“บิ๊กต๊อก”เปิดประชุมอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองพยาน ชี้ปัญหาปชช.เข้าไม่ถึงกฎหมาย

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 18 สิงหาคม ที่ห้องเจ้าพระยาบอลรูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดงานการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วย การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและการคุ้มครองพยาน (Southeast Asia Regional Conference on Legal Aid and Witness Protection) โดยมีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้บริหารระดับกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนจากสถานทูต ภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวนมากเข้าร่วม

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเชื่อมโยงติดต่อกันระหว่างประเทศเป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งที่ตามมาคือปัญหาเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์ จึงทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย แต่ละประเทศมีกฎหมายแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียนมีปัญหาที่ต้องเผชิญ ประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย สำหรับประเทศไทยพยายามปรับปรุงกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับพลเมืองไทยและพลเมืองต่างประเทศ ให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด เชื่อว่าแต่ละประเทศมีปัญหาคล้ายๆกัน เราไม่ได้สร้างกฎหมายเพื่อมาบังคับประชาชนแต่สร้างกฎหมายเพื่อให้เกิดความสุขความเสมอภาคกัน ประเทศไทยมีปัญหาที่จะนำความรู้ทางกฎหมายให้ประชาชนเข้าได้ทั่วถึง จึงมีหลายคนออกมาพูดว่า “คนรวยนอนบ้าน คนจนนอนคุก” หมายถึงคนมีเงินจะได้ประกันตัวในกระบวนการยุติธรรม ส่วนคนหาเช้ากินค่ำไม่มีเงินจึงได้รับโทษ ขณะนี้ประเทศไทยออกกฎหมายมาหลายฉบับ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงว่าตนเองมีสิทธิอะไรบ้าง จึงเป็นปัญหาที่ภาครัฐพยายามจะผลักดันเรื่องนี้ให้ประชาชนมีความเข้าใจกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีภารกิจในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองประชาชน โดยการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จะครอบคลุมตั้งแต่ต้นทาง คือการให้ความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กลางทางคือการคุ้มครองและช่วยเหลือทางกฎหมายเช่น การประกันตัว และการช่วยเหลือทางคดีผ่านทางกองทุนยุติธรรม และปลายทางคือเยียวยาผู้เสียหายหรือเหยื่อในคดีอาชญากรรม โดยมีการกระจายอำนาจไปยังระดับภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน สำหรับการคุ้มครองพยานนั้น ตามพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 เป็นการที่รัฐรับรองหลักประกันความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ล่าสุดกระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการทบทวนเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image