ปธ.ศาลฎีกาบอกชุมนุม น.ศ. ใช้กฎหมายเป็นหลักแต่ต้องยืดหยุ่น ผลักดันให้ไกล่เกลี่ย

ปธ.ศาลฎีกามองเหตุการณ์ชุมนุมนักศึกษา ทุกฝ่ายต้องร่วมเรียนรู้กัน จุดยืนศาลเเม้ใช้กฎหมายเป็นหลักเเต่ต้องยืดหยุ่นผลักดันไกล่เกลี่ยเจรจา ยกจีนปฏิวัติวัฒนธรรม ลูกมองพ่อแม่ล้าหลัง ต้องให้เยาวชนเรียนรู้เปลี่ยนถ่ายรุ่นสู่รุ่นด้วยสันติ

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่สำนักประธานศาลฎีกาสนามหลวง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกากล่าวภายหลังเเถลงผลงานในช่วงดำรงตำเเหน่ง 1 ปี เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในฐานะที่เคยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ในช่วงชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ในอดีตว่า มองว่าการชุมนุมในอดีตก็ไม่ได้แตกต่างจากนักศึกษาในยุคนี้ เพียงแต่บริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ช่วงที่เป็นนักศึกษาก็รู้สึกว่าอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ สิ่งที่ท้าทาย ต้องการเรียนรู้ หลายเรื่องที่ไม่เคยเข้าใจ สมัยเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลง 14 ต.ค.2516 นักศึกษามีความคิดทางสังคมเยอะ สมัยนั้นตนอ่านตำราทุกอย่าง ทั้งมาร์กซิสต์ เลนิน เหมา เยอะแยะไปหมดเลย ซึ่งต้องการเรียนรู้ว่าจริงๆ มันคืออะไรเพราะตอนนั้นไม่รู้ ในที่สุดประสบการณ์ก็จะสอนเรื่อยๆ ว่าอันไหนใช่ อันไหนไม่ใช่

“ประสบการณ์การล่มสลายของประเทศคอมมิวนิสต์และประเทศจีน ที่มีเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรม เช่น เด็กรังเกียจผู้ใหญ่ มองว่าพ่อแม่หรือผู้บุพการีล้าหลัง ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงสังคมแล้วก็ปฏิบัติกับผู้บุพการีหรือผู้ใหญ่ในแบบหนึ่ง ก็เรียนรู้ในที่สุดการปฏิวัติวัฒนธรรมเกิดขึ้น ผู้หลักผู้ใหญ่กลุ่มอนุรักษนิยมถูกขัดขวางออกจากสังคม และแล้ววันเวลาก็พิสูจน์ว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีนล้มเหลว เขาทำลายทรัพยากรผู้ใหญ่ ทำลายทรัพยากรของบ้านเมือง ไม่มีการเชื่อมต่อเปลี่ยนถ่ายอย่างสันติ แล้วต่อมากลุ่มคนที่ปฏิวัติวัฒนธรรมก็ถูกปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งไม่มีที่ยืนในสังคม คิดว่าถ้าจะมาเทียบกับสังคมในขณะนี้ เราต้องสอน เราต้องให้โอกาสเยาวชนของเราให้เขาได้เรียนรู้ได้เข้าใจ สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าความก้าวร้าว ความรุนแรง ความไม่ให้เกียรติกันนี้แหละจะเป็นอันตรายต่อสังคม ทำอย่างไรจะทำให้การเปลี่ยนถ่ายจากรุ่นสู่รุ่น เป็นไปด้วยสันติวิธี ทุกคนมีความสุข รับได้ คนรุ่นเก่าต้องยอมรับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ก็ต้องยอมรับคนรุ่นเก่า สิ่งนี้คือสิ่งที่ยาก ตอนนี้ผมไม่มั่นใจว่าสถานการณ์สังคมไทย จุดนี้เกิดขึ้นหรือเปล่า” นายไสลเกษกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าแกนนำนักศึกษาเหล่านั้นต้องถูกดำเนินคดีขึ้นศาล การใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถูกต้องหรือไม่

นายไสลเกษกล่าวว่า ศาลต้องใช้กฎหมายเป็นหลัก แต่ตัวกฎหมายเองก็มีความยืดหยุ่นที่ศาลสามารถจะใช้ดุลพินิจได้ ตนว่ายุคนี้ศาลจะต้องสร้างความเข้าใจ ปัจจุบันศาลได้ผลักดันให้เกิดการประนีประนอม การเจรจาไกล่เกลี่ยมากขึ้น คิดว่าวิธีพิจารณาของศาลก็เปิดช่องเช่นนี้ เป็นไปได้ไหมที่จะให้คนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ที่มีข้อพิพาทกันได้สร้างความเข้าใจกันให้มากขึ้น ลองนั่งคุยกันอย่างมีสติ แต่ต้องหาคนกลางในการที่จะทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้คุยกัน

เมื่อถามว่า มองว่าในสถานการณ์ทางการเมืองนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรจะมีบทบาทอย่างไร

Advertisement

นายไสลเกษกล่าวว่า สงสารผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พยายามสร้างความเข้าใจ แต่เนื่องจากประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แล้วด้วยความเชื่ออย่างนี้ หลายคนก็คิดว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงให้รวดเร็วก็ไปตั้งต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มันอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดก็ได้ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็พยายามรอมชอมลดความรุนแรง แต่เนื่องจากวิธีคิดมันอาจจะไม่เจอกันเสียทีเดียว วันเวลาอีกสักระยะหนึ่ง ตนเชื่อว่าน้องนักศึกษาก็จะเข้าใจผู้ใหญ่ว่าไม่ได้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น แต่ห่วงใยเด็กๆ เสียด้วยซ้ำ เห็นใจผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุมหนึ่งก็อยากให้น้องๆ ได้เดินไปข้างหน้า ได้แสดงความเห็น แต่ก็ต้องให้เกิดความพอดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image