ทลายเครือข่ายเซียนกุ่ย รัชดา- อ.ยอด ศูนย์มหาสมบัติ ตุ๋นขายพระสมเด็จ มโนเป็นเหลนหลวงวิจารณ์เจียรนัย

กองปราบแถลงผลทลายเครือข่าย’กุ่ย รัชดา’- อ.ยอด ศูนย์มหาสมบัติ ตุ๋นขายพระสมเด็จเก๊ ทำเป็นทีมมโนเหลนหลวงวิจารณ์เจียรนัย สร้างเครดิต

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. พร้อมด้วย พ.ต.ต.วาทิต จิตรจันทึก สว.กก.6 บก.ป. ,เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ กก.6 บก.ป. น.ส.เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณ ศิลปวัตถุ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร นางบุศยารัตน์ คู่เทียม นักจดหมายเหตุเชี่ยวชาญ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร่วมกันแถลงผลการจับกุมนายสุขธรรม ปานศรี หรือ “เฮียกุ่ย รัชดา” อายุ 70 ปี นายธรรมยุทธ์ หรือยอด เจนพิชิตกุลชัย หรือ อาจารย์ยอด อายุ 60 ปี เจ้าของศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน นายไตรเทพ ไกรงู อายุ 48 ปี ตามหมายจับศาลอาญา หลังหลอกลวงเอาเงินประชาชน โดยการแอบอ้างตัวเป็นเหลนชั้นที่ 6 ของหลวงวิจารณ์เจียรนัยช่างหลวงผู้แกะแม่พิมพ์พระสมเด็จ ทำให้มีพระสมเด็จแม่พิมพ์ของหลวงวิจารณ์เจียรนัย ที่เป็นมรดกตกทอดจำนวนมาก เปิดแสดงที่ศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน จ.สงขลา และเตรียมแจกให้ประชาชน 2 แสนองค์ แต่มีข้อแม้ว่าผู้ที่สนใจจะต้องยอมจ่ายเงินค่าสร้อยคล้องพระองค์ละ 1 พันบาท

พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่า ภายหลังการจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย จากการสอบปากคำเบื้องต้นในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ยังคงให้การปฏิเสธ ในทุกข้อกล่าวหา แต่ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากพยานหลักฐานต่างๆที่มีอยู่ค่อนข้างแน่ชัดว่ามีการกระทำความผิดจริง ประกอบกับได้มีการประสานไปยัง เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร มาช่วยในการตรวจสอบวัตถุโบราณของกลางต่างๆ ก็พบว่าเป็นการทำเลียนแบบขึ้นมาไม่ใช่ของจริงเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะรูปภาพ ที่นายธรรมยุทธ์ หรือ อาจารย์ยอด เจ้าของศูนย์มหาสมบัติดังกล่าว อ้างว่าเป็นภาพหลวงวิจารณ์เจียรนัย และมีตราประทับรับรองจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นั้น ก็เป็นของปลอมที่ทำขึ้นมาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้จากการตรวจสอบประวัติยังพบว่า นายธรรมยุทธ์ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดเกี่ยวข้องกับหลวงวิจารณ์เจียรนัย ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการกุเรื่องขึ้นมาเพื่อสร้างเรื่องราวและความน่าเชื่อถือในการหลอกลวงเอาเงินผู้คน ก่อนจะชักชวน นายสุขธรรม หรือ เซียนกุ่ย เวียนพระชื่อดังและนายไตรเทพ มาร่วมขบวนการด้วยเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อให้มากขึ้น อีกทั้งหากมีการปล่อยพระให้ประชาชนเช่าองค์ละ 1 พันบาท ได้ครบจำนวน 2 แสนองค์ ผู้ต้องหาขบวนการดังกล่าวจะสามารถทำเงินได้มากถึงกว่า 2 ร้อยล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งหากประชาชนท่านใดที่รู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อถูกหลอกสามารถติดต่อเข้าแจ้งความได้ที่กองปราบฯ

น.ส.เด่นดาว กล่าวว่า สำหรับวิธีการตรวจสอบโบราณวัตถุนั้นเราจะมุ่งไปที่รูปแบบประเภทศิลปกรรมแต่ละยุคสมัย สภาพของวัตถุ ความเก่าความใหม่ อายุของวัตถุเป็นสำคัญ ซึ่งจากการตรวจสอบวัตถุโบราณของกลางเบื้องต้นพบว่าเป็นสิ่งเทียมโบราณวัตถุ เพราะมีอายุไม่ถึงตามที่กล่าวอ้างหรือควรจะเป็น ส่วนอายุพระสมเด็จของกลางทางกรมศิลปากร ไม่สามารถตรวจสอบให้แน่ชัดได้ เพราะจากการประเมินพบว่ามีอายุไม่เกิน 1 ร้อยปี ซึ่งการที่จะตรวจสอบค่าอายุได้วัตถุโบราณชิ้นนั้นต้องมีค่าอายุมากกว่า 1 ร้อยปี ขึ้นไปจึงจะสามารถตรวจสอบได้ ขณะที่วัตถุโบราณของกลางจำพวกหยก หุ่น เสื้อผ้าโบราณและของมีค่าอื่นๆจากประเทศจีนที่อ้างว่าเคยเป็นของราชวงศ์ชิง ซูสีไทเฮา และ “ปูยี” จักรพรรดิองค์สุดท้ายจีนแผ่นดินใหญ่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เมื่อพิจารณาจากอายุของวัตถุและความประณีตลวดลายต่างๆค่อนข้างต่างกันมากพอสมควร

Advertisement

นางบุศยารัตน์ กล่าวว่า ขณะที่ในส่วนของการตรวจสอบรูปภาพที่นายธรรมยุทธ์ หรือ อาจารย์ยอด เจ้าของศูนย์มหาสมบัติดังกล่าว อ้างว่าเป็นภาพหลวงวิจารณ์เจียรนัยกับนางเง็ก โดยมีตราประทับรับรองจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการทำปลอมขึ้นมาอย่างแน่นอน และบุคคลที่ปรากฏในรูปใบดังกล่าวก็ไม่ใช่หลวงวิจารณ์เจียรนัย แต่เป็นพระยาราชมนตรี (สง่า สิงหลกะ) และ คุณหญิงปั่น สิงหลกะ ซึ่งมีหลักฐานจากบุคคลในครอบครัวสิงหลกะเป็นผู้ยืนยัน อีกทั้งปกติแล้วรูปภาพต่างๆในหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่มีตราประทับ จะเป็นรูปจากฟิล์มกระจก ไม่ใช่ภาพวาด แต่ภาพที่ผู้ต้องหานำมากล่าวอ้างนั้นเป็นภาพวาด จึงชัดเจนว่าเป็นภาพที่ถูกทำปลอมขึ้นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image