ผบ.ตร.ลั่นไร้นโยบายปิดสื่อ เพียงแต่จัดการข้อมูลบางส่วน ประสานดีอีเอสจัดการแอพเทเลแกรม

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) กล่าวถึงประกาศคำสั่งฉบับที่ 4/2563 ว่า กรณีที่กอร.ฉ. แถลงออกไปแล้วอาจทำให้เกิดความสับสนเข้าใจไม่ตรงกัน ในส่วนนี้หลายคนอยากฟังจากตน ในฐานะผู้นำองค์กร ขอเรียนว่าปฏิบัติตามกฎหมาย และเมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในนามของกอร.ฉ. เมื่อมีหน้าที่ต้องทำเราก็จำเป็นต้องทำตามกฎหมาย ทางหน่วยข่าวรายงานขึ้นมาบอกว่ามีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่อาจจะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายและพัฒนาไปสู่การก่อความไม่สงบเรียบร้อย ก็จะเห็นว่าคำสั่งฉบับที่ 4 เป็นการให้จัดการกับข้อมูลข่าวสารบางส่วน ไม่เคยมีนโยบายที่จะไปปิดสื่อและจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย เนื่องจากว่าจะต้องมีการไปออกประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการในรายละเอียด เพื่อให้หน่วยที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายได้ทำให้เป็นแนวทางและทิศทางเดียวกัน คำสั่งฉบับที่ 4 เป็นคำสั่งให้กระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอส และกสทช.ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ยังไม่ได้ไปปิดใครทั้งนั้น รายละเอียดกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ ยังไม่ออกมา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่าทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การดำเนินการก็ต้องรอว่าเมื่อไหร่ที่จะมีการบังคับใช้

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ข่าวสารหรือคลิปชิ้นไหนที่เป็นประเด็นปัญหา ก็จัดการกับชิ้นนั้น หรือบุคคลใดที่โพสต์ข้อความหรือทำอะไรก็ตามในโลกโซเชียล ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กระจายข่าวได้เร็วมากแล้วเกิดความสับสนวุ่นวาย มีการบิดเบือนยุยงปลุกปั่น ก็จัดการกับบุคคลนั้น ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ ไปตามกฎหมาย มีคนถามว่าผู้สื่อข่าวไปไลฟ์สดในพื้นที่ได้หรือไม่ ก็ตอบว่าทำได้เพราะตามสิทธิเสรีภาพของสื่อ เจ้าหน้าที่ทุกคนเข้าใจ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วทั้งสากลโลกก็รับรองสิทธินี้

แต่ที่เป็นประเด็นปัญหา ตนยกตัวอย่าง เช่น มีการถ่ายคลิปไลฟ์สดเห็นผู้ชุมนุมวิ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง คนไลฟ์ก็พูดว่า กำลังถูกไล่ยิงจากเจ้าหน้าที่ อย่างนี้เป็นการเอาข้อเท็จจริงผสมกับการคาดการณ์ของตัวเอง แล้วสิ่งที่ทำก็ต้องดูว่ามีผลหรือไม่ ถ้ามีผลว่าทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายเกิดความโกรธแค้นในมวลชนกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วเกิดความรุนแรงขึ้นไปปะทะกับเจ้าหน้าที่ด้วยความไม่เข้าใจ อย่างนี้ไม่ได้ต้องจัดการ ถอดออก ต้องไประงับยับยั้งหรือการทำอะไรที่ชี้นำไปในทางที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือข้อความที่ว่า เห็นคนเตรียมอุปกรณ์หมวก ร่ม ก็บอกว่าเจ้าหน้าที่กำลังจะมาสลายแล้ว การกระทำแบบนี้จะต้องดูว่าผลที่เขาทำมันเกิดอะไรขึ้น แล้วดูองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย แต่กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ถ้าทำแบบนี้แล้วเราเห็นว่าเจตนาที่จะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายก็มีมาตรการหลายอย่าง เช่น อาจจะทำหนังสือให้มาพบมาชี้แจงว่าเหตุผลที่ทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร แล้วคลิปนี้ถ้าดูแล้วแพร่กระจายแล้วเข้าใจผิดก็ต้องถอดออก ต้องลบออก

ผบ.ตร. กล่าวต่อว่า ขอเรียนว่ามีรายละเอียดและขั้นตอน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปเที่ยวปิด ขอให้เข้าใจ แล้วจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการบังคับกับใครเลย ยังคงเหมือนเดิมทุกอย่าง พี่น้องสื่อมวลชนก็ขอให้สบายใจ มีคนถามตนว่า ขณะที่ไลฟ์สดอยู่แล้วเห็นคนแล้วอธิบายเหตุการณ์โดยคาดการณ์ไปเอง ผลสุดท้ายมันไม่ใช่อย่างที่คิด ก็สามารถทำข่าวต่อได้โดยอธิบายต่อได้ว่าสุดท้ายแล้วไม่ใช่แบบนั้น เช่น เห็นมีรถน้ำมา ผู้สื่อข่าวก็รายงานสดไปว่ามีรถน้ำมาแล้ว ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่จะเตรียมใช้กำลังหรือไม่ แต่พอถึงจบเรื่องนี้ไม่มีการใช้ ก็สามารถทำข่าวต่อไปได้ว่าสุดท้ายไม่ใช่เป็นการสลาย หรือไม่ใช่การยึดพื้นที่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นการเตรียมการตามปกติ

