ปธ.ศาลฎีกาให้ท่านเปาใช้ดุลพินิจลงโทษผู้ฝ่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้เหมาะสม เชิงป้องกัน

“ไสลเกษ” เเนะนำให้ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจลงโทษผู้กระทำผิด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเหมาะสม เชิงป้องกัน

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้ออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 4 ความว่า ตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลาที่ระบุในข้อกำหนดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

ประธานศาลฎีกาจึงออกคำแนะนำดังต่อไปนี้ การใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลย ซึ่งกระทำความผิดฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลาที่กำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 เฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ศาลพึงคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการออกข้อกำหนดว่า เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนไปประกอบกิจกรรมไม่พึงประสงค์อันนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

การกำหนดโทษแก่จำเลยในอัตราโทษที่เหมาะสมและมีผลในการบังคับโทษโดยทันทีย่อมส่งผลให้จำเลยเข็ดหลาบไม่กล้ากระทำความผิดอีก ตลอดระยะเวลาตามข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินส่งผลดีต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และส่งผลต่อประชาชนโดยทั่วไปที่จะยับยั้งชั่งใจและระมัดระวังที่จะไม่กระทำความผิดในฐานดังกล่าว

แต่ในภาวะเช่นนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงการส่งจำเลยเข้าไปรับโทษกักขังในสถานที่กักขังหรือจำคุกในเรือนจำ เพราะเป็นการเสี่ยงที่จำเลยจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไปแพร่ระบาดในสถานที่กักขังหรือเรือนจำซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ จึงสมควรที่ศาลจะได้นำมาตรการที่มีอยู่หลากหลายในประมวลกฎหมายอาญามาใช้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในทางลงโทษผู้กระทำความผิด และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง

Advertisement

นายสุริยัณห์กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการทางอาญาที่ศาลจะพิจารณานำมาใช้ให้เหมาะสมตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเพื่อให้การลงโทษที่สามารถใช้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้จำเลยจะมีโอกาสเป็นพาหะนำโรคระบาดไปในเรือนจำหรือสถานกักขังก็มีการกำหนดไว้ในหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การลงโทษปรับ การรอการลงโทษ การรอการกำหนดโทษ การกังขังในสถานที่อื่นที่กำหนด อาจจะเป็นในเคหสถาน เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image