18 แนวร่วมชุมนุมคณะราษฎร หน้าร.1รอ.ปฏิเสธสู้ดดี ศาลนัดอีก 5ก.ค.’พรชัย โลหิตดี’ไม่มาโดนหมายจับ

แนวร่วมม็อบคณะราษฎร18 คน คดี ชุมนุม#ม็อบ28กุมภา หน้ากรมทหารราบที่ 1ให้การปฏิเสธสู้คดี “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปและขัดขวางเจ้าพนักงาน” ศาลนัดตรวจหลักฐาน 5 ก.ค.นี้ ส่วนจำเลยที่ 10 ไม่มาศาลจึงให้ออกหมายจับ

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสอบคำให้การ คดีหมายเลขดำ อ.884/2564 ที่ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นฟ้องแนวร่วมม็อบคณะราษฎร จำนวน 19 คน ประกอบด้วย นายพรชัย มายอด,นายสงกรานต์ ดาราดาษ,นายพัชรพล เมืองโคตร,นายบัญชา จันทร์สมบูรณ์ ผู้สื่อข่าวสำนักงานพิมพ์แนวหน้า,นายฐาปนพงศ์ พเนตรรัมย์,นายซูเฟียน ยามา,นายบุญทัย พิกุลทอง,นายพัชรพล เอี่ยมวัฒนพงศ์,นายกำพล วัฒยา,นายพรชัย โลหิตดี,นายธนพัฒน์ กาเพ็ง,นายพชร วัฒนศิริสุข,นายธนพล พันธุ์งาม,นายพีรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ กีรติกานต์,นายขวัญน้อง ท่าหาด,นายทักษิณ อัปมาโน,นายวีรชาติ เกตุแก้ว,นายอรรถพล เรืองรัมย์,นายแซม สาแมท เป็นจำเลยที่ 1-19 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 ขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกกระทำความผิด แล้วไม่เลิก,ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป,ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ, ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การกระทำเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 138, 140, 295, 296, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ในส่วนของนายแซม สาแมท จำเลยที่ 19 มีความผิด ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายเพิ่มเติ่มอีกด้วย

คำฟ้องบรรยายระบุพฤติการณ์ว่า สืบเนื่องจากการประกาศใช้พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ของนายกรัฐมนตรี เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือ โควิด-19 พร้อมกับการใช้อำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนด ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมในลักษณะแพร่เชื้อโรค เว้นแต่เป็นการจัดโดยเจ้าพนักงานที่ได้รับอนุญาตและเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม และจัดในสถานที่ที่ไม่แออัด มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมาตรา 5 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัสหรือโควิด-19 เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชนและการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน ซึ่งจำเลยทั้งหมดได้ทราบประกาศดังกล่าว

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 เวลากลางวันถึงกลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน มีผู้ชุมนุมประมาณ 600-700 คน นัดหมายมาร่วมกันชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเดินขบวนไปขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ออกจากบ้านพักที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิตด้านขาออก

Advertisement

จำเลยทั้ง 19 พร้อมกับเยาวชนอีก 4 ราย ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองดังกล่าว อันเป็นการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด

โดยจําเลยกับพวกไม่ได้จํากัดทางเข้า – ออกในการเข้าร่วมชุมนุม และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย อันเป็นการจัดชุมนุมทางการเมืองโดยไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

จําเลยทั้งหมดยังได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายและกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง กล่าวคือ ขณะจำเลยกับพวกเคลื่อนขบวนไปทางกรมทหารราบที่ 1 ได้มีเจ้าหน้าที่ตํารวจคุมฝูงชนขัดขวางไม่ให้เคลื่อนขบวน จําเลยทั้งหมดจึงได้ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายและใช้กําลังประทุษร้ายด้วยการด่าทอ ตําหนิ และขว้างปาประทัดยักษ์ ก้อนหิน ขวดแก้ว และของแข็งต่างๆ ใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจคุมฝูงชน อันเป็นการกระทําให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้ยุติการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานแล้ว ก็ยังคงขัดขืนไม่เลิกการกระทำดังกล่าว

นอกจากนี้ จําเลยทั้งหมดยังได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติตามหน้าที่ กล่าว คือ เมื่อจําเลยทั้งสิบเก้ากับพวกผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปถึงแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตํารวจคุมฝูงชนที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุม จําเลยทั้งหมดได้ใช้กําลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยการขว้างปาก้อนหิน ขวดแก้ว และของแข็งต่างๆ ใส่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่คุมฝูงชนดังกล่าวได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย อันเป็นการร่วมกันต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยใช้กําลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทําความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานผู้กระทําการตามหน้าที่

คำฟ้องยังระบุพฤติการณ์เพิ่มด้วยว่า นายแซม สาแม็ท (จำเลยที่ 19) ซึ่งเป็นบุคคลเชื้อชาติกัมพูชา ไม่ปรากฏสัญชาติ ได้เดินทางจากประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา เข้ามาในราชอาณาจักรไทยที่ชายแดนอ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จากนั้นเดินทางต่อมาที่ เขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่, ไม่ได้ผ่านการตรวจอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองประจําเส้นทางนั้นตามกฎหมาย, ไม่ได้ยื่นรายการตามแบบที่กําหนดในกฎกระทรวง ตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง และไม่ได้ไปรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทําการด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ใกล้ที่สุดในทางที่เข้ามา ขณะเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งพักอยู่ที่ห้องเช่าในเขตดอนเมือง โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
เหตุเกิดที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กทม.เกี่ยวพันกัน

โดยในวันนี้ นายพรชัย มายอด จำเลยที่ 1 กับพวก 18 คน เดินทางมาสอบคำให้การ ขาดเพียงนายพรชัย โลหิตดี จำเลยที่ 10 ไม่มาศาล

ซึ่งศาลสอบคำให้การและอธิบายคำฟ้องจำเลยทั้ง 18 คนแล้วที่มาศาล จนเข้าใจแล้วสอบถามว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 18 คน ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 5 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ส่วนนายพรชัย จำเลยที่ 10 นั้น ศาลเห็นว่ามีพฤติการณ์หลบหนีจึงให้ออกหมายจับ

ต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวจำเลยนั้น ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยตีราคาประกันคนละ 35,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image