ขอออกหมายจับออนไลน์ กันโควิด เลขาฯศาลคลอดหลักเกณฑ์ ทำได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทาง

ขอออกหมายจับออนไลน์ ป้องกันโควิด-19 “สราวุธ” ออกหนังสือหลักเกณฑ์การขอ ออกหมายจับ-หมายค้น-การรับคำสั่ง ทางสื่อเทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ได้ออกหนังสือเวียนที่ ว.69 ลงวันที่ 26 มี.ค. 2563 เรื่องแนวทางปฏิบัติงานการยื่นคำร้องขอออกหมายจับและหมายค้นการรับคำสั่งการออกหมาย การร้องขอออกหมายจับและหมายค้นโดยทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจให้หน่วยงานในสังกัด สำนักงานศาลยุติธรรมนำนวัตกรรมที่สำนักงานศาลยุติธรรมเคยกำหนดให้ไปปฏิบัติแล้วมาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังและเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำวิธีการไต่สวนคำร้องขอออกหมายจับผ่านระบบการประชุมทางจอภาพมาปรับใช้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้น

เพื่อให้การดำเนินการออกหมายจับตามคำร้องของเจ้าพนักงานเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และลดการเดินทางมาศาล และเพื่อความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของบุคลากรในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้จัดทำแนวทางปฏิบัติงานการยื่นคำร้องขอออกหมายจับและหมายค้น การรับคำสั่ง การออกหมายการร้องขอออกหมายจับและหมายค้นโดยทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้การออกหมายจับและหมายค้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

Advertisement

ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดแนวทางปฏิบัติงานดังกล่าวได้ที่ http://www.oja.coj.go.th หรือผ่านคิวอาร์โค้ด ที่แนบท้ายหนังสือฉบับดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาสาระสำคัญของ แนวทางปฏิบัติงานการยื่นคำร้องขอออกหมายจับ และหมายค้น การรับคำสั่ง การออกหมายการร้องขอออกหมายจับและหมายค้นโดยทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะนี้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแทบทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไปสู่คู่ความ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี ประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาล และข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรมจึงสมควรกำหนดแนวทางปฏิบัติงานการยื่นคำร้องขอออกหมายจับและหมายค้น การรับคำสั่ง การออกหมายการร้องขอออกหมายจับและหมายค้นโดยทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ.2548 ข้อ 28-34 ดังนี้

1. การร้องขอออกหมายจับและหมายค้นทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ

Advertisement

1.1 ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนและมีเหตุอันควรซึ่งผู้ร้องขอไม่อาจไปพบผู้พิพากษาได้ผู้ร้องขออาจร้องขอต่อผู้พิพากษาทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่เหมาะสม เพื่อขอให้ศาลออกหมายจับหรือหมายค้นก็ได้ (ข้อ 28)

1.2 หากผู้ร้องขอเป็นตำรวจผู้นั้นต้องมียศตั้งแต่ขั้นพันตำรวจเอกขึ้นไป (ข้อ 29)

1.3 ในการวินิจฉัยคำร้องกรณีจำเป็นเร่งด่วน จะต้องได้ความปรากฏว่า การร้องขอออกหมายด้วยวิธีปกติจะเกิดความล่าช้าเสียหายต่อการปฏิบัติหน้าที่ และการจัดการตามหมายของผู้ร้องขอ ทั้งนี้ให้ผู้พิพากษาพิจารณาถึงข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ประกอบด้วย ( 1) ผู้ร้องขอไม่สามารถมอบหมายให้เจ้าพนักงานผู้อื่นร้องขอแทนได้ (2) ระยะทางระหว่างสถานที่ตั้งของหน่วยงานของผู้ร้องขอหรือสถานที่ที่ผู้ร้องขอกำลังปฏิบัติหน้าที่กับที่ตั้งของศาลอยู่ห่างไกลกันมาก หรือเส้นทางคมนาคมเป็นเส้นทางทุรกันดาร หรือการเดินทางยากลำบาก (3) มีเหตุหรือปัจจัยอื่นที่มีผลทำให้การร้องขอด้วยวิธีปกติทำได้ยากลำบากขึ้นและต้องใช้เวลานานกว่าปกติมาก เช่นความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศหรือภัยธรรมชาติเป็นต้น (ข้อ 32) ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันอาจถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนและมีเหตุอันควรที่สามารถดำเนินการได้

1.4 ให้เจ้าหน้าที่ศาลนัดหมายเวลาในการไต่สวนคำร้องดังกล่าว

2.รูปแบบคำร้อง

2.1 กรณีสามารถทำให้ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือได้
(1) ให้ผู้ร้องขอจัดทำคำร้องขอออกหมายจับผ่านระบบของหน่วยงานต้นสังกัดที่เชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลหมายจับของสำนักงานศาลยุติธรรม (AWIS) แล้วส่งคำร้องพร้อมแสดงเหตุแห่งความจำเป็นเร่งด่วนและเหตุที่ไม่อาจไปพบผู้พิพากษาได้ ข้อมูลและพยานหลักฐานรวมทั้งเอกสารต่าง ๆ ให้จัดส่งมาให้ผู้พิพากษาทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศโดยระบุรหัสประจำหน่วย หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร รหัสสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับติดต่อผู้ร้องขอ
(2) การยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายค้น ให้ผู้ร้องทำคำร้องพร้อมแสดงเหตุแห่งความจำเป็นเร่งด่วนและเหตุที่ไม่อาจไปพบผู้พิพากษาได้ พร้อมแสดงเหตุแห่งความจำเป็นเร่งด่วนและเหตุที่ไม่อาจไปพบผู้พิพากษาได้ ข้อมูลและพยานหลักฐานรวมทั้งเอกสารต่าง ๆ ให้จัดส่งมาให้ผู้พิพากษาทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยระบุรหัสประจำหน่วย หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร รหัสสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับติดต่อผู้ร้องขอ

