ศูนย์รับแจ้งความเอกสารหายออนไลน์ทั่วราชอาณาจักร ยกระดับการบริการประชาชน

“ผมอยากให้แจ้งความที่ไหนก็ได้ ในประเทศไทย เรื่องแค่เอกสารหาย”

ส่วนหนึ่งจากคำกล่าวของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในการประชุมสัมมนาผู้บริหารระดับ ผบช., รอง ผบช., ผบก. หรือเทียบเท่า ที่ได้รับการแต่งตั้งในวาระประจำปี 2563 รวม 179 นาย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 ต.ค.63 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น ถ.วิภาวดี กรุงเทพฯ

ที่ต้องการออกแบบกระบวนการใหม่ (redesign process) และระบบ (System) ในการให้บริการประชาชนที่ดีกว่าเดิม วาดภาพฝันตำรวจในอีก 5 ปีข้างหน้า ให้แก่นายพลตำรวจทั่วประเทศที่เข้าร่วมสัมมนา นำกลับไปช่วยกันคิด โดยมี พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานกฎหมายและคดี ดูแลงานสอบสวน และ พล.ต.ท.ชินภัทร สารสิน ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นคณะทำงานนโยบายการพัฒนางานเทคโนโลยี เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาระบบฯ ในด้านดังกล่าว

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผบช.ภ.3 จึงได้นำแนวนโยบายดังกล่าวกลับมาระดมสมองทีมงานทุกส่วนเพื่อขับเคลื่อนงาน โดยศึกษาข้อมูลเชิงลึกพบว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา มีประชาชนมาแจ้งความเอกสารหายที่สถานีตำรวจต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นจำนวนมากถึง 2,877,031 ครั้ง จึงได้

Advertisement

ขอตัว พ.ต.ต.ธาดา อรรถวุฒิศิลป์ ผู้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี มาดำรงตำแหน่ง สว.สภ.คลองไผ่ โรงพักในสังกัดตำรวจภูธรภาค 3 เพื่อพัฒนาระบบ แจ้งความออนไลน์ เป็นการยกระดับการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนโดยไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าเดินทางมาโรงพัก สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน

ซึ่งเมื่อวันที่ 4 เม.ย. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม “ได้มีข้อสั่งการให้ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดจัดทำแอปพลิเคชั่น แพลตฟอร์มดิจิทัลเกี่ยวกับภารกิจต่างๆ ในความรับผิดชอบของแต่ละส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริการหรือให้ข้อมูลแก่ประชาชนให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 3 เดือน”

ซึ่งกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลในการแจ้งความออนไลน์เรื่องเอกสารหายมาก่อนหน้านี้แล้วเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ทำให้นโยบายที่นายกสั่งการเกิดเป็นรูปธรรมจับต้องได้ในทันที ไม่ต้องรอถึง 3 เดือนข้างหน้า โดยขณะนี้แบ่งเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ

  1. ระบบแบบ Basic โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว

กล่าวคือ การใช้ Application Line และ Google form มาให้พี่น้องประชาชนกรอกข้อมูล เพื่อแจ้งความเอกสารหายทางออนไลน์ โดยมี สภ.เมืองศรีสะเกษ เป็นผู้นำร่องระบบฯ รวมถึงโรงพักต่างๆ ในสังกัดตำรวจภูธรภาค 3 อีกกว่า 30 สถานีฯ

  1. ระบบแบบ Advanced โดยเชื่อมระบบการยืนยันตัวตนกับกรมการปกครอง

กล่าวคือ เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบของเว็บไซต์สำหรับแจ้งความโดยเฉพาะ คือ www.แจ้งความออนไลน์.com โดยเชื่อมระบบการยืนยันตัวตน (e-kyc) กับกรมการปกครอง

ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีในการตอบกลับเป็นหนังสือจากกรมการปกครองที่ มท ๐๓๐๙.๙/๒๖๐๗ ลง 29 ม.ค.64 อนุญาตให้ตำรวจภูธรภาค 3 ทำการเชื่อมระบบฯ โดยทดสอบนำร่องที่ สภ.คลองไผ่ จ.นครราชสีมา ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูล และระบบฐานข้อมูลต่างๆ หากแล้วเสร็จจะสามารถเปิดให้ 236 สถานีตำรวจใน 8 จังหวัด ของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ได้ใช้งานร่วมกัน และเป็นแพลตฟอร์มกลางที่สามารถขยายไปยังกองบัญชาการอื่นๆ ได้อีกในอนาคต

สิ่งหนึ่งที่ทำให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 คิดไปข้างหน้า และกล้าที่จะลงมือทำสิ่งใหม่ๆ นั้น ก็คงจะมาจากคำกล่าวที่ว่า

“อย่าไปยึดติดกับระบบปัจจุบันไม่อย่างนั้นจะคิดเหมือนเดิม ผมไม่อยากให้อธิบายหลักการปริญญาโทมาก ต้องการแบบจับต้องได้”  ส่วนหนึ่งจากคำกล่าวของ ผบ.ตร.

นับได้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในยุค New normal ที่ทุกอย่างต้อง Go Digital ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่า

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ โดยเฉพาะในด้านความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและบริการของภาครัฐ ซึ่งได้ผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยต่อเนื่อง” น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image