“จาตุรนต์”ยื่นอสส.ถอนฟ้องคดี 116 หลังชนะคดี พร้อมขอให้ดุลพินิจตรวจสอบคดีจากอัยการศาลทหารทั้งหมด

“จาตุรนต์”ยื่นอสส.ถอนฟ้องคดี 116 หลังศาลอาญาพิพากษาชนะคดี พร้อมขอให้ดุลพินิจตรวจสอบคดีที่โอนมาจากอัยการศาลทหารทั้งหมด เผย 6 ปีที่ผ่านมาโดนตั้งข้อหากลั่นเเกล้งไม่ได้รับความเป็นธรรม เตือนตร.คุกคามประชาชนเป็นต้นเหตุความรุนแรง โฆษกอัยการรับหนังสือตรวจสอบก่อนทำความเห็นเสนออสส.

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการรศึกษาธิการ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ พร้อมด้วยนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ เป็นนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เเละทีมทนายความ เดินทางมายื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อให้ถอนฟ้องคดีที่นายจาตุรนต์ถูกฟ้องในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว จากกรณีแถลงข่าวคัดค้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ วันที่ 27 พ.ค. 2557 รวมถึงขอให้ อสส.ใช้ดุลพินิจตรวจสอบคดีที่โอนมาจากศาลทหาร

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า คดีนี้เกิดขึ้นจากการที่ตนไม่ได้ไปรายงานตัวต่อคสช.และไปแถลงข่าวนำไปสู่การตั้งข้อหา ทั้งหมดเป็นลักษณะคดีกลั่นแกล้งปิดปากผู้เห็นต่าง ไม่ให้ความเป็นธรรม และทำให้เดือดร้อนอย่างมากตลอด 6 ปีกว่าที่ผ่านมา โดยในการดำเนินคดีตั้งแต่จับกุม ตั้งข้อหา รวบรวมพยานหลักฐาน สั่งฟ้องโดยอัยการศาลทหารเป็นไปโดยไม่ชอบตาม ป.วิ.อาญา เช่น ตั้งข้อหาก่อน รวบรวมพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้อหาภายหลัง ทั้งที่ดูจากพยานหลักฐานแล้วไม่อาจตั้งได้ หรือรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่การกระทำของผู้ต้องหา เช่น การตั้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งพยานหลักฐานที่ปรากฏชัดอยู่แล้วว่า ทุกคนยกเว้นผู้แจ้งความเห็นว่าข้อความที่ตนแถลงไม่เป็นความผิด ข้อความที่ปรากฏบนคอมพิวเตอร์ฯ ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นของตน แต่ก็ดำเนินคดีมา ในที่สุดศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้อง ด้วยยกเหตุผลตามคำพิพากษาว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญและหลักสากล

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า คดีนี้ถึงขั้นตอนที่จะอุทธรณ์หรือไม่ เเต่ตนไม่ได้เสนอให้ไม่อุทธรณ์ เนื่องจากเป็นการตัดสินใจของพนักงานอัยการที่รับผิดชอบ แต่กฎหมายกำหนดให้อัยการสูงสุดมีอำนาจพิจารณาฟ้อง ไม่ฟ้อง ถอนฟ้องคดีที่ดำเนินการไปแล้วไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม กรณีนี้เห็นชัดเจนไม่เป็นธรรม กลั่นแกล้ง มีปัญหาในกระบวนการดำเนินคดีมาตั้งแต่ต้น ถ้าดำเนินการต่อไปมีแต่จะทำให้เสื่อมเสียต่อสังคมและระบบยุติธรรมเอง จะทำให้ผู้คนเสื่อมความศรัทธาต่อระบบยุติธรรม การฟ้องต่อไปไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเสียหายต่อสังคม จึงเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาเรื่องนี้ทั้งหมด

