ปธ.ศาลฎีกาประชุมผ่านจอภาพร่วมผู้บริหารศาลทั่วประเทศขับเคลื่อนนโยบาย5 ส.

ปธ.ศาลฎีกาประชุมผ่านจอภาพร่วมผู้บริหารศาลทั่วประเทศขับเคลื่อนนโยบาย5 ส.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพอำนวยความยุติธรรมประชาชน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 มกราคม ที่ห้องประชุม 409 อาคารศาลฎีกา เขตพระนครนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารศาลยุติธรรมเรื่อง “การประสานความร่วมมือของหน่วยงานในการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารศาลยุติธรรม” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 1 โดยมีผู้บริหารในศาลฎีกาและสำนักประธานศาลฎีกาเข้าร่วมการประชุมพร้อมทั้งร่วมประชุมทางไกลผ่านจอภาพกับผู้บริหารในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1-9 และสำนักงานศาลยุติธรรมโดยการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายในด้านต่างๆซักซ้อมเกี่ยวกับการตรวจราชการศาลต่างๆด้วยระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพรวมทั้งขอความร่วมมือในการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายและการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพยานในคดีอาญา

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการกำหนดอัตรากำลังของผู้พิพากษาให้เหมาะสมแนวทางการบริหารจัดการคดีในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าและพิจารณาเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจร่างคำพิพากษาของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับนโยบายหลัก 5 ด้านหรือ 5 ส. คือ เสมอภาค-สมดุล-สร้างสรรค์-ส่งเสริม-ส่วนรวม ของประธานศาลฎีกา มีรายละเอียดดังนี้

Advertisement

1.นโยบายเรื่องความเสมอภาค โดยมุ่งให้ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาค พัฒนาระบบงานศาลยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ในความบริสุทธิ์ยุติธรรมโปร่งใสและตรวจสอบความคืบหน้าของคดีได้ กระจายการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสู่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ลดขั้นตอนลดภาระค่าใช้จ่ายลดระยะเวลาในการดำเนินคดีและปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม ประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างเข้าถึงและเข้าใจเพื่อความเสมอภาคในการรับรู้ถึงสิทธิของตน สร้างกลไกหรือวิธีการที่ศาลจะได้รับข้อมูลรอบด้านอย่างครบถ้วนและเปิดเผยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและเพื่อให้การใช้ดุลพินิจเป็นไปอย่างเข้าใจสังคม

2.ด้านสมดุล ศาลต้องสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอนยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยระหว่างการต่อสู้คดีในศาลยกระดับการคุ้มครองสิทธิแก่ผู้เสียหายเหยื่ออาชญากรรมในคดีอาญาและพยาน

3. ด้านสร้างสรรค์ ต้องสร้างกลไกการดำเนินกระบวนพิจารณาและการพิพากษาคดีที่ทันสมัยพัฒนากลไกและระบบการดำเนินคดีที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ความปลอดภัยของประชาชนและเศรษฐกิจสังคมของประเทศให้มีประสิทธิภาพเป็นธรรมและสอดคล้องกับบริบทของสังคมพัฒนาระบบเจ้าพนักงานคดีเพื่อให้มีบทบาทสนับสนุนการพิจารณาคดีของศาลเพิ่มขึ้น พัฒนาระบบการตรวจร่างคำสั่งหรือคำพิพากษาในทุกชั้นศาลและ การประชุมคดีในศาลสูงโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

Advertisement

4.ด้านส่งเสริม โดยส่งเสริมความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการและให้ความสำคัญแก่คุณภาพชีวิตของบุคลากร ยกระดับสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมให้เป็นสถาบันหลักทางวิชาการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาได้ทำงานด้านวิชาการโดยเฉพาะอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากงานด้านการพิจารณาพิพากษาคดี จัดอัตรากำลังบุคลากรให้เหมาะสมสอดคล้องกับภาระงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพส่งเสริมให้บุคลากรได้พัฒนากายและจิตเพื่อสร้างดุลยภาพในการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ส่งเสริมให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างเป็นธรรมและได้รับค่าตอบแทนที่สัมพันธ์กับความรู้ความสามารถหน้าที่ความรับผิดชอบตลอดจนระยะเวลาการทำงาน

5.ด้านส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดการรับรู้และมีส่วนร่วมสร้างช่องทางการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งอย่างเป็นระบบสำหรับบุคลากรภายในเพื่อประสานความร่วมมือและเสริมสร้างความรักสามัคคีสร้างการรับรู้ลดช่องว่างและส่งเสริมการมีส่วนร่วมสำหรับบุคลากรภายนอกในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาและการพัฒนางานศาลยุติธรรมที่ยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image