รองปธ.ศาลฎีกา เปิดเมนูทำความดีแทนจ่ายค่าปรับ เผยยอดบริการสังคมแทนค่าปรับพุ่งกว่าปี62 เท่าตัว

“เมทินี”รองปธ.ศาลฎีกา เผยยอดทำงานบริการสังคมเเทนค่าปรับพุ่ง 10,482 คนมากกว่าปี62 เท่าตัว รวมเวลาทำงาน 243,219 วัน ผลสำเร็จลดคุมขัง ขจัดเหลื่อมล้ำผู้ไม่มีเงิน ตามนโยบาย”ไสลเกษ” เปิดเมนูทำความดีแทนจ่ายค่าปรับ

เมื่อวันที่ 20 กันยายน นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามดำริ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาภายใต้โครงการ“ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น” กล่าวว่าในปี 2563 สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง ทำให้ชาวบ้านตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะอาจต้องถูกคุมขังตามกฎหมายเพราะไม่มีเงินเสียค่าปรับ เป็นตัวเร่งให้ศาลยุติธรรมดำเนินการเชิงรุกตามโครงการศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด เป็นมาตรการให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับถูกหยิบยกมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการคุมขังคนแทนค่าปรับเพียงเพราะความยากจนไม่มีเงินเสียค่าปรับ

จึงได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายของประธานศาลฎีกาด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีตนเป็นผู้รับผิดชอบภาพรวมมาอย่างต่อเนื่อง ได้วางแนวทางการดำเนินการและสื่อสารไปยังบุคลากรในสังกัด รวมถึงประสานงานกับกรมคุมประพฤติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรีบด่วน  ทำให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศและบุคลากรในสังกัดสามารถนำมาตรการให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับมาใช้พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563เป็นต้นมา

โดยมุ่งเป้าหมายเดียวกันคือการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ซึ่งกฎหมายมีวิธีบังคับผู้กระทำความผิดที่ไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาล  3 วิธี คือยึดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดมาใช้ค่าปรับ  หรือกักขังผู้กระทำความผิดแทนค่าปรับโดยคิดอัตราการกักขังหนึ่งวันเท่ากับค่าปรับ500บาท  หรือให้ผู้กระทำความผิดที่สมัครใจได้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับซึ่งคิดการทำงาน1วันแทนค่าปรับ500บาทเช่นกัน

Advertisement

โดยคนที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับส่วนใหญ่เป็นผู้ที่กระทำความผิดไม่ร้ายแรงและมีความประพฤติที่แก้ไขได้จึงได้รับโอกาสจากศาลให้รอการลงโทษจำคุก  แต่ยังต้องเสียค่าปรับตามระวางโทษของกฎหมาย

ซึ่งหลักเกณฑ์สำคัญในการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับคือ  ผู้ต้องโทษปรับไม่มีเงินชำระค่าปรับและสมัครใจทำงาน  ความผิดที่ทำต้องไม่ใช่ทำด้วยเจตนาร้ายหรือทุจริตฉ้อฉลที่มีผลกระทบต่อสาธารณชนส่วนรวม  ความผิดที่เป็นการค้ายาเสพติด หรือฉ้อโกงประชาชนหรือความผิดที่ร้ายแรงจึงไม่เข้าข่ายที่จะทำงานแทนค่าปรับ ในการไปทำงานจะมีผู้ควบคุมดูแลทุกครั้ง  สังคมจึงวางใจได้ว่าผู้ที่ศาลให้ไปทำงานแทนค่าปรับจะไม่ไปทำความเดือดร้อนขึ้นในชุมชน

นางเมทินี กล่าวว่าในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้เปิดตัวเมนูความดี ทำดีแทนค่าปรับ ซึ่งมีหน้าตาคล้ายเมนูอาหารที่แนะนำงานหลายประเภทให้ผู้ต้องโทษปรับเลือกทำ เหมือนการเลือกอาหารจากเมนู เช่น งานดูแลคนชรา คนพิการ  เล่นดนตรีในบ้านพักคนชรา แปลเอกสารให้คนตาบอด ช่วยงานในห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์  งานช่างอาชีพต่างๆ  งานบริการเช่นทำความสะอาด ทาสี ตัดต้นไม้  ปรับปรุงภูมิทัศน์  อาสาจราจร  ปลูกต้นไม้ เพาะชำ ปล่อยพันธุ์ปลา เป็นต้น  โดยได้รับความร่วมมือจากกรมประพฤติในการดูแลผู้ทำงาน รวมถึงรับเป็นแกนหลักในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่รับผู้ต้องโทษปรับจากศาลไปทำงานบริการสังคมในสถานที่ต่างๆ ปัจจุบันมีหน่วยงานเข้าร่วมเป็นภาคีกับศาลหลายหน่วยงาน ในกรุงเทพมหานคร เช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล  กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร เมนูความดีของศาลอาญาเป็นอุบายในการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้ผู้ที่กระทำผิด   นอกจากผู้กระทำผิดมีโอกาสเกิดสำนึกในระหว่างที่เลือกงานจากเมนูว่าตนเองกำลังการเลือกทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ให้สังคม แทนที่จะซ้ำเติมความรู้สึกของตัวเองว่าเป็นคนไม่ดีที่กำลังถูกทำโทษอย่างเดียว เพื่อให้กำลังใจผู้พลาดพลั้งกระทำผิดว่าตนเองมีคุณค่าและทำความดีได้ไม่ต่างจากคนอื่น  ในขณะเดียวกันยังเป็นการที่ศาลสื่อสารไปยังสังคมภายนอกให้เปิดใจรับผู้พลั้งพลาดที่ได้สำนึกผิดด้วยการทำความดีชดเชยให้ส่วนรวมแล้ว  ผลการดำเนินการตามมาตรการให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมแทนการนำตัวไปกักขังแทนค่าปรับ ในห้วงวาระการดำรงตำแหน่งของนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา พบว่าศาลยุติธรรมทั่วประเทศให้ผู้กระทำความผิดไปทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับเพิ่มขึ้นจาก2562เป็นทวีคูณ ในปีงบประมาณ2562ซึ่งสิ้นสุดวันที่30 กันยายน 2562  มีผู้ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับทั่วประเทศ4,641คน  ในขณะที่ปีงบประมาณ2563 ที่ผ่านมา คือตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม2562 -สิงหาคม2563 ภายใต้การขับเคลื่อนองค์กรศาลยุติธรรมของนายไสลเกษ มีผู้ต้องโทษปรับได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำงานแทนค่าปรับเพิ่มขึ้นเป็น10,482 คน รวมระยะเวลาทำงาน 243,219 วัน ซึ่งถ้าผู้ต้องโทษปรับเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานแทนค่าปรับก็ต้องถูกนำไปกักขังแทนค่าปรับเป็น 243,219
วันเท่ากัน

Advertisement

การใช้มาตรการให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานแทนค่าปรับการกักขังจึงสามารถลดการคุมขังได้โดยตรงอย่างเป็นรูปธรรม คืนเวลาและบุคลากรให้เป็นประโยชน์กับสังคม ลบข้อครหาของกระบวนการยุติธรรมว่าคุกมีไว้ขังคนจน   ศาลยุติธรรมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อสังคมภายใต้หลักการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น อย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการคุ้มครองความสงบสุขของสังคมและดูแลผู้เสียหาย เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขแบบยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามนโยบายนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย ควบคู่ไปกับความสงบสุขของสังคมและการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรม  ได้รับการขับเคลื่อนจากบุคลากรของศาลยุติธรรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสของชาวบ้านที่จะได้รับประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีอาญา  เริ่มจากการให้ศาลเปิดทำการทุกวันไม่มีวันหยุดสำหรับรับเรื่องขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย  ติดตามมาด้วยการส่งเสริมให้ศาลใช้วิธีประเมินความเสี่ยงในการพิจารณาให้ประกันตัว และใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (อีเอ็ม) รวมถึงตั้งบุคคลมาสอดส่องดูแลผู้ที่ศาลให้ประกันตัวไป ทำให้ปัจจุบันศาลยุติธรรมหลายศาลให้ประกันตัวแบบไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวมากขึ้น ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำให้โอกาสคนยากจนได้รับการประกันตัวได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองมาวางประกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image