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า หวังว่าการเสนอในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ควรให้ตำรวจ อัยการตั้งข้อหาเกินจริงเกินกว่าเหตุ แล้วให้ผู้ต้องหา จำเลยต้องสู้คดีหลายปีทั้งที่เป็นเรื่องไม่ควรขึ้นศาลตั้งแต่ต้น และต้องการให้เป็นบรรทัดฐาน เรื่องที่โอนจากศาลทหารมายังศาลยุติธรรมปกติ ผู้เกี่ยวข้องพึงใช้ดุลพินิจตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่ที่ศาลทหาร การดำเนินการของอัยการศาลทหารภายใต้บังคับบัญชาของรมว.กลาโหมซึ่งเป็นรองหัวหน้าคสช. หรือการสั่งโดยหัวหน้า คสช. มีอะไรที่ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม ก็ควรที่อัยการปกติจะใช้วิจารณญาณตามหลักกฎหมายเพื่อให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนที่ถูกคุกคาม ทำร้าย เสื่อมเสียอิสรภาพ ลำบากเดือดร้อนในระหว่างสู้คดี หวังว่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงการร้องอัยการสูงสุดครั้งนี้ให้พิจารณาทุกคดีที่โอนมาจากศาลทหารใช่หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตนเสนอทั้งสองอย่าง คือถอนฟ้องคดีนี้ และควรจะใช้กรณีนี้ให้ความเป็นธรรมต่อผู้อื่นด้วย ควรจะทบทวนหลักปฏิบัติเสียใหม่ ไม่ใช่ทำเป็นอัตโนมัติว่าส่งมาอย่างไรก็ทำต่อไป ทั้งที่เห็นชัดเจนว่าเรื่องไม่ควรขึ้นศาลตั้งแต่ต้น ทำให้เสียหาย อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการอัยการสามารถกำหนดหลักปฏิบัติขึ้นได้ ว่าพนักงานอัยการจะต้องตรวจสอบสำนวนพยานหลักฐานเสียก่อนแล้วใช้ดุลพินิจ สมมติถ้าอัยการศาลทหารสั่งฟ้องว่าใช้ปืนฉีดน้ำพยายามฆ่า อัยการปกติจะต้องสั่งฟ้องต่อไปหรือไม่

ทั้งนี้ นายจาตุรนต์กล่าวถึงสถานการณ์การดำเนินคดีต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันด้วยว่า ทั้งในการตั้งข้อหาและสั่งฟ้องประชาชนที่ใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น เป็นการตั้งข้อหาเกินกว่าความเป็นจริง เกินกว่าเหตุ ในชั้นตำรวจมีการไปคุกคามประชาชนชัดเจนทั้งแสดงตัวและไม่แสดงตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญในการทำให้เกิดความรุนแรงในสังคม ต่อไปใครมาขออุ้มเด็กเยาวชนไปไม่แสดงตัว ต่อไปเขาก็ต้องป้องกันตัว ก็จะกลายเป็นการปะทะใช้ความรุนแรง อยากให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทบทวนเรื่องการดำเนินคดีแบบเกินกว่าเหตุ และการคุกคามหน่วงเหนี่ยวทำให้ประชาชนผู้แสดงความเห็นโดยสุจริตต้องเสื่อมเสียอิสรภาพ

ด้านนายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวภายหลังเป็นผู้แทนรับเรื่องว่า สำนวนของ นายจาตุรนต์นั้นเป็นสำนวนที่โอนมาจากศาลทหาร ซึ่งมีสำนวนที่โอนมาจากอัยการศาลทหารมาอยู่ในมือของสำนักงานอัยการสูงสุด 30 กว่าเรื่อง ปัจจุบันสำนวนคดีจะอยู่ที่สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าวแล้ว ตนจะให้ทีมงานรวบรวมข้อเท็จจริง นำเสนออัยการสูงสุดเพื่อวินิจฉัยต่อไป ส่วนประเด็นว่าจะมีอำนาจสามารถถอนฟ้องคดีได้หรือไม่นั้น จะต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อาญา กำหนดไว้ ซึ่งได้กำหนดอำนาจไว้อยู่แล้วว่าคดีประเภทใดจะสามารถถอนฟ้องคดีได้ ถ้าหากกฎหมายกำหนดให้ทำได้ก็จะทำ ต้องดูกฎหมายเป็นหลัก ตอนนี้ต้องไปตรวจสอบข้อกฎหมายก่อน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image