“ทีไอเจ”ถกแก้ยาเสพติด “กิตติพงษ์”ชี้10ปีรัฐใช้เงิน1หมื่นล้าน แต่ไม่ดีขึ้น โพล95.%ค้านจับผู้เสพ หนุนบำบัด

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 18 สิงหาคม ที่โรงแรมคอนราด พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำเสนอนโยบายยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย (Thailand’s Drug Policy Revisited) อันจะนำไปสู่การกำหนดทิศทางที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนนโยบายยาเสพติดและยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป โดยมีนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รศ.ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม

ทั้งนี้ในงานมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สรุปผลการศึกษาและการระดมความคิด เรื่อง “โปรตุเกสโมเดล: กรณีศึกษาทิศทางใหม่นโยบายยาเสพติด” และการนำเสนอ ผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชน ต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ได้ผลสำเร็จอย่างยั่งยืน

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยคุยกับผู้พิพากษาศาลหลายท่าน บอกว่าไม่ได้อยากสั่งคุมขัง แต่จำเป็นต้องทำ เพราะกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้น เป็นอีกสิ่งสะท้อน ให้เห็นว่ากฎหมายยาเสพติดต้องมีปัญหา จึงต้องแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้อง กับ การแก้ปัญหายาเสพติดให้เดินหน้าต่อไปได้ คิดว่าคนป่วยต้องอยู่กับหมอในการแก้ปัญหายาเสพติด มาอยู่กับคุมประพฤติ ออกกำลังไม่ได้ช่วยอะไร มันต้องบำบัดในฐานะผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญรักษาคน นโนยบายรัฐในการปราบปรามยาเสพติดต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข ศาล อัยการ องค์กรเหล่านี้เข้าใจและปรับโครงสร้างองค์เพื่อแก้ปัญหา เราใช้เวลา 1 ปี ทำประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นจุดเริ่มต้น เป็นเหมือนคัมภีร์สำคัญ ในการเดินหน้าสำคัญ ต้องขอบคุณนายกิตติพงษ์ ที่พยายามทำให้คนเข้าใจยาเสพติด

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ยาเสพติดเหมือนปีศาจร้ายในสังคมไทย เคยถามผู้เกี่ยวข้องว่า หากนโยบายยาเสพติดที่ผ่านมาถูกต้องทำไม คนถึงเข้าไปอยู่ในคุกกว่า 70 % ทำไมการปราบปรามทำสงครามกับยาเสพติดคนเสียชีวิตไปกว่า 2,000 คน แล้วทำไมชาวบ้านถึงยังบอกว่ายาเสพติดยังรุนแรงอยู่ ถูกจริงหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ ตนบอกว่าต้องมีอะไรผิดสักอย่างแล้วจะอยู่กับสิ่งผิดหรือไม่ มีคนตายไปเป็นพันคนแต่ทำไมปัญหาไม่จบ ทำไมชาวบ้านยังพูดว่ามียาเสพติดในชุมชน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าต้องมีจุดผิดพลาด เราต้องยอมรับว่ามาผิดทาง เชื่อตน สังคมโลกให้ยุติสงครามมาใช้ระบบสาธารณสุข แต่เราต้องมีความพร้อม

Advertisement

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า งานยาเสพติดมี 3 อย่าง คือ ป้องกัน ปราบปราม ฟื้นฟู การแก้ต้องทำพร้อมกันทุกด้าน ไม่ได้ทำเฉพาะการปราบปราม ไม่น่าเชื่อว่าสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาไทยไม่เคยมุ่งไปที่แหล่งผลิต แต่ปราบเฉพาะในประเทศ รัฐบาลยังเดินหน้าการปราบปราม และกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน บัญชีรายชื่อนักค้ารายสำคัญมีเพิ่มมากขึ้น แบ่งเป็น 5 กลุ่ม 60 เครือข่าย พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำจะเป็นโมเดลแก้ปัญหายาเสพติดระดับโลก ส่วนผู้เสพควรได้รับการบำบัดรักษา

