‘เดย์ โพเอทส์’ จุดกระแสตื่นรู้ จัดเสวนา ‘ไม่ทนคนโกง’ ชวนสังคมไทยต้านทุจริต

‘เดย์ โพเอทส์’ จุดกระแสตื่นรู้ จัดเสวนา ‘ไม่ทนคนโกง’ ชวนสังคมไทยต้านทุจริต

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ห้องฟังก์ชั่นรูม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อาคารไปรษณีย์กลาง เขตบางรัก บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด จัดงานเสวนาในหัวข้อ “#ไม่ทนคนโกง NO MORE CORRUPTION ยิ่งเปิด ยิ่งโปร่งใส” เพื่อผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนงานภาครัฐ, ภาคเอกชน เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึง และตรวจสอบข้อมูลได้อย่างโปร่งใส

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI) กล่าวว่า สถานการณ์การทุจริตตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา คะแนนความโปร่งใสของไทยไม่ดีขึ้น ทั้งยังตกลงไป 2 คะแนน ในขณะที่ประเทศเวียดนามขยับขึ้น 6 คะแนน อินโดนีเซียขยับขึ้น 4 คะแนน ซึ่งเราคงต้องทบทวนกันว่า วิธีไม่ทนคนโกงควรจะต้องเป็นอย่างไร โดยจะขอเสนอ 4 วิธีได้แก่ 1.กฎหมาย 2.การเทศนา ปลูกจิตสำนึก 3.การออกแบบระบบ 4.พลังของประชาชนในการช่วยกันต่อต้าน ไม่ทนคนโกง อย่างไรก็ตามการใช้วิธีใดวิธีเดียวมักไม่ประสบความสำเร็จ ต้องร่วมกันทั้ง 4 ส่วน การลดคอร์รัปชั่นที่ได้ผลมากที่สุดคือการเปิดหน้าต่างให้แสงสว่างเข้ามา ให้มีการสังเกตการณ์จากภายนอก เช่น ในโครงการภาครัฐก็เปิดข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง เช่นนี้จะทำให้การทุจริตในภาครัฐทำได้ยากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เองก็มีหน้าที่ส่วนนี้ในการเปิดเผยทรัพย์สินของนักการเมือง ส่วนตัวตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดการเปิดเผยทรัพย์สินของนักการเมืองผ่านทางเว็บไซต์จึงมีเวลาระยะเวลาสั้นลง เหลือเพียง 6 เดือนเท่านั้น อีกทั้งเว็บไซต์ควรจะเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบไฟล์ที่สามารถนำไปใช้ได้ง่ายกว่านี้

“น่าเสียดายที่คะแนนประเทศไทยไม่ดีขึ้น ซึ่งเคยมีช่วงคะแนนสูง แต่เท่าที่จำได้ไม่เคยเกิน 50 คะแนน เราสอบตกมาโดยตลอด ซึ่งเราตั้งเป้าให้ได้ 50 คะแนน แต่ตอนนี้ยังไม่มีหวัง จึงขอเสนอว่าประเทศไทยควรยกระดับการต่อต้านคนโกงโดยใช้วิธีสถาปนิก คือ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น เปิดเสรีธุรกิจผูกขาด เปิดกระบวนการและข้อมูลของภาครัฐ คนมักเข้าใจว่าระบบที่ดีคือกฎหมายที่แรง แต่อยากจะบอกว่ากฎหมายแรงไม่ได้นำมาซึ่งระบบที่ดี เพราะระบบที่ดีคือการเปิดกว้าง ดังนั้น ระบบราชการควรจะต้องเปิดข้อมูลและมีการออกแบบระบบที่โปร่งใส นี่คือสิ่งแรกที่ประเทศไทยต้องทำ ทำระบบให้คุ้มครองคนดี” ดร.สมเกียรติกล่าว

Advertisement

นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คะแนนเราตก เรามักมองเรื่องรูปแบบการปกครองเป็นปัจจัยหลัก แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องพฤติกรรมของคน ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดผลข้างเคียง จึงชี้ขาดเรื่องรูปแบบเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ถามว่า ป.ป.ช.มีหน้าที่ทำอะไร ป.ป.ช.มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการเปิดเผย ตรวจสอบ และปลูกฝังวิธีคิดที่ถูกต้อง สำหรับการแก้ไขการทุจริตต้องใช้ 1.การปราบปราม 2.ป้องกัน และ 3.ปลูกฝัง ซึ่งขณะนี้เราประชุม 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อเร่งทำเรื่องการปราบปราม ในส่วนของการป้องกัน มีการเปิดเผยข้อมูลทางเว็บไซต์ บริการข้อมูลให้ประชาชนเข้าไปดูได้ นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพฤติกรรมคนในองค์กร และปฏิกิริยาจากภายนอกอีกด้วย

