ปธ.ศาลฎีกาออกเเนวปฏิบัติต้องคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายให้ทราบทุกขั้นตอนคดีควบคู่คุ้มครองสิทธิ

ประธานศาลฎีกา ออกเเนวปฏิบัติต้องคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายให้ทราบทุกขั้นตอนคดีควบคู่คุ้มครองสิทธิจำเลย-ผตห.

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวประจำศาลยุติธรรม พร้อมด้วยบรรณาธิการสำนักข่าว เข้าเยี่ยมพบปะเนื่องในโอกาสสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2564 พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการทำงานของศาลฎีกา โดยตอนหนึ่งนางเมทินี กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายเหยื่ออาชญากรรมและพยาน ว่า ช่วงที่นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ เป็นประธานศาลฎีกา จะเห็นได้ว่าตนก็ได้ไปช่วยทำโครงการดังกล่าว แล้วก็มีคำถามกลับมาว่า ศาลช่วยดูแลแต่จำเลยหรือผู้ต้องหาที่กระทำความผิดหรือไม่ ฝ่ายผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรม รวมถึงพยานซึ่งเป็นพลเมืองดีมาเบิกความต่อศาล เพื่อให้การพิจารณาคดีต่อไปได้นั้น ได้รับการดูแลหรือไม่ ยืนยันว่าเราดูแลอยู่แล้ว เวลาที่เราจะทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัด ก็จะมุ่งไปที่จุดเดียวก่อน แต่จุดอื่นก็ยังทำอยู่

นางเมทินี กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายหรือจำเลยเริ่มอยู่ตัว เข้าใจตรงกันหมดแล้ว การเข้าถึงสิทธิก็เริ่มรับรู้แล้ว เราก็จะมาเน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรมและพยาน อยากให้ผู้เสียหายหรือผู้ที่ถูกกระทำรู้สิทธิของตน เช่นถูกทำร้ายร่างกาย เขาต้องรู้ว่าทำอะไรได้บ้าง ตั้งแต่ชั้นสอบสวนถึงชั้นพิจารณาของศาล เมื่อมีการฝากขังผู้ต้องหา ถ้าอยากจะแถลงอะไรให้ศาลทราบก็ต้องเปิดโอกาส การเรียกค่าสินไหมทดแทน ศาลจะช่วยดูแลให้คำแนะนำ หรือในชั้นพิจารณาคดีถ้าไม่อยากให้ผู้ต้องหาได้ประกันตัว เนื่องจากถ้าปล่อยชั่วคราวจะไปก่อเหตุทำให้หวาดกลัว ก็มีสิทธิที่จะแสดงความกังวลใจ

“ได้ออกคำแนะนำประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติต่อผู้เสียหายไปแล้ว ว่าศาลจะต้องรับฟังความรู้สึกนึกคิดของผู้เสียหายด้วยความมีเมตตา รับฟังความกังวลใจของเขา รับฟังแล้ว ไม่ใช่ว่ารับฟังเฉยๆ เอามาเก็บเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา การใช้ดุลยพินิจการกำหนดโทษจำเลย สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปมีส่วนอยู่ด้วย ไม่เช่นนั้นผู้เสียหายจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการดูแลจากทางศาลเลย” นางเมทินี กล่าว

นางเมทินี กล่าวต่อไปถึงกรณีศาลเรียกไกล่เกลี่ยด้วยว่า จริงๆ ศาลอยากให้ทั้งสองฝ่ายที่ทะเลาะกัน มีข้อขัดแย้งกัน สามารถออกไปจากศาลด้วยความเป็นมิตรต่อกัน ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายไปแล้ว ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยเงินทั้งหมด แต่ก็ยังรู้สึกว่ามีการชดเชยในบางส่วนได้ และศาลจะเป็นคนดูแลให้เขารู้ถึงสิทธิเหล่านี้ว่าทำอะไรได้บ้าง ภายหลังที่ศาลพิพากษาไปแล้ว สมมุติว่าให้ได้รับค่าสินไหมทดแทน ก็จะดูแลจนกว่าเขาจะบังคับคดีให้ได้รับเงินจำนวนนั้นด้วย โดยสามารถแต่งตั้งทนายความขอแรง ดำเนินการช่วยให้คำแนะนำได้ รวมถึงแจ้งสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา และการเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมสามารถทำอะไรได้บ้าง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image