ แต่ถึงจะได้ ก็ต้องมีแผนในการดำเนินการก่อนที่จะบรรจุแต่งตั้ง จะต้องฝึกอบรมให้มีคุณภาพด้วย แต่อัตรากำลังควรจะต้องเพิ่มขึ้นตามปริมาณงาน
“ทุกวันนี้ศาลยุติธรรมมีคดีประมาณ 2 ล้านกว่าคดี ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณงานที่เยอะมากตำรวจศาลต้องดูแลพนักงานเจ้าหน้าที่อีกเป็นหมื่นคนรวมถึงสถานที่ 270 กว่าศาลทั่วประเทศ ตรงนี้ถือเป็นภารกิจที่หนักมาก ในเดือนเมษายนหลังจากได้บรรจุชุดใหม่ จะส่งตำรวจศาลไปดูแลบุคลากรในศาลทั่วประเทศอาจจะเป็นศาลละ 1-2 คน แต่ด้วยอัตรากำลังเพียงแค่นี้ในเรื่องการประสานขอกำลังจากตำรวจทหารหรือ ตชด. ในต่างจังหวัด หรือการขอกำลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยจากเรือนจำในเขตกรุงเทพมหานครก็ยังมีความจำเป็นอยู่ แต่ตรวจศาลจะเป็นคนวางระบบให้มันดีขึ้น” เลขาฯศาลกล่าว

“สราวุธ” ยังขยายเพิ่มเติมอีกว่า นอกจาก ‘คน’ แล้วสิ่งที่เพิ่มคือ ‘การวางระบบ’ ตั้งแต่อาคารสถานที่จะมีความสำคัญมาก การส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องพิจารณาถึงเส้นทาง ว่าต้องไม่ปะปนกับประชาชนหรือผู้พิพากษาเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการส่งอาวุธตรงนี้คือต้องมองตั้งแต่โครงสร้าง และระบบการตรวจจับอาวุธต้องเพียงพอใช้งานมีประสิทธิภาพ

“ที่สำคัญอีกอย่างคือ กล้องวงจรปิดที่ต้องมีการวางไว้ที่ชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน ซึ่งต้องวางระบบเพื่อให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเหตุการณ์อุ้มลักพาตัวพี่ชายผู้พิพากษาที่สามารถจับกุมคนร้ายได้ก็มาจากกล้องวงจรปิด จึงควรติดกล้องวงจรปิดเพิ่มจำนวนมากโดยเฉพาะในศาลอาญาเพื่อมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเดือนมีนาคมโครงการติดกล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาคดีน่าจะเสร็จสิ้นเรียบร้อย ต่อไปใครมีจุดมุ่งหมายไม่ดีเดินเข้าศาลอาญามาจะทราบการเคลื่อนไหว โดยมีห้องคอนโทรลที่จะมอนิเตอร์ดูได้หมด”

แม้จะมีการวางระบบดูแลความปลอดภัยอย่างหนาแน่น แต่ความเสี่ยงของคนที่ทำหน้าที่พิพากษาก็ยังมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนไปเจอสถานการณ์แบบไหน

ดังนั้น ถ้าใครกังวลเรื่องความปลอดภัย “สราวุธ” บอกว่า ให้แจ้งมายังสำนักงานศาลยุติธรรม

ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ “ตำรวจศาล” มีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยให้ผู้พิพากษา เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจและทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มกำลัง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image