“ส่วนที่สำคัญที่สุดคือคนซึ่งหลักสูตรต้านโกงศึกษาจะเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้สังคมไทยไม่ทนต่อการทุจริต เริ่มจากการคำนึงก่อนทำ และต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนตัวอันดับสอง ซึ่งประเทศอื่นก็สร้างคนและลดคอร์รัปชั่นด้วยวิธีนี้ ในเอเชีย เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้คะแนนถึง 73 คะแนน เราพยายามจะออกแบบกฎหมาย ออกแบบระบบ แต่สุดท้ายปัจจัยสำคัญที่สุดคือคน ซึ่งภารกิจแรกคือ ป.ป.ช.กำลังร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมศีลธรรม อีกส่วนก็เป็นหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมาย ที่จะไม่สนับสนุนและร่วมมือในการทุจริต ดังนั้น ก่อนจะสร้างความสุจริต ต้องสร้างคนที่มีศีลธรรมก่อน โดย ป.ป.ช.เป็นแค่แกนกลาง ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะประเด็นการทุจริตต้องช่วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ” นายอุทิศกล่าว

Advertisement

นายนที เอกวิจิตร หรืออุ๋ย บุดดาเบลส ศิลปิน กล่าวว่า เรื่องการคอร์รัปชั่นมีการพยายามรณรงค์มาโดยตลอด แต่น่าสนใจว่าประเทศจีนที่ไม่มีประชาธิปไตยแต่ได้คะแนนสูงกว่าเรา แสดงว่าไม่ได้เป็นแค่ระบอบ แต่เป็นที่คน เรามีสารพัดวิธีที่จะปรับการทุจริต ฮ่องกงใช้ระยะเวลายาวนานในการปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ให้มองว่าเป็นการทุจริตเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ดังนั้น การออกแบบระบบมีประโยชน์อย่างมาก แต่บางครั้งก็เห็นว่า ต่อให้เขียนกฎหมายแรงอย่างไร ผลสุดท้ายประโยชน์ก็ไปตกกับผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย คนยินดีจ่าย เจ้าหน้าที่ยินดีรับ ดังนั้น การปลูกฝังจิตสำนึกและการเขียนกฎหมายประกอบอาจช่วยได้ แต่สิ่งที่ช่วยได้มากที่สุดคือประชาชน

“หลายคนออกมาต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่กลับกลัวสรรพากร กลัวการตรวจสอบ จะรอภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเริ่มจากครอบครัวด้วย ก่อนจะบอกว่าไม่ทนคนโกง ขอให้ย้อนมองตัวเราก่อน อีกประเภทคือ เราไม่ทำเขาก็ทำ นี่คือจุดเริ่มต้นของการโกง เมื่อเราไม่มีแผลก็จะกล้าวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มปาก

“แฮชแท็กบอกได้ในเชิงปริมาณและความถูกต้อง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่ที่วิจารณญาณ ในการหาข้อมูลให้ครบถ้วน เพราะทุกครั้งที่แสดงความคิดเห็นเราจะนำพาสังคม เหมือนบ่อน้ำ เราใส่อะไรลงไป เราต้องกิน คนอื่นก็ต้องกิน หากไม่มั่นใจ ไม่ต้องแชร์ก็ได้ หาข้อมูลให้แน่ใจก่อน และพยายามปราศจากอารมณ์ก่อนแชร์ หรือก่อนวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนี้ ปัญหาหลักคือคนที่สะสมประโยชน์กันมาอย่างยาวนาน การจะเปลี่ยนอะไรที่สะสมมาอย่างยาวนานต้องค่อยๆ เปลี่ยน อย่าหมดหวัง แม้ตัวเลขจะน่าหมดหวังก็ตาม เพราะชื่อว่าจะมีอะไรหลายๆ อย่างมาช่วยได้ การเปิดเผยข้อมูลในโซเชียลมีเดีย เพียงคลิกเดียวประชาชนก็สามารถสืบค้นหาข้อมูลมาแชร์ได้ ดังนั้น ในเรื่องการทุจริตจึงยังมีความหวังว่าเทคโนโลยีจะช่วยได้” นายนทีกล่าว

จากนั้น เวลา 15.15 น. มีการแสดงพิเศษจากศิลปิน จำนวน 4 บทเพลง ได้แก่ เพลง “ตั้งธงไม่ทนคนโกง” โดย ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) และบดินทร์ เจริญราษฎร์ (เป้ MVL), “ซื่อซื่อ” โดย วงพาราด็อกซ์, เพลง เหนื่อยที่จะยอม โดย ต่าย อรทัย และเพลง “โอ..คนไทยเอย” โดย ไผ่ พงศธร ซึ่งทั้ง 4 เพลง มีเนื้อหารณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อจุดกระแสสังคมที่จะไม่ทนต่อการทุจริต โดยครูสลา คุณวุฒิ นักประพันธ์เพลงชื่อดังร่วมพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง “เหนื่อยที่จะยอม” และ “โอ..คนไทยเอย” ในช่วงท้ายอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image