ยกฟ้องสจล. กรณี’ถวิล พึ่งมา’ฟ้องโดนสั่งปลดเหตุโทรขอแก้เกรดช่วยลูก

ศาลปกครองกลางยกฟ้อง “ถวิล พึ่งมา” อดีตอธิการบดีสจล. ฟ้อง สจล. มีคำสั่งปลดเหตุโทรขออาจารย์แก้เกรดช่วยลูกชาย ถือผิดวินัยร้ายแรงจริง

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ศาลปกครอง ถนน เเจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ยื่นฟ้อง สจล.กับพวกรวม 6 คน กรณีขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง สจล.ที่ปลดตนเองออกจากการเป็นพนักงาน สจล. และให้คืนสิทธิการดำรงตำแหน่งอธิการบดีหรือตำแหน่งเทียบเท่า รวมทั้งคืนสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับราชการให้แก่ตน จากเหตุขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดี สจล.ได้ให้อาจารย์ผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องแก้ไขคะแนนผลการสอบและเกรดของนายถิรกรณ์ พึ่งมา บุตรชาย จากเดิมที่ได้เกรด F เปลี่ยนเป็นเกรด C ซึ่งนายถวิลได้มีการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ สจล.มีมติลงวันที่ 23 มีนาคม 2559 ให้ยกอุทธรณ์ของนายถวิล

โดยเหตุผลที่ศาลปกครองกลางยกฟ้อง ระบุว่าในชั้นสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ที่ สจล.มีคำสั่งตั้งขึ้น นายถวิลให้ถ้อยคำ ว่าได้มีการโทรศัพท์ไปหาอาจารย์ที่สอนหนังสือ 3 รายวิชาแก่บุตรชาย คือ วิชา 01006001 ENGINEERING MATHEMATICS1 วิชา 01006011 ENGINEERING MATERIALS และวิชา 01006012 COMPUTER PROGRAMMING เพื่อให้ช่วยสอนเสริมให้แก่บุตรชาย ไม่ได้ให้มีการแก้ไขเกรดอย่างที่มีการกล่าวหา ซึ่งอาจารย์ที่สอน 3 รายวิชาดังกล่าวก็ให้การยืนยันในชั้นสอบหาข้อเท็จจริง ว่าก่อนสั่งพิมพ์รายงานคะแนนฉบับสมบูรณ์นายถวิลครั้งยังดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้โทรศัพท์มาหา เพื่อให้ช่วยดูคะแนนให้บุตรชาย และอาจารย์ที่สอนทั้ง 3 รายวิชาก็ได้มีการเพิ่มคะแนน ให้กับบุตรชายของนายถวิล จนทำให้จากคะแนนเดิมที่อยู่ในเกณฑ์ได้คะแนน F ปรับขึ้นมาได้รับเกรด C โดยให้เหตุผลที่มีการเพิ่มคะแนนให้ว่า เนื่องจากเกรงใจนายถวิลที่เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่รับราชการอยู่ในสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม ซึ่งอาจารย์ที่สอนทั้ง 3 รายวิชา ล้วนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายถวิล ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองใดๆกับนายถวิล จึงมีเหตุน่าเชื่อว่านายถวิลโทรศัพท์ไปหาเกี่ยวกับเกรดของบุตรชาย ไม่ใช่ให้ไปสอนพิเศษแก่บุตรชาย พฤติการณ์การกระทำของนายถวิล ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขเกรดบุตรชายใน 3 รายวิชา จึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามข้อ 6 วรรคสอง และข้อ 15 ของข้อบังคับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ว่าด้วยวินัยหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการสอบสวน พิจารณาและการสั่งลงโทษทางวินัย 2552 แต่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ 18 ( 1 ) ของข้อบังคับฉบับเดียวกัน ดังนั้นการที่อธิการบดี สจล. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ลงโทษปลดนายถวิลออกจากการเป็นพนักงานสถาบันตามคำสั่ง สจล.ลับที่ 1856/2558 ลงวันที่ 5 พฤษจิกายน 2558 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ส่วนที่คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ สจล.มีมติยกอุทธรณ์ของนายถวิล เห็นว่าการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ได้อาศัยข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย เช่นเดียวกับอธิการบดีสจล. เมื่อคำสั่งของอธิการบดี สจล.ที่สั่งลงโทษ ปลดนายถวิลออกจากการเป็นพนักงานสถาบันชอบแล้ว การที่คณะกรรมการอุทธรณ์มีมติยกอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image