‘ยิ่งชีพ’ เปิดเอกสารคำสั่ง ผบ.ตร. ให้บันทึกภาพและเสียง ขณะตรวจค้น-จับกุม แนะ ปชช.ถ่ายไว้บ้าง

‘ยิ่งชีพ’ เปิดเอกสาร คำสั่ง ผบ.ตร. ให้บันทึกภาพและเสียง ขณะตรวจค้น-จับกุม แนะ ปชช.ถ่ายไว้บ้าง เป็นหลักฐานแย้ง

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายของประชาชน หรือไอลอว์ เปิดเผยเอกสารราชการ คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง ให้บันทึกภาพและเสียง การตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญาลงชื่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยระบุว่า ทีเดียวได้เรื่องเลย ตำรวจนี้ก็กระทุ้งง่ายกว่าที่คิดนะครับ หลังจากวันที่ 8 เมษายน 2564 ผมไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ สน.ลุมพินี โดยยื่นหนังสือชัดเจนแสดงความจำนงจะบันทึกวิดีโอระหว่างกระบวนการสอบสวน และตำรวจพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ให้บันทึก ด้วยเล่ห์เหลี่ยมเล่ห์กล และไม่ให้ผมเอาไฟล์วิดีโอกลับบ้าน วันนั้นเราเถียงกันยาวนาน แต่ไม่ถึงขั