นายกสมาคมทนายฯเเถลงหนุน ‘อ๋อย’ ร้องอสส.พิจารณาคดีศาลทหารคืนความเป็นธรรม

‘นรินท์พงศ์’ นายกสมาคมทนายความเเถลงหนุน ‘จาตุรนต์’ ร้องอสส.พิจารณาคดีศาลทหารคืนความเป็นธรรมเป็นประโยชน์ระบบความยุติธรรม ชี้คำพิพากษาศาลอาญาระบุการเเจ้งข้อหายกฟ้องอดีตรองนายกฯไม่ได้สัดส่วน ควรปฏิรูปการใช้อำนาจตำรวจ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม  นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กสมาคมทนายเเห่งประเทศไทย มีความว่า เมื่อ เวลา 13.30 น.วันที่ 19 ม.ค.64 สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โดยนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางไปสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ต่ออัยการสูงสุด (อสส.)

กรณีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 27 พ.ค.57 นายจาตุรนต์ได้ออกมาแถลงข่าว ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (Foreign Correspondents’ Club of Thailand – FCCT) ไม่เห็นด้วยและคัดค้านการทำรัฐประหาร ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จนถูกควบคุมตัวและตกเป็นจำเลย ในข้อหาขัดคำสั่งและฝ่าฝืนคำสั่งให้มารายงานตัวของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ความผิดอาญาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ มาตรา 116 พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3)

นายจาตุรนต์ เป็นนักการเมืองคนแรกที่ออกมาคัดค้านต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ด้วยสันติวิธี และต้องตกเป็นจำเลยตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ต้องต่อสู้คดีในศาลทหาร และศาลอาญา อย่างยาวนานต่อเนื่องถึง 6 ปี 6 เดือน 26 วัน จนเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.63 ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้อง ในเนื้อหาและสาระเนื้อหาสำคัญในคดี ว่าการกระทำของนายจาตุรนต์ ในการแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศในครั้งนั้น เป็นเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) และเป็นเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตามกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง [International Covenant on Civil and Political Right (ICCPR)] ที่อยู่ภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)

ศาลอาญาได้วินิจฉัยเห็นว่า การกระทำของนายจาตุรนต์ที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของ คสช. เพราะเป็นการละเมิดกฎหมาย เป็นการแสดงจุดยืนที่ยึดมั่นและแสดงออกซึ่งจิตวิญญาณในคุณค่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการเรียกร้องให้ คสช. หยุดคุกคามและให้หยุดกระทำละเมิดต่อบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง และเรียกร้องให้ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยให้ใช้ความอดทนควบคุมตนเอง โดยใช้สันติวิธีในการเรียกร้องประชาธิปไตย และให้ คสช.คืนอำนาจให้ประชาชนและจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และยืนยันว่า การรัฐประหารเป็นการกระทำละเมิดต่อกฎหมาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานก่อการกบฏ การกระทำของนายจาตุรนต์ ในการแถลงข่าวในครั้งนั้น เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการพูด ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นความผิด

Advertisement

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับนายจาตุรนต์ที่ขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ และสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลอาญา โดยมีเหตุผลดังนี้
1.การแจ้งข้อกล่าวหาของตำรวจ ต้องไม่เกินกว่าความเป็นจริง ในการกระทำและพฤติการณ์แห่งคดี
2.การใช้ดุลพินิจในการสั่งฟ้อง ต้องอยู่พื้นฐานของหลักความได้สัดส่วน (Principle of Proportionality) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐาน ของความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจ ผู้ใช้อำนาจ กับ ผู้ต้องหา การแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีต้องได้สัดส่วนที่เหมาะสม (Principle of Suitability) ความจำเป็น(Principle of Necessity) มีความใกล้ชิดกับเหตุที่เกิดขึ้นและมีมูลเหตุเพียงพอ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ตำรวจจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานจนเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาให้ได้ก่อน การแจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมจำเลย จึงเป็นขั้นตอนสุดท้าย

หลักความได้สัดส่วนนี้ เป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นอกจากนั้น ยังเป็นกรอบควบคุมหรือข้อจำกัดการใช้อำนาจของตำรวจ มิให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจซึ่งมีผลเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจไม่พึงประสงค์ หรือบิดเบือนการใช้อำนาจให้ผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย
แต่คดีดังกล่าวนี้ มีการจับกุมนายจาตุรนต์ฯ ก่อน แล้วตำรวจจึงไปสอบปากคำพยานบุคคลภายหลัง เพียงเพื่อให้ต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าความเป็นจริง ซึ่งหลักการที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ตำรวจต้องทำการสอบสวนพยานหลักฐานให้ครบถ้วนเสียก่อน การจับกุมน่าจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะนำคดีมาฟ้องศาล

ตำรวจต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของรัฐ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากผู้เห็นต่าง เพื่อสร้างความหวาดกลัวและจำกัดสิทธิและเสรีภาพ หรือควบคุมผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง
3.เนื่องจาก นายจาตุรนต์ต้องตกเป็นจำเลยในคดีนี้ภายใต้อำนาจเผด็จการ ไม่เคยได้รับความยุติธรรมในระบบยุติธรรมเบื้องต้นมาโดยตลอด ฉะนั้น อัยการสูงสุด ควรพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็น เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับนายจาตุรนต์ ฉายแสง ต่อไป

Advertisement

ฉะนั้น การดำเนินการของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ข้างต้น จะเป็นประโยชน์ในระบบความยุติธรรม อันนำมาสู่การปฏิรูปในการใช้อำนาจของตำรวจ และเป็นบรรทัดฐานในคดีอื่น ๆ อันเป็นการป้องกันมิให้ตำรวจใช้อำนาจเกินขอบเขต แต่กลับจะเป็นกรณีศึกษาให้ตำรวจใช้ความระมัดระวังในการใช้อำนาจกับประชาชน ประกอบการดำเนินคดี ให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ (Legal State) และนิติธรรม (Rule of law)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image