ผอ.ศูนย์กฎหมายอาญา มธ. เรียกร้อง ‘ความตรงไปตรงมา’ คดีบอส อยู่วิทยา ยก ‘เชอรี่แอน’ เทียบ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 สิงหาคม ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์กฎหมายอาญา และอาชญาวิทยา จัดเสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ “คดี (กระทิงแดง) ชนตำรวจ : นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ”

ในตอนหนึ่ง ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผอ.ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การตรวจสอบถ่วงดุลที่รอบคอบ และความน่าเชื่อถือ สำคัญมาก ตามมาตรา 145 และ 145/1 กรณีทั่วไปสามารถโต้แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง และสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การพิจารณาคดี แต่ทำไมคดีนี้จึงผ่านไป ผลของคำสั่ง เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ห้ามมิให้มีการสอบสวนในเรื่องเเดียวกันนั้นอีก กล่าวคือ รื้อขึ้นมาไม่ได้ แต่มีเงื่อนไขหนึ่งที่สังคมเถียงกันอยู่ คือ เว้นแต่ได้หลักฐานใหม่

ทั้งนี้ การตีความ ต้องตีความตามวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย เช่น คดีเพชรซาอุฯ เจ้าหน้าที่การทูตสั่งไม่ฟ้อง แต่พบหลักฐานใหม่เป็นแหวนผู้ตาย ซึ่งมีหลายประเด็น คือ

1.มีพยานหลักฐานใหม่ ดังนั้น คดีนี้ หากมีเทคนิควัดความเร็วที่น่าเชื่อถือ หรือถามคนที่ขับรถผ่านมา ถามว่ามีความน่าเชื่อถือมีหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องความรู้สึก แต่จะถือเป็นหลักฐานสำคัญได้หรือ หากมีเทคโนโลยีเข้ามาส่วนตัวมองว่าจะเป็นพยานหลัึกฐานใหม่ในคดีได้

Advertisement

2.แม้ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าคดีนี้เกิดที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่อัยการสั่งฟ้องไปแล้วนั้น จะมีการสั่งฟ้องเพิ่มหรือไม่ และไปถึงไหน ต้องมีการรื้อข้อเท็จจริง

3. กมธ.ไม่มีสิทธิสืบพยาน เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ซึ่งผิดขั้นตอน

ทั้งนี้ ถ้าอัยการไม่พอใจสำนวนการสอบสวน ตามมาตรา 143 วรรค 2 บอกว่า อัยการมีอำนาจสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมได้ แต่ต้องทำให้ข้อเท็จจริงกระจ่างให้ได้

Advertisement

ดังนั้น คดีกระทิงแดง ไม่ว่าจะฟั่งฟ้องหรือไม่ ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงว่า หลักฐานเพียงพอจะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ นี่คือจุดหลักจุดเดียว ซึ่งไม่กี่วันมานี้มีการแถลงข่าวว่า เฮโรอีนใช้ผสมในยาชา ซึ่งเลิกใช้ 140 ปี ทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น เหตุที่จะไม่สั่งฟ้อง คือ 1.พยานหลักฐานพอเพียงหรือไม่ 2.หากหลักฐานพอเพียงพอ แต่ได้มาโดยไม่ชอบ อัยการจะสั่งไม่ฟ้องก็ได้ แต่ตอนนี้เรามีมาตรา 226/11 อยู่

ประการสุดท้าย อาจมีเหตุผลเรื่องดุลพินิจ เพราะ อัยการไม่ใช่พนักงานไปรษณีย์ แต่เป็นกึ่งตุลาการ สามารถชั่งน้ำหนักได้ จุดเดียวคือ พยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ถ้าไม่เพียงพอแล้วไม่ฟ้องจริง ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเราฟ้องมาก่อน อยู่ๆไม่ฟ้อง จึงถือเป็นคดีที่น่าสนใจ ว่าจะทำอย่างไรในเรื่องความย้อนแย้งนี้

ศ.ดร.สุรศักดิ์กล่าวว่า ตนเรียกร้องความตรงไปตรงมา เนื้อไหนร้าย ต้องตัดออกเพื่อรักษาทั้งกระบวนการ จะทำอย่างไรให้คดีนี้กระจ่าง ดีเอสไอคืออีกหนทาง ให้คนกลางทำ เพราะความเชื่อมั่นลดลงต่ำมาก ซึ่งสิ่งที่ตนเน้นมากคือทำอย่างไรจะให้เกิดความน่าเชื่อถือ

“กระบวนการยุติธรรมที่ดูดาย บางเรื่องเรากระตือรือร้นมากเกินไป วันที่แถลงข่าว คนรู้สึกว่าเกินไปหรือไม่ ภาษาฝรั่งบอกว่า ‘to do or to die’ คนในกระบวนการยุติธรรมจะต้องปฏิรูปตัวเอง เหตุการณ์สำคัญหนึ่งคือ เชอรี่แอน ที่น่าเศร้ายิ่ง จึงทำให้เกิดรัฐธรรนูญปี 2540 เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ เชื่อว่าครั้งนี้คงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องมีคนที่อยากทำให้องค์กรได้รับการยอมรับ มีเกียรติ ศักดิ์ศรี ให้มีความยุติธรรม และน่าเชื่อถือ” ศ.ดร.สุรศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image