ปธ.ศาลฎีกาผลักดันร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมนำไปสู่จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมต่อไป

“ไสลเกษ”ปธ.ศาลฎีกาส่งร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมสู่รัฐบาล นำไปสู่ตั้งศาลสิ่งแวดล้อม เผยเเรงบันดาลใจจากบ้านป่าเเหว่งรับขาดความรอบคอบในการก่อสร้าง จึงจะต้องเป็นวาระทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ

เมื่อวันที่ 16 กันยายน นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา กล่าวภายหลังประชุม“การพัฒนาระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมตามแผนการปฏิรูปประเทศ” โดยเป็นการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอร่วมกันระหว่างนายไสลเกษ และนายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด, คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม คณะทำงานพัฒนาวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมฯ คณะอนุกรรมการบริหารศาลปกครองสูงสุด และผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่าเชื่อว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทุกวันนี้ที่สร้างความเดือดร้อนให้คนไทยให้กับคนไทยมันมีความชัดเจนแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องหมอกควันพิษ หรืออะไรหลายอย่าง เราไม่มีเวลาแล้วต้องระดมทรัพยากรและสมองเพื่อแก้ไขผลักดันให้ผู้มีอำนาจในเชิงนโยบายของประเทศนี้ตัดสินใจที่จะต้องทำอะไรบางอย่าง ดีใจมากที่ในฐานะสถาบันศาลไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองมีท่าทีชัดเจนว่าเราต้องร่วมกันทำอย่างแน่นอน และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ ซึ่งตนก็ได้พูดกับผู้พิพากษาที่อยู่ในแผนกคดีสิ่งแวดล้อมให้ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนนี้มีมีความสำคัญที่ทำให้ต้องผลักดันนโยบายที่ได้ประกาศไว้ตอนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในเรื่องการสร้างศาลสีเขียว (GREEN COURT) ซึ่งไม่ได้คิดว่าจะทำให้มันต้องดูยิ่งใหญ่แต่ทำในเชิงสัญลักษณ์ขององค์กรตุลาการที่จะสร้างสัญลักษณ์ให้สังคมเห็นว่าศาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ในเรื่องการบริหารจัดการภายในศาลด้วยการสร้างศาลให้เป็นสีเขียว ซึ่งยอมรับว่าแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งเรามาจากเรื่องบ้านป่าแหว่งที่มีการชี้นิ้วมาที่ว่าศาลทำลายทรัพยากร แต่จริงๆแล้วผู้พิพากษานั้นไม่เกี่ยวข้องเลย เพราะเราก็มีหน้าที่ตัดสินคดี ฝ่ายธุรการก็มีหน้าที่จัดหาบ้านพักให้ผู้พิพากษาซึ่งวันดีคืนดีไปขอพื้นที่ทหารมาได้ ทหารก็ส่งมอบพื้นที่มาให้ กระบวนการก่อสร้าง ก็ทำตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าเราขาดความละเอียดรอบคอบในขั้นตอนการก่อสร้าง ทุกอย่างที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าไปในพื้นที่หรือการตัดต้นไม้ในพื้นที่ก็กลายเป็นภาพที่ปรากฏที่เขาเรียกกันว่าป่าแหว่ง ประกอบกับสถานะทางการเมืองที่มันมีความขัดแย้ง ในพื้นที่เชียงใหม่ ศาลก็ก็ตกอยู่ในสถานะที่สะท้อนความขัดแย้งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นจำเลยในขั้นต้น แต่ว่าเมื่อเรื่องมันเกิดขึ้นเเละมันจบแล้ว ซึ่งสบายใจที่ได้คืนบ้านที่เรียกว่าป่าแหว่งให้กับกรมธนารักษ์เรียบร้อยแล้ว

เมื่อประมาณ2สัปดาห์ตนได้มีโอกาสเดินทางไปก็พบว่าต้นไม้ได้เจริญเติบโตขึ้นจนแทบไม่เห็นบ้าน สิ่งที่ตนสะท้อนเรื่องป่าแหว่งคือเสียใจแทนคนเชียงใหม่ที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (กบศ.)ถอนศาลอุทธรณ์ภาค5ออกจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจังหวัดเชียงราย ซึ่งก็ดีใจแทนคนเชียงรายเพราะสิ่งที่ทำเป็นเรื่องการระงับความรู้สึกความขัดแย้งในเบื้องต้นไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เราต้องส่งเสริมการปลูกต้นไม้หรือศาลสีเขียวขึ้นมา

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือและให้ความสำคัญรวมกัน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะมีวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐาน เพื่อบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศาลฎีกาพร้อมให้การสนับสนุนให้มีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาลในการพิจารณาจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมต่อไป” ประธานศาลฎีกากล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 17 กันยายนนี้ นายไสลเกษ  วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา จะเดินทางไปเป็นประธาน พิธีเปิดโครงการกิจกรรมปลูกป่า
ที่แปลงปลูกต้นไม้  สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม  จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งสถาบันอบรมดังกล่าวจะเป็นที่ปลูกฝังตุลาการข้าราชการในสังกัดศาลยุติธรรมให้อนุรักษ์ธรรมชาติจะเป็นโมเดลสู่การเป็นศาลสีเขียวทั่วประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image