Advertisement

“ในสภาวะนี้ไม่ใช่สภาวะปกติของบ้านเมือง เป็นสภาวะที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นการสื่อ เสนอข่าวสารต่างๆ ก็ให้ยกระดับในการเพิ่มความระมัดระวัง ขอให้พึงระลึกไว้ว่ามีข่าวสารใดที่ทำไปแล้วและคิดว่าจะส่งผลกระทบขอให้ระมัดระวังเรื่องนี้ด้วย และเจ้าหน้าที่ก็จะติดตามดูแต่ว่าในเสรีภาพพื้นฐานที่ทำด้วยสุจริตสามารถทำได้เต็มที่ไม่ต้องห่วง” พล.ต.อ.สุวัฒน์ ระบุ

เมื่อถามว่าขณะนี้มีสื่อไหนที่ล่อแหลม หรือเข้าข่ายที่ต้องดำเนินการบ้างหรือไม่ ทางพล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงที่หน่วยข่าวเสนอมา ก็คงต้องเอาข้อเท็จจริงมาประกอบ เราคงไปเหมารวมไม่ได้ ดูเป็นเรื่องๆ ซึ่งการบังคับก็ไม่ใช่ง่าย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าทางที่ดีที่สุดคือความร่วมมือ ขอให้พึงตระหนักเรื่องนี้

ถามต่อว่าประเด็นในหนังสือระบุว่าห้ามเสนออะไรที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว นิยามของคำว่าหวาดกลัวของผบ.ตร.คืออะไร ทางพล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ตัวอย่างเจ้าหน้าที่มีกระสุนยาง จะไปทำร้ายประชาชน ซึ่งการเสนอข่าวต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ว่าเจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมายไม่ใช่ไปทำร้ายใคร อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าตำรวจดูแลคนสองฝั่ง ทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและฝั่งที่ไม่เห็นด้วย เราอยู่ตรงกลาง เราทำอะไรไปเราก็ทราบ สมมติว่าเราทำแรง เบา หรือหนัก มันมีผล ไม่ว่าจะเป็นด้านใดด้านหนึ่ง เหรียญมีสองด้าน ถึงวันหนึ่งก็หวังว่าพี่น้องประชาชนจะเข้าใจว่าเราก็อยู่ตรงกลาง แต่เราก็พยายามที่จะทำหน้าที่ ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำ

Advertisement

ถามว่าเจตนาของกลุ่มบางคนหรือของสื่อที่มีการทำผิดซ้ำ ทางผบ.ตร.พิจารณาจากอะไร พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา การทำซ้ำๆ แล้วเกิดผลกระทบจากการที่เขาทำจนเกิดความสับสนวุ่นวาย เราก็ต้องพิจารณาเป็นบุคคลไป เช่น บางคนอาจจะมีเพจแล้วเอาเรื่องเท็จมาทำอยู่บ่อยๆ แล้วอ้างว่าเข้าใจผิด แต่ทำซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนี้ ก็จะดำเนินการเป็นขั้นตอน โดยอาจจะเรียกเข้ามาก่อน หรืออยู่ที่หน่วยงานที่เขารับผิดชอบ เช่น กระทรวงดีอีเอส กสทช. และบก.ปอท. แต่ถ้าเห็นว่าเจตนาชัดเจนเอาเฟคนิวส์มาออกบ่อยๆ ก็คงดำเนินการไปตามกฎหมาย อย่างบางคนที่ไปทำลายทรัพย์สินราชการเป็นตำรวจปลอมตัวมา เราก็ดูแล้ว เขามาคิดเองทำเอง ไม่ได้ไปรีทวิต หรือว่าไปเอาของใครมาโพสต์ต่อแล้วทำซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนี้ ทั้งที่ข้อเท็กจริงอีกฝั่งมีก็ไม่เคยนำเสนอ นำเสนอแต่สิ่งที่ผิดตลอดแบบนี้อาจจะชี้ได้ว่า เจตนาไม่ดี

ถามอีกว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมใช้แอพพลิเคชั่นเรียกระดมพลกันได้เร็วขึ้น ทางตำรวจจะต้องจัดการเรื่องนี้อย่างไร พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมหันมาใช้ช่องทางสื่อสารกันทางเทเลแกรม เรื่องนี้เท่าที่ได้ดำเนินการไปได้ส่งไปให้กระทรวงดีอีเอสพิจารณาดำเนินการในอาจหน้าที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image