ปธ.ศาลฎีกาแนะ 6 หลักการประกันตัวช่วงโควิด บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

“ประธานศาลฎีกา”แนะ 6 หลักการประกันตัวช่วงโควิดบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน “โฆษกศาลฯ” เผยยอดคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลดลง

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในวงกว้าง ประชาชนจำนวนมากต้องว่างงานขาดรายได้ โดยนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เห็นว่าการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ควรคำนึงถึงผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้ลงนามออกประกาศ “คำแนะนำประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563” ซึ่งหลักสำคัญของการแนะนำ มีดังนี้

1. ดุลพินิจการพิจารณาอนุญาตปล่อยชั่วคราว (การให้ประกันตัว) ยังคงเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาโดยแท้

2. คดีลหุโทษ (ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) คดีที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือคดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ศาลอาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันด้วยการให้สาบานตัวหรือปฏิญาณตนตามที่กฎหมายกำหนด

Advertisement

3. คดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 10 ปี ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้แต่ต้องมีประกัน ซึ่งการเรียกประกันจะทำได้เมื่อเป็นกรณีจำต้องเรียกหลักประกัน และจะต้องระบุถึงความจำเป็นในการเรียกหลักประกันไว้ในคำสั่งโดยชัดเจน

4. ส่งเสริมให้มีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ หรือเงื่อนไขอื่นใดประกอบการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว, ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทาง หรือแต่งตั้งผู้กำกับดูแลแทนการเรียกหลักประกัน

5. ปรับปรุงวงเงินประกันหรือหลักประกันกรณีศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกัน (หลักทรัพย์) โดยลดวงเงินลงกึ่งหนึ่งจากวงเงินที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวหาหรือจำเลยในคดีศาลอาญา พ.ศ. 2548

6. กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ หรือเป็นผู้ไม่มีที่อยู่ถาวรในประเทศไทย ถือเป็นพฤติการณ์พิเศษในคดีที่อาจใช้วงเงินที่สูงกว่าได้ โดยบัญชีมาตรฐานวงเงินประกันสำหรับแนวทางการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย มีรายละเอียดดังนี้
https://opsc.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/1145/iid/199035

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงข้อมูลสถิติคดีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รวบรวมสถิติคดีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องภายหลังรัฐบาลออกประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ว่า ภาพรวมสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 1 – 30 มิถุนายน 2563 มีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง ทั้งหมด 5,640 คดี พิพากษาแล้วเสร็จ ทั้งหมด 5,389 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.55 จำนวนจำเลยที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด 10,292 คน ข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด คือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 9,851 คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุดในการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 965 คน ส่วนในกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว มีจำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 198 คำร้อง จำนวนเยาวชนที่เข้าสู่การตรวจจับที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด 226 คน ข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุม สูงสุด คือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 215 คน

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ภายหลังที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 (ศบค.) มีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 ประกอบกับมีการยกเลิกเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 14 มิถุนายน 2563 เป็นต้นมา หากนำสถิติเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายนมาเปรียบเทียบกัน พบว่า สถิติคดีในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวงในเดือนมิถุนายนมีปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณาลดลงจากเดือนพฤษภาคม จำนวน 9,087 คดี ขณะที่ในส่วนของกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว สถิติการจับกุมในเดือนมิถุนายนลดลงจากเดือนพฤษภาคม จำนวน 587 คดี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5 แล้ว แต่ก็ยังขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด สวมหน้ากากอนามัย ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เว้นระยะห่างจากผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image