ศาลให้ประกัน 8 ผู้ต้องหาม็อบราษฎร 13 ก.พ. หลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยื่นคำร้องขอฝากขังนายจิตรกร แจคโคบี จูเนียร์, นายพรพรหม คงตระกูล, นายปัฐกรณ์ จาภรณ์, นายทองนพเก้า ใจไทย, นายธนเดช วรรณโพธิ์กลาง, นายอดิศักดิ์ ผาลา, นายชัยณรงค์ สมพลกรัง และนายปุรพล วงศ์เจียก ผู้ต้องหาที่ 1-8 ตามลำดับ เพื่อทำการสอบสวนกรณีผู้ต้องหาทั้งแปดร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ (การชุมนุมของกลุ่มราษฎร) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยพนักงานสอบสวนขอให้ศาลสอบผู้ต้องหาทั้งแปดและไต่สวนพยานหลักฐานผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ (Video Conference) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ศาลจึงอนุญาตให้สอบผู้ต้องหาทั้งแปดและไต่สวนคำร้องขอฝากขังดังกล่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ศาลไต่สวนคำร้องขอฝากขังดังกล่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แล้วมีคำสั่งว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องและข้อคัดค้านของผู้ร้องทั้งแปดแล้ว เห็นว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนได้รับตัวผู้ต้องหาทั้งแปดจากเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามและเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการควบคุมฝูงชน 2 และนำตัวผู้ต้องหาทั้งแปดส่งให้พนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2564 เวลา 03.00 น. โดยผู้ต้องหาทั้งแปดไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว วันนี้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาทั้งแปดมาศาลภายในกำหนด 48 ชั่วโมง

พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งแปดระหว่างทำการสอบสวน อ้างว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 11 ปาก รอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาทั้งแปด และรอรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของเจ้าพนักงานตำรวจและพยานที่ได้รับบาดเจ็บ กรณีจึงมีเหตุผลและความจำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาทั้งแปดระหว่างสอบสวน แม้ผู้คัดค้านจะอ้างว่า กรณีการฝากขังระหว่างสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นตามกฎหมาย และการกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับพนักงานสอบสวนสามารถทำการสอบสวนพยานหลักฐานได้โดยไม่ต้องฝากขังผู้ต้องหาทั้งแปดก็ได้ และผู้ต้องหาทั้งแปดไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใดก็ตาม

แต่เมื่อพนักงานสอบสวนอ้างว่าคดีนี้มีความจำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาระหว่างทำการสอบสวน เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่จะต้องสอบสวนเพิ่มเติม และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี โดยเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลได้หลายครั้ง แต่รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนฟ้องที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาทั้งแปดอยู่ในอำนาจของศาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีตัวจำเลยในการพิจารณาคดีของศาล ทั้งผู้ต้องหาทั้งแปดก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอยู่แล้ว ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาทั้งแปดฟังไม่ขึ้น จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งแปดได้ตามขอ

Advertisement

อนึ่ง ศาลได้แจ้งสิทธิการขอประกันตัวหรือขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องหาทั้งแปดทราบแล้วว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ศาลอาญาตระหนักถึงการดูแลสุขภาพและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์ดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้งแปดสามารถยื่นคำร้องขอประกันตัวหรือขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว รวมถึงคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ที่ศาลหรือทางออนไลน์ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) ได้ตลอดเวลาทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ต่อมา นายประกันผู้ต้องหาทั้งแปดยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งแปด ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งแปดระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณาชั่วคราว โดยมีประกันในวงเงินคนละ 35,000 บาท ศาลได้แจ้งคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวและปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งแปดแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image