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ระบบการป้องกัน ทุกหน่วยทำหมดการป้องกันอยู่ที่ชุมชน แต่ยังเป็นเรื่องน่าหดหู่ ที่การแก้ปัญหายาเสพติดที่ผ่านมาไม่เป็นระบบ ป.ป.ส. จัดระบบการจัดการกับยาเสพติดให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยระดับภูมิภาคมี ป.ป.ส. ระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แต่ ป.ป.ส. ระดับอำเภอ เราไม่ได้ใช้ระบบนี้มานานแล้ว พร้อมจะจัดระบบผู้ว่าราชการจังหวัดกับนายอำเภอ เป็นผู้ปฏิบัติหลักในการดำเนินการ และเตรียมเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด และ นายอำเภอ มาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นนี้ ต้องให้ทรัพยากรแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด มีชุมชน 81,905 ชุมชน ที่ต้องแก้ไขป้องกันปราบปรามและบำบัดไปสู่ชุมชน คงไม่มีหน่วยใดที่จะรู้ข้อมูลพื้นที่และบุคคลได้มากเท่าท้องถิ่น ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เช่นเดียวกับระบบป้องกันที่พื้นที่ควรมีบทบาทมากที่สุด โดยเดือนหน้าจะมีการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตนบอกนายกรัฐมนตรีไว้แล้วว่าหากพื้นที่ใดทำไม่ได้ หรือไม่รู้เรื่อง ขอนายกรัฐมนตรีให้ใช้มาตรา 44 โยกย้ายได้เลย

“การประชุมสัมมนาวันนี้ จะให้ผมช่วยแก้อะไรก็บอกมา จะให้ยาบ้าเหลือ 50 สตางค์ก็บอกมา เดี๋ยวมีคนเอาไปเขียนอีก ก่อนหน้านั้นบอกว่าผมจะถอดยาย้า ปรับบัญชี สำหรับการเปลี่ยนบัญชียาบ้าจากวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 ไปเป็นประเภทที่ 2 นั้น ขอทำความเข้าใจว่ายาบ้าไม่ว่าอยู่ในบัญชี 1 หรือบัญชี 2 ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เขียนไปแบบไม่เข้าใจ แต่ถ้าอยากปรับบัญชีก็บอกมา คนเซ็นต์ไม่ใช่ผม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้ให้เวลากระทรวงสาธาณสุขปรับตัวเตรียมความพร้อมเรื่องการบำบัดฟื้นฟู และต้องขอบคุณรัฐมนตรีกระทรวงสาธาณสุข ยังไงก็ไม่หมด สินค้าเศรษฐกิจ แบบนี้ ผมเชื่อเหลือเกินว่ามันไม่หมดหรอก มันเป็นสินค้าเศรษฐกิจ เมื่อไหร่จะเหลือ 50 สตางค์เสียทีล่ะ อาจารย์หมอ(นพ.ปิยะสกล) ไปทำให้มันเหลือ 50 สตางค์เสียที เพราะผมไม่เชื่อว่าใครถือล้านเม็ดแล้วราคา 5 แสนบาท จะขนกันทำไม แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้น วันนี้ต้องพูดกันให้ดี” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมองว่าผู้เสพคือผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อีกทั้งต้องเห็นใจและดูแลให้กำลังใจและครอบครัวบุคคลกลุ่มนี้ด้วย เชื่อว่าจะสามารถทำให้ผู้เสพลดลงไปได้ และอาจส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสพลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานรัฐและภาคประชาชน ที่ผ่านมายอมรับว่า ยาเสพติดไม่มีแนวโน้มจะลดลง จึงจำเป็นต้องปรับวิธี โดยเฉพาะเรื่องการให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยต้องรับการรักษา การดูแลผู้ติดยาเสพติดควรขยายในวงกว้างทุกระดับ ไม่จำกัดเฉพาะโรงพยาบาลแต่ต้องรวมถึงโรงพยาบาลสุขภาพตำบลด้วย พร้อมกันนี้ยังต้องปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกัน สำหรับการปรับแก้สถานะยาบ้าจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 1 เป็นประเภท 2 ถูกกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่อยู่ระหว่างยกร่าง คาดว่าอีกไม่นานจะมีผลบังคับใช้

