อังคณา เปิดบันทึก 17 ปี ‘ทนายสมชาย’ สูญหาย คนมีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น เชื่อวันหนึ่งความจริงจะเปิดเผย

อังคณา เปิดบันทึก 17 ปี ‘ทนายสมชาย’ สูญหาย คนมีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น เชื่อ วันหนึ่งความจริงจะเปิดเผย

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวรำลึกถึง 17 ปี การสูญหายนายสมชาย นีละไพจิตร ระบุว่า ในวันที่ 12 มีนาคม ของทุกปี ดิฉันจะเขียนบันทึกและความรู้สึกส่วนตัว เพื่อบันทึกความทรงจำของตัวเอง หลายท่านคงจำได้ช่วงปี 2547 เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญหลายครั้งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของประชาชนเกือบ 3,000 คน ช่วงสงครามยาเสพติด เหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งกรือเซะ ตากใบ รวมถึงการหายตัวไปของประชาชนจำนวนหนึ่งที่วันนี้ยังไม่มีใครทราบที่อยู่และชะตากรรม ขณะที่ทุกกรณีผู้กระทำผิดยังคงลอยนวลและไม่เคยถูกลงโทษ

นางอังคณากล่าวว่า สำหรับการลักพาตัว สมชาย นีละไพจิตร ใครจะเชื่อว่าแม้การลักพาตัวจะเกิดขึ้นริมถนนใหญ่ เยื้องกับสถานีตำรวจ ในช่วงที่การจราจรติดขัด มีผู้คนผ่านไปมามากมาย แต่จนวันนี้รัฐบาลไทยกลับไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

นางอังคณากล่าวอีกว่า คนที่ไม่เคยได้รับความอยุติธรรมจากรัฐ และกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน คงไม่มีวันเข้าใจ คำว่า “ไม่มีความเลวร้ายใดจะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำในนามของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Montesquieu)” จริงอยู่ คดีการสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นของการบังคับสูญหายคดีแรกที่ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมจนถึงชั้นฎีกา ซึ่งต้องขอบคุณ คุณทักษิณ ที่แสดงความรับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่มีคำสั่งให้หาตัวผู้กระทำผิดให้ได้ เราจึงได้เห็นภาพตำรวจ 5 นายถูกจับและถูกจองจำในคุกก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา

Advertisement

นางอังคณากล่าวว่า แต่สุดท้ายแม้แนวทางการสอบสวนเป็นไปในทางเดียวว่าผู้อุ้มฆ่าสมชาย นีละไพจิตร คือตำรวจ แต่ท้ายที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด เนื่องจากศาลเห็นว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ รวมถึงศาลยังได้ตัดสิทธิครอบครัวในการเป็นผู้เสียหายในคดี ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา แต่ดิฉันมิอาจเห็นด้วยกับศาล

“หลังคำพิพากษาศาลฎีกาในปลายปี 58 เมื่อเดือนตุลาคม 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีหนังสือถึงครอบครัวสมชาย นีละไพจิตร แจ้งว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้งดการสอบสวนคดีสมชาย เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครทำให้สมชายเสียชีวิต อย่างไรก็ดี กรมสอบสวนคดีพิเศษก็พยายามบอกดิฉัน บอกสังคม และองค์กรระหว่างประเทศว่า คำว่า ‘งดการสอบสวน’ ไม่ได้หมายถึงการยุติการสอบสวน ความหมายของคำว่า ‘งดการสอบสวน’ คือ ‘ยังคงสอบสวนอยู่’ ซึ่งหากปรากฏพยานหลักฐานก็จะดำเนินการฟ้องร้องคดี

“ประสบการณ์ 17 ปีในการตามหาคนหายทำให้ทราบว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายคดี คือ เจตจำนงทางการเมือง (political will) ของรัฐบาล ซึ่งถ้าพูดกันตามจริง รัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์มีเจตจำนงทางการเมืองเรื่องบังคับสูญหายมากกว่ารัฐบาลอื่นๆ ทั้งการแสดงความเสียใจ รวมถึงการริเริ่มในการลงนามอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ (9 มกราคม 2555) การตั้งกรรมการร่าง พ.ร.บ.การทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย (ที่วันนี้ยังไม่ผ่านสภาฯ) รวมถึงการเยียวยาผู้สูญหายที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐใน จชต.

Advertisement


“ขณะที่รัฐบาลประยุทธ์ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย แต่ดูเหมือนคณะกรรมการชุดนี้มุ่งเน้นความพยายามในการลบชื่อผู้สูญหายในประเทศไทยออกจากรายชื่อของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN WGEID) มากกว่าการเปิดเผยที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย นำคนผิดมาลงโทษ และชดใช้เยียวยาเหยื่อและครอบครัว จึงไม่แปลกใจที่เราไม่เคยได้ยินนายกฯประยุทธ์เอ่ยชื่อผู้สูญหายในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้สูญหาย 8 คนที่สูญหายในช่วงรัฐบาลประยุทธ์

“โดยทั้ง 8 ได้สูญหายภายหลังลี้ภัยไปพักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ สยาม ธีรวุฒิ จนล่าสุดวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นรัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญกับการคลี่คลายคดีการฆาตกรรมโหดเหี้ยมของสหายกาสะลอง และสหายภูชนะ เพื่อนของสุรชัยที่ปัจจุบันพนักงานสอบสวนได้งดการสอบสวนไปแล้ว” นางอังคณากล่าว

อ่านสกู๊ปที่เกี่ยวข้อง : หรือบ่ายนี้ไม่มีความหมาย เมื่อเสียงจากผู้สูญหาย และ 15 ปี ของทนายสมชาย ยังไร้ซึ่งความจริง

นางอังคณากล่าวอีกว่า การยุติอุ้มฆ่าโดยรัฐ จึงมีความจำเป็นที่รัฐต้องแสดงเจตจำนงที่แน่วแน่ชัดเจนในการสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคง ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหาย กรณีสมชายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เฉพาะผู้นำรัฐบาล หากแต่เบื้องหลังรัฐบาลมีระบบโครงสร้างสถาบันองค์กรที่แฝงตัวหยั่งรากลึก อยู่เบื้องหลัง และควบคุมสังคมไทย ดังที่นักวิชาการหลายคนใช้คำว่า “รัฐพันลึก” คือรัฐซ้อนรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจ มีอาวุธ และสามารถขัดขวาง นโยบายหรือคำสั่งของรัฐบาลปกติได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิด

“สำหรับดิฉัน การอุ้มหายไม่ใช่เพียงการพรากใครบางคนไปตลอดกาล แต่การอุ้มหายทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ทุกครอบครัวต้องการคือ ‘ความจริง’ แม่ๆ หลายคนพูดว่า ‘เขาเอาลูกเราไปแบบมีชีวิต เราก็อยากได้ลูกคืนแบบมีชีวิต หรืออย่างน้อย คืนศพให้เราก็ยังดี’ ผู้หญิงต่างหวังที่จะเจอลูกๆ และสามีที่ยังมีชีวิต แต่ถ้าพระเจ้าไม่ประสงค์ พวกเธอก็คงทำอะไรไม่ได้ สำหรับครอบครัวคนหายแล้วพวกเราเหมือนถูกพันธนาการด้วยอดีตที่เจ็บปวด และมองไม่เห็นอนาคต

“กรณีการบังคับสูญหายที่ผ่านมาทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายว่า ทำไมคนที่เห็นต่างจากรัฐจึงต้องถูกปิดปาก ถูกทำให้เงียบเสียงโดยการทำให้หายไป แล้วทำไมเราจึงเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เลย ทำไมกฎหมายจึงคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าจะคุ้มครองประชาชน ทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล … อย่างไรก็ดี คำพูดและแววตาที่เย้ยหยันของบรรดาอาชญากร ก็ยังเทียบไม่ได้กับความเงียบของสังคม

“ประสบการณ์ 17 ปีการเรียกร้องความเป็นธรรม แม้จะพ่ายแพ้และเจ็บปวด แต่สำหรับดิฉันแล้วไม่ว่าที่สุดเรื่องราวการบังคับสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร จะจบลงเช่นไร ดิฉันเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งความจริงจะถูกเปิดเผย ผู้กระทำผิดจะไม่มีที่หลบซ่อนตัว และความยุติธรรมจะกลับคืนมา แต่สำหรับตัวเองแล้ว คงกล่าวได้เพียงว่า ชีวิตที่ผ่านมาดิฉันได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้วในฐานะครอบครัว และเพื่อนร่วมสังคม ด้วยความหวังและมิตรภาพ” นางอังคณากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image