เปิดคำพิพากษายกฟ้อง’อ๋อย’ จาตุรนต์ ฉายแสง ขัดคำสั่งคสช.

เปิดคำพิพากษายกฟ้อง “อ๋อย จาตุรนต์”ขัดคำสั่ง คสช. ศาลวางหลักแถลงข่าวให้ความเห็นสามารถทำได้หากไม่กระทบผู้อื่นยกปฏิญญาสากล คำวินิจฉัยระบุชัด การดำเนินคดีจำเลยนี้ไม่อยู่ในหลักนิติรัฐนิติธรรมไม่ได้หลักสัดส่วนข้อหา หากพนักงานสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอไม่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ ชี้ เป็นการใช้กระบวนการยุติธรร ปิดกั้นอิสระในการพูดบิดเบือนการกระทำ

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง นายจาตุรนต์ ฉายแสง  อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยเป็นจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืน ขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่37/2557,พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3) กรณีวันที่ 27 พ.ค.57 จำเลยได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทั้งต่อต้านการเข้าควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) โดยให้ประชาชนเห็นว่า  การเข้าควบคุมอำนาจของ คสช. เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และคำสั่งหรือประกาศ คสช.ก็ไม่ถูกต้องตามกฎหมายฯทำให้ประชาชน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนทั่วไปต่อต้านการคุมอำนาจของ คสช. เป็นการยั่วยุปลุกปั่นทำลายความน่าเชื่อถือของคณะ คสช.เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร  ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 ,368,91  พ.ร.บ.เกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอรฯ พ.ศ.2550 มาตรา14

โดยรายละเอียดพิพากษาฉบับเต็มมีดังนี้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อ22 พ.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการยึดอำนาจบริหารงานจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีจำเลยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังจากนั้นมีประกาศคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แต่จำเลยไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง จนกระทั่งวันที่ 27 พ.ค.เวลากลางวัน จำเลยเดินทางมาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย แถลงข่าวให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศที่ประจำอยู่ประทศไทยเป็นภาษาอังกฤษ

Advertisement
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การแถลงข่าวของจำเลยเป็นการยุยง ปลุกปั่น เพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มี พ.ต.วิทยา สังขบุญชู เบิกความว่า เมื่อวันที่27 พ.ค.57 เวลากลางวัน จำเลยเดินทางมาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศประมาณ 80 คน  เป็นภาษาอังกฤษโดยสรุปเนื้อหาได้ว่า”จำเลยไม่เห็นด้วยกับการเข้ามายึดอำนาจของคสช. จำเลยยังได้นำข้อความที่มีการสัมภาษณ์ลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 พ.ค. โดยใช้ชื่อเฟซบุ๊ก Chaturon.Fanpage และChaturon Chaisang ข้อความในบทสัมภาษณ์และข้อความที่จำเลยลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก มีผลทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อและคล้อยตาม เนื่องจากจำเลยเป็นอดีตนักการเมืองพรรคเพื่อไทยและเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นบุคคลที่ประชาชนให้การยอมรับและเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ  จำเลยมีวัตถุประสงค์ในการยั่วยุ ปลุกปั่น ต่อต้านการเข้ามายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ซึ่งในขณะนั้นสถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบมีความวุ่นวายทั่วประเทศ การกระทำของจำเลยทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้ต่อต้านทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช.เพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบและความแตกแยกในหมู่ประชาชน อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในราชอาณาจักร ทำให้ประชาชนต่อต้านและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงไม่สุจริตและเป็นการกระทำละเมิดต่อกฎหมาย

พ.ต.ป้องรัฐ แย้มงามเรียบ เบิกความว่า พยานเดินทางมาที่เกิดเหตุ  และพาจำเลยออกจากสถานที่ดังกล่าวไปยังสน.ลุมพินี

เห็นว่า  ความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐภายในราชอาณาจักร  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 ผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำให้ปรากฎโดยการแสดงออกโดยชัดแจ้งไม่ว่าจะทำให้ปรากฏด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต  เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน  การที่จำเลยในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่อยู่ร่วมรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่ทำการของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เพื่อแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายสำนักข่าว

“การแถลงข่าวของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) หรือเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งหมายถึง สิทธิในการแสดงออก หรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดหรือความเห็น
ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกด้วยการพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ การเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้กับสังคมโดยรวมย่อมเป็นสิ่งจำเป็น และควรได้รับความคุ้มครองซึ่งเป็นสิทธิในระดับสากลที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในเสรีภาพของการแสดงออกทางความคิดด้วยการพูด ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนจักมีสิทธิออกความเห็นโดยไม่ถูกแทรกแซงและทุกคนจักมีสิทธิในเสรีภาพการพูด สิทธินี้รวมไปถึงเสรีภาพในการแสวงหา ได้รับและส่งต่อข้อสารสนเทศและความคิดในทุกรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงขอบเขต ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียนหรือการพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือผ่านสื่ออื่นใดที่เป็นทางเลือกของเขา เพื่อคุ้มครองความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตราบใดเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้น ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น รายละเอียดในการการแถลงข่าวของจำเลยต่อสื่อมวลชนสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก “

Advertisement

มีนัยยะสำคัญที่ปรากฎซึ่งแยกพิจารณาได้ 4ประการดังนี้

ประการแรก จำเลยแถลงข่าวและแสดงออกไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช)

โจทก์มีพ.ต.วิทยา  มาเบิกความยืนยันว่า ข้อความที่จำเลยสัมภาษณ์  มีผลทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อและคล้อยตาม  เนื่องจากจำเลยเคยเป็นอดีตนักการเมืองพรรคเพื่อไทยและเคยดำรงตำแหน่ง รมต.กระทรวงศึกษาธิการ เป็นบุคคลที่ประชาชนให้การยอมรับและเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ โดยจำเลยมีเจตนาในการยั่วยุ ปลุกปั่น ต่อต้านการเข้ามายึดอำนาจ ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้ต่อต้าน ทำลายความน่าเชื่อถือของคสช. เพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบและความแตกแยกในหมู่ประชาชน อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในราชอาณาจักร ทำให้ประชาชนต่อต้านและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคสช.การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงไม่สุจริตและเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย

เห็นว่า การแถลงข่าวเพื่อแสดงความคิดเห็นของจำเลยที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง เป็นเพียงการแสดงจุดยืนของจำเลย ซึ่งได้ข้อเท็จจริงจากคำพยานจำเลยว่า จำเลยไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารและแสดงออกต่อสาธารณะชนมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไม่สงบสุขในบ้านเมือง

ในทางกลับกันจำเลยได้แสดงให้เห็นว่ายึดมั่น และได้แสดงออกซึ่งจิตวิญญาณในคุณค่าของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารโดยใช้กำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ไม่แต่เฉพาะการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) เพียงครั้งนี้เท่านั้น ทั้งได้ข้อเท็จจริงจากพ.ต.วิทยา ตอบทนายจำเลยถามค้านเจือสมกับจำเลยว่า ในการแถลงข่าวก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการชักชวนให้ประชาชนต่อต้านการยึดอำนาจ ดังนั้น การแสดงออกด้วยการแถลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการแสดงจุดยืนซึ่งสามารถกระทำได้โดยอาศัยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่อยู่ภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Right (ICCPR ) ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี เมื่อวัน29 ต.ค.39 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่30 ม.ค.40 อันถือเป็น “พันธกรณีระหว่างประเทศ” ที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของนาย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการทางด้านกฎหมายมหาชน ให้ความเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของจำเลยเป็นเสรีภาพที่สามารถแสดงออกได้และอยู่ภายใต้กติกาสากล ทั้งการแถลงข่าวของจำเลยไม่ปรากฏข้อความหนึ่ง  ข้อความใดอันมีลักษณะเป็นการยุยง ปลุกปั่น ปลุกระดม ส่งเสริม เร่งเร้า ให้ประชาชนภายในประเทศออกมาต่อต้านการยึดอำนาจของ คสช.  ดังจะเห็นได้ว่าจำเลยเลือกใช้ภาษาอังกฤษในการแถลงข่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาสื่อสารให้กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศซึ่งเป็นชาวต่างชาติทราบถึงเจตจำนงของตนเองในการแสดงออกที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ จำเลยมิได้แถลงข่าวด้วยภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับคนภายในประเทศ นอกจากนี้การออกมาแถลงข่าวจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า หากปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณะชน เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบสามารถเข้าควบคุมตัวจำเลยได้โดยเร็ว ซึ่งสอดคล้องเจือสมกับคำเบิกความของนายโจนาธาน  มาร์ เฮด   ผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย พยานโจทก์และจำเลยเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้มีการขออนุญาตในการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยประชุมและอนุญาตให้ใช้สถานที่ดังกล่าวในการแถลงข่าว มีการประสานงานให้ทราบล่วงหน้าไว้ก่อน หากมีเจ้าหน้าที่มาควบคุมตัวจำเลยจะยินยอมให้ควบคุมตัว พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นว่าการมาแถลงข่าวของจำเลยไม่ต้องการที่จะให้มีการใช้กำลัง และก่อให้เกิดความวุ่นวายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เป็นเพียงการมาแสดงจุดยืนของตนเองเท่านั้น

ประการที่สอง จำเลยมีการเรียกร้องให้คสช.หยุดการคุกคามคนที่มีความเห็นต่างทางด้านการเมือง  กรณีนี้เห็นว่า การเรียกร้องดังกล่าว เป็นการเรียกร้องให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลกระทำการภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย มิใช่เป็นการใช้กำลังทำร้ายเพื่อบังคับให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดต่อกฎหมายของบ้านเมือง  แต่การเรียกร้องของจำเลยกลับเป็นการขอให้หยุดกระทำการละเมิดต่อบุคคลที่มีความคิดเห็นต่างทางด้านการเมือง โดยให้ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและขอให้อยู่บนพื้นฐานภายใต้หลักนิติรัฐและนิติธรรม  กล่าวคือ ให้ใช้กฎหมายบังคับกับบุคคลเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมในการดำเนินคดี และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีธรรมาภิบาล“Good Governance” โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน

ประการที่สาม จำเลยเรียกร้องให้ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยใช้ความอดทน  และให้ใช้กระบวนการสันติวิธี กรณีดังกล่าว เห็นว่า การเรียกร้องโดยให้ประชาชนแสดงออกด้วยวิธีการอดทน หมายถึง มีความหนักแน่น มั่นคง  รอคอย ควบคุมความโกรธ  การไม่ตอบโต้หรือแสดงออกโดยใช้กำลัง ส่วนแนวทางการเรียกร้องประชาธิปไตยแบบสันติวิธี เป็นกระบวนการตอบโต้กับสถานการณ์ความขัดแย้งในรูปแบบที่ไม่ใช้กำลังทางกายภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ดังนั้น สันติวิธีจึงไม่ได้หมายความถึงการนิ่งเฉย หากแต่เป็นการกระทำ หรือการแสดงออกในรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช้ความรุนแรง ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ใช้สันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้ง จะไม่ต้องการใช้ความรุนแรง และไม่ต้องการทำให้การต่อสู้นั้นมีผู้คนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใช้สันติวิธีจะต้อง ใช้ความอดทนสามารถควบคุมตนเองได้ และมีความเข้าใจ มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การแสดงเจตจำนงของจำเลยนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเรียกร้องที่มีลักษณะเป็นการต่อต้าน หรือแสดงออกโดยมีการใช้กำลัง ยุยง ส่งเสริม ปลุกปั่น ให้ประชาชน ออกมาต่อต้าน หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ประการที่สี่ จำเลยเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็ว และให้เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เห็นว่า การเรียกร้องของจำเลยเป็นการแสดงออกโดยมีจุดประสงค์ต้องการให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องให้ประชาธิปไตยกลับคืนมาตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ไม่ได้เป็นการแสดงเจตนาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายของแผ่นดินหรือรัฐบาล  การแถลงดังกล่าวก็ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน  เพียงแต่เปิดทางให้ประชาชนได้ใช้อำนาจของตนเองในการกำหนดทิศทางอนาคตประเทศ เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับทุก ๆ ฝ่ายได้ใช้สิทธิของตนเองเท่าที่มีอยู่เลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ และการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  การเรียกร้องดังกล่าวจึงมิได้เป็นการเรียกร้องให้ดำเนินการฝ่าฝืนหรือละเมิดต่อกฎหมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะของการเรียกร้องทั้งสี่ประการดังกล่าว แม้โจทก์จะกล่าวหาว่า จำเลยมีเจตนาให้มีการเผยแพร่ถ้อยคำให้กับประชาชนทั่วไปได้รับฟัง โดยจำเลยเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง และเป็นอดีตรมต.หลายสมัย ตำแหน่งสุดท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ย่อมเป็นที่สนใจของนักการเมืองและประชาชนทั่วไป คำแถลงของจำเลยย่อมมีผู้คล้อยตาม จำเลยต้องการให้ประชาชนรับรู้ถึงการที่จำเลยต่อต้านการเข้าควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยให้ประชาชนเห็นว่าการเข้าควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและคำสั่งหรือประกาศที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคืนอำนาจให้แก่ประชาชน

ซึ่งการแถลงข่าวของจำเลยตามวันเวลาเกิดเหตุเป็นห้วงระยะเวลาเริ่มแรกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศยังมีความรุนแรงอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำ เพื่อต่อต้านการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นการยุยงปลุกปั่นทำลายความน่าเชื่อถือ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อให้เกิดการปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สะดวกขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  โดยมี พ.ต.วิทยา พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนคำฟ้อง

ซึ่งกรณีตามคำฟ้องดังกล่าวก็เป็นเพียงการคาดการทางความคิดในสถานการณ์ซึ่งเป็นสมมุติฐานในอนาคตที่ไม่แน่นอน ทั้งไม่ปรากฎว่ามีประชาชนเห็นคล้อยตามและมีพฤติการณ์ก่อความไม่สงบในบ้านเมื่องตามที่กล่าวอ้าง  อีกทั้งไม่ปรากฎว่ามีการใช้อาวุธเข้าต่อสู้ หรือมีการสะสมกำลังเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจ  เมื่อทหารเข้าควบคุมจำเลยก็ยินยอมให้ควบคุมไปแต่โดยดี

“ซึ่งในทางกลับกันจำเลยกลับแสดงออกให้เห็นว่า เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศและมีการประกาศ เรื่อง การสิ้นสุดชั่วคราวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แม้จะมีการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ แต่การเข้ายึดอำนาจก็มิได้มีการประกาศยกเลิกการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา113บัญญัติว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ  (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ  ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ก็ทราบดีว่าการเข้ายึดอำนาจเป็นการกระทำละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าว “

ดังจะเห็นได้จาก เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช2557 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131ตอนที่ 55 ก ลงวันที่22 ก.ค.57ได้มีการ”นิรโทษกรรม”การกระทำอันเป็นความผิดกฎหมายของตนเองไว้อีกชั้นหนึ่งซึ่งบัญญัติไว้ใน มาตรา48 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

ดังนั้น การที่จำเลยแสดงความคิดโดยไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการต่อต้านการละเมิดต่อกฎหมายนั่นเอง การออกมาแสดงความคิดเห็นของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต

ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดแต่มีการกลั่นแกล้งแจ้งข้อกล่าวหา เพื่อดำเนินคดีเพราะเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจนั้น แม้โจทก์มีพ.ต.อ.นทธีฤทธิ์ หาญเสน่ห์ลักษณ์ พนักงานสอบสวนร่วมมาเบิกความเป็นพยาน แต่กลับเบิกความว่าขณะที่ตนเองทำหน้าที่พนักงานสอบสวนร่วม ไม่ทราบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหานี้กับจำเลย ซึ่งสอดคล้องกับพ.ต.ต.ไพฑูล จ้อยสระคู พนักงานสอบสวนร่วมซึ่งเป็นพยานโจทก์อีกคนหนึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า การกระทำของจำเลยไม่น่าจะเป็นความผิดฐานยุยง ปลุกปั่น ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเฉพาะพ.อ.พิเชียรรัฐ ภารัญนิตย์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นนายทหารที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามพฤติการณ์ของจำเลย เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยืนยันว่า จำเลยมีการแถลงข่าวด้วยความสงบ ไม่ได้ยุยงให้ประชาชนออกมาใช้กำลังต่อต้าน จำเลยแถลงข่าวโดยสันติวิธี และขอไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน รับฟังความเห็นต่าง ด้วยสันติวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง เจือสมกับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช อดีตผบ.ตร. เบิกความสอดคล้องกับจำเลยว่า ลักษณะการแถลงข่าวของจำเลย ไม่สามารถแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานนี้ได้ ทั้งพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช) เบิกความยืนยันให้ความเห็นว่า การแถลงข่าวของจำเลยมิได้เป็นการกระทำที่เป็นภัยคุกคามที่กระทำต่อเอกราชอธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือความปลอดภัยของประชาชน หรือที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิได้ก่อให้เกิดสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2559

บุคคลใดในข้อหายุยง ปลุกปั่น ทำให้เกิดความวุ่นวายในราชอาณาจักร ตามหมวด 2ซึ่งเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 ซึ่งถือว่าเป็นข้อหาที่ร้ายแรง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

“การแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นจำเลยหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักความได้สัดส่วน (Principle of proportionality) ซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้อำนาจกับผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจ การใช้อำนาจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย จะใช้อำนาจละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะต้องใช้อำนาจเท่าที่จำเป็น การกระทำละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนจะต้องมีฐานที่มาของอำนาจหรือมีกฎหมายให้อำนาจไว้ การแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับบุคคลใดต้องได้สัดส่วนที่เหมาะสม(Principle of suitability) ความจำเป็น (Principle of Necessity) ทั้งต้องมีความใกล้ชิดกับเหตุที่เกิดขึ้นและมีมูลเหตุเพียงพอตามสมควร การร้องทุกข์ กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดใด รัฐจึงต้องมีมาตรการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดนั้นได้ก่อน เมื่อมีการร้องทุกข์ กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีแล้ว กระบวนการให้ได้ตัวจำเลยมาแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีนั้นถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะนำคดีมาฟ้องศาล แต่คดีนี้กลับมีการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับจำเลย เมื่อ28 พ.ค.57 ตามหนังสือมอบอำนาจ และสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี มีการควบคุมตัวจำเลย แล้วจึงสอบ ปากคำพยานทั้งหมดในภายหลัง เพื่อรวบรวมหาพยานหลักฐานสนับสนุนกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา
กระบวนการดังกล่าวนี้จึงกระทบต่อเสรีภาพของจำเลยซึ่งเป็นผู้ถูกดำเนินคดี ที่ต้องถูกจำกัดอิสรภาพและมีอุปสรรคในระหว่างที่มีการสอบปากคำพยาน รวบรวมพยานหลักฐานและพิจารณาคดี พยานโจทก์ทั้งหมดที่มาเบิกความกลับไม่มีพยานปากใดยืนยันว่า จำเลยมีการกระทำการยุยง ปลุกปั่น ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรตามที่กล่าวหา คงมีแต่ พ.ต.วิทยา เพียงปากเดียว ซึ่งก็มิได้อยู่ในเหตุการณ์และเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจให้มากล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับจำเลยเท่านั้น ซึ่งมีน้ำหนักน้อย การดำเนินคดีกับจำเลยจึงมิได้อยู่บนหลักการพื้นฐานของหลักนิติรัฐ  (Legal State ) หลักนิติธรรม (Rule of law )  การใช้อำนาจจึงไม่สัมพันธ์และได้สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลักความได้สัดส่วนนี้ จึงเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเป็นกรอบควบคุมหรือข้อจำกัดการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรัฐ มิให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งจะมีผลเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจที่ไม่พึงประสงค์ หรือบิดเบือนการใช้อำนาจ หรือมีการใช้อำนาจผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย “

การที่จำเลยแสดงออกโดยการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนดังที่ได้วินิจฉัยข้างตน เมื่อเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งการแถลงข่าวของจำเลยไม่มีพฤติการณ์หรือพยานหลักฐานเข้าข่ายอันมีลักษณะสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหา ข้อความที่จำเลยแถลงต่อสื่อมวลชนก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดเข้าข่ายอันเป็นการยุยง ปลุกปั่น หรือส่งเสริมให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลกระทำละเมิดต่อกฎหมายของบ้านเมือง การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ถึงขนาดใกล้ชิดกับความผิดฐานยุยง ปลุกปั่น เพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักรได้ การแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับจำเลยจึงเป็นการกระทำที่มีพฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการพูดหรือเพื่อควบคุมจำเลยซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมืองตามที่จำเลยกล่าวอ้าง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงไม่สามารถรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 ได้

สำหรับความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้มีพยานหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก “Chaturon.FanPage”  กลับได้ข้อเท็จจริงจากพันตรีป้องรัฐว่า หลังจากจำเลยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนจำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่27 พ.ค.57 ในระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัว ไม่ปรากฏว่ามีการอนุญาตให้จำเลยใช้โทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารใด ๆ  จนกระทั่งถึงวันที่6มิ.ย.57 จำเลยจึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว  ซึ่งก็สอดคล้องกับคำพยานจำเลยยืนยันว่า หลังจากทหารเข้าควบคุมตัว  จำเลยถูกยึดโทรศัพท์มือถือและไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ไม่สามารถติดต่อเครือญาติได้ เมื่อข้อความที่มีการโพสต์ในเฟซบุ๊ก หน้าเว็บเพจชื่อ “Chaturon.FanPage” ของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า Chaturon Chaisang  อยู่ในช่วงระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัว พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีมูลเพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้นำเข้าข้อมูลข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2557 มาตรา14(3) ได้
พิพากษายกฟ้องโจทก์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image