ขณะที่ นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า ในปี 2556 ปริมาณคดี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น สูงถึงกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณคดีทั้งหมด และจากการสำรวจทุกปีพบว่ามีจำนวนคดีเมทแอมเฟตามีนมากที่สุดเมื่อเทียบกับยาเสพติดประเภทอื่น ขณะเดียวกันจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในปี 2551ผู้ต้องขังคดียาเสพติดมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของผู้ต้องขังทั้งหมด ปี 2555 กว่าร้อยละ60 และล่าสุดในปี2558 สูงถึงกว่าร้อยละ70 นอกจากนี้ รัฐยังทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติดในตลอดช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา งบประมาณของรัฐที่จัดสรรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดผู้ติดยาเสพติดในแต่ละปีสูงถึง 4,000 ล้านบาท ถึง 10,000 ล้านบาท โดยตลอดช่วงปี 2555-2559 งบประมาณด้านยาเสพติดโดยเฉลี่ยต่อปีมีจำนวนสูงถึงกว่า10,000 ล้านบาท ขณะที่ผลการศึกษาของ UNODC พบว่าในปี 2009 – 2014 มีรายงานการจับกุมยาเสพติดเพิ่มขึ้น100% โดยสถิติผู้ใช้สารเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีนสูงถึง 33.9 ล้านคน

นายกิตติพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรมราชทัณฑ์ งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้เพื่อดูแลผู้ต้องขังสูง ถึงร้อยละ50 ของงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงยุติธรรม ขณะที่ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยไม่มีแนวโน้มจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น จึงเริ่มตั้งคำถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเปลี่ยนแนวทางการจัดการกับปัญหายาเสพติดในประเทศไทย ปัญหายาเสพติดถือได้ว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง ทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพและการดำรงชีวิต รัฐบาลเองก็ได้ยกให้ การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ

นายกิตติพงษ์ กล่าวด้วยว่า จากการวิจัยเชิงสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ95 เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปการปฏิบัติต่อผู้เสพยาเสพติด เพราะการทำสงครามยาเสพติดไม่ใช่ทางแก้ยั่งยืน แต่ปัญหากลับรุนแรงขึ้น ยากจะควบคุม แนะแยกกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ ผู้ผลิต จากผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย ค้านจับกุมคุมขังผู้เสพที่ไม่มีความผิดอาญาอื่นใด แต่ควรใช้การบำบัดฟื้นฟูที่ได้ผลสำเร็จ ปิดกั้นช่องทางหากินของเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้เสพ และเยียวยา ผู้เสพให้กลับเป็นคนดีคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืน โดยวิธีแก้ปัญหาคนเสพยาเสพติดที่ดี รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาลดโทษทางอาญา และหันมาใช้วิธีทางการปกครองและสาธารณสุขแทน เช่น กักบริเวณ เน้นการบำบัดรักษาฟื้นฟู ให้กับผู้เสพยาเสพติดแทน โดยไม่ต้องจับผู้เสพยาที่ไม่ได้ทำความผิดคดีอาญาอื่นใดอีกเข้าคุก

นายกิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบกับความสำเร็จของประเทศโปรตุเกสหรือโปรตุเกสโมเดล มีสถิติการใช้ยาเสพติดลดลงและอยู่ในระดับต่ำที่สุดในยุโรป และต่ำกว่ากลุ่มประเทศที่ใช้นโยบายลงโทษทางอาญา สถิติการเสียชีวิตจากยาเสพติดลดลง ร้อยละ 62 การติดเชื้อเอชไอวีจากยาเสพติดลดลงร้อยละ 71 คดีขึ้นสู่ศาลลดลง ร้อยละ 66 โดยผู้ใช้ยาเข้าสู่ระบบบำบัดแบบสมัครใจเพิ่มจาก 23,600 คน ทำให้โปรตุเกสเป็นประเทศที่มีสถิติผู้สมัครใจบำบัดสูงอันดับต้นของโลก สำหรับโปรตุเกสโมเดล ผู้เสพไม่ผิดกฎหมายหากครอบครองในปริมาณที่กฎหมายกำหนด โดยกำหนดโดส การใช้ยา 10 วัน การบำบัดรักษาใช้หน่วยงานสาธารณสุขและมาตรการทางปกครอง ทำให้เอื้อต่อการสมัครใจบำบัด ขณะที่การบังคับบำบัดยังใช้กับผู้เสพที่กระทำผิดกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image