2.2 กรณีไม่สามารถทำให้ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือได้ ให้ผู้พิพากษาจดบันทึกถ้อยคำของผู้ร้อง ขอรหัสประจำหน่วย และลงลายมือชื่อใส่ซองปิดผนึกไว้

3. การไต่สวนผ่านการประชุมทางจอภาพ แอปพลิเคชันอื่นใด หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น
3.1 เมื่อศาลเห็นควรให้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ แอปพลิเคชันอื่นใด หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ซึ่งสามารถถ่ายทอดภาพและเสียง ผ่านทางอุปกรณ์ถ่ายทอดสัญญาณภาพในรูปของกล้อง และอุปกรณ์ถ่ายทอดเสียงเพื่อส่งออกไปยังอีกจุดหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังผู้ร้องเพื่อนัดเวลาและเตรียมระบบดังกล่าว
3.2 ก่อนเริ่มไต่สวนคำร้องดังกล่าวให้ดำเนินการดังนี้ (1) ให้เจ้าหน้าที่สอบถามผู้ร้องถึงความพร้อมในการดำเนินการไต่สวน หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าระบบที่ใช้อยู่มีเหตุขัดข้องก็ให้รายงานเหตุนั้นต่อศาลโดยพลัน เพื่อให้ศาลพิจารณาเห็นสมควรนำวิธีระบบอื่นมาใช้ในการไต่สวนแทน (2) ให้ผู้ร้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ และยืนยันว่าตนเป็นผู้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับหรือหมายค้นตามคำร้องนั้น
3.3 ในระหว่างการไต่สวนให้ผู้ร้องดำเนินการดังนี้ (1) แต่งกายเครื่องแบบปฏิบัติราชการ หรือแต่งกายสุภาพเรียบร้อย (2) ห้ามบันทึกภาพหรือเสียง หรือกระทำการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน (3) แสดงต้นฉบับเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องต่อศาล เช่นสำนวนการสอบสวน (4) เบิกความและแสดงพยานหลักฐานต่อศาลอย่างครบถ้วนและตามความจริง
3.4 ในระหว่างการไต่สวนหากมีเอกสารที่ต้องยื่นและแสดงเพิ่มเติม ศาลอาจสั่งให้ผู้ร้องขอนำสำเนาเอกสารมายื่นต่อศาลเพื่อเก็บไว้ในสำนวนความในภายหลัง
3.5การสอบถามและไต่สวนให้เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อศาลสอบถามผู้ร้องหรือทำการไต่สวนพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ให้ศาลจดบันทึกถ้อยคำของผู้ร้อง ขอรหัสประจำหน่วย และจดบันทึกให้ปรากฏด้วยว่าได้สอบถามผู้ร้อง หรือทำการไต่สวนพยานหลักฐานผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ แอปพลิเคชันอื่นใด หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น และลงลายมือชื่อนำไปรวมกับเอกสารใส่ซองปิดผนึกไว้
3.6 เมื่อผู้พิพากษาออกหมายให้ตามขอ ให้แจ้งผู้ร้องขอด้วยว่าให้มาพบเพื่อสาบานตัวภายในระยะเวลาที่กำหนด ในการสาบานตัว ให้ผู้พิพากษาจดบันทึกถ้อยคำของผู้ร้องขอ หรือจะใช้เครื่องบันทึกเสียงก็ได้ โดยจัดให้มีการถอดเสียงเป็นหนังสือ ให้ผู้ร้องขอลงลายมือชื่อและลงลายมือชื่อของผู้พิพากษาไว้ บันทึกที่มีการลงลายมือชื่อรับรองดังกล่าวให้เก็บไว้ในสารบบศาล

4.การออกหมาย หากผู้พิพากษาเห็นสมควรออกหมาย ให้ลงรหัสพร้อมลายมือชื่อของตนลงในหมายต้นฉบับ แล้วแจ้งผู้ร้องขอให้รอรับสำเนาหมายทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น พร้อมกับแจ้งรหัสและผลของหมายด้วยเพื่อให้ผู้ร้องขอนำไปดำเนินการต่อไป

5. รหัสของผู้พิพากษาและรหัสประจำหน่วยของผู้ร้อง ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จัดให้มีรหัสของผู้พิพากษา และรหัสประจำหน่วยของผู้ร้องขอ รหัสประจำหน่วยของผู้ร้องขอจะเป็นรหัสเดียวกับที่ใช้อยู่ในงานระบบฐานข้อมูลหมายจับอิเล็กทรอนิกส์ (AWIS) ก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image