“วิญญัติ”ชี้ การออกหมายจับ คดีการใช้สิทธิเสรีภาพควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากกว่าคดีอาญาทั่วไป

วิญญัติ ชาติมนตรี ชี้ การออกหมายจับ คดีการใช้สิทธิเสรีภาพควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากกว่าคดีอาญาทั่วไปไม่สร้างความเดือดร้อนประชาชน

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและเลขาธิการสมาพันธ์ นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ได้ให้ความเห็นกรณีที่มีการขออำนาจศาลออกหมายจับกลุ่มประชาชนปลดเเอกที่มีการชุมนุมในขณะนี้ว่า ปัญหาการออกหมายจับได้สร้างความเดือดร้อนมากแก่ประชาชน ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน ดูเหมือนว่าสร้างภาระแก่ศาลที่ออกหมายจับไปด้วยเพราะต้องคอยกังวลว่าจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในบริเวณศาลหรือไม่ ซึ่งมีความเป็นได้ว่า โมเดลการขอออกหมายจับในกรุงเทพอาจถูกนำไปใช้จัดการกับแกนนำในภูมิภาคก็ได้

ส่วนตัวจึงขอตั้งข้อสังเกตว่า การออกหมายจับจะดูแต่เกณฑ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 66 เท่านั้นหรืออย่างไร การอ้างว่าคดีตามข้อหาเป็นคดีมีอัตราโทษสูงกว่า 3 ปี อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมจากกลไกของรัฐได้ ต้องดูว่าผู้จะถูกออกหมายจับมีพฤติการณ์หลบหนี หรือไม่มี ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้หรือไม่ ช่องว่างที่เปิดกว้างให้ใช้ดุลพินิจว่าเข้าเกณฑ์ข้อสันนิษฐานที่จะออกหมายจับได้แล้ว ก็ยังต้องพิจารณาถึงผลที่จะตามมาสามารถอำนวยความยุติธรรมได้จริงด้วย

แม้การออกหมายจับนั้นจะทำให้ได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีก็ตาม แต่เมื่อดูสัดส่วนความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายด้วยการออกหมายจับมีความจำเป็นถึงขนาดนั้นหรือยัง ศาลจะเป็นผู้กลั่นกรอง แล้วศาลจะใช้อำนาจดุลพินิจตรวจสอบกลั่นกรองได้เพียงใดนั้น บางกรณีก็ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการพิจารณาออกหมายจับพอสมควร เพราะผู้มีอำนาจขอออกหมายจับ คือ ตำรวจเป็นผู้ตั้งเรื่องขึ้นมา

Advertisement

ยิ่งในความผิดที่เกิดจากการใช้สิทธิและเสรีภาพอันเนื่องมาจากปัญหาของบ้านเมือง ที่ประชาชนทุกคนได้รับความคุ้มครองของให้สามารถแสดงออกได้ตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิถีพิถันมากกว่าคดีอาญาทั่วไป

ต้นเหตุมาจากการที่พวกเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์และแสดงออกความไม่เห็นด้วย เมื่อประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองกลับถูกอำนาจรัฐดังกล่าว ใช้กลไกอำนาจทางกฎหมายนำเอากระบวนการทางคดีอาญาให้ได้มาซึ่งการตั้งข้อหาร้ายแรงที่เกินสามปี ดังนั้น จึงทำให้ประชาชนตั้งข้อสังเกตอย่างกังวลว่าการขอออกหมายจับ

ในด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกออกหมายจับ เมื่อได้ตัวมาตามหมายจับ จะถูกจับพิมพ์ลายนิ้วมือและทำบันทึกประวัติอาชญากรรมทันที แม้บั้นปลายสุดท้ายอาจสั่งไม่ฟ้องหรือมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับไปแล้ว

Advertisement

ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหรือยังนี่คือคำถามที่ต้องนำสู่การแก้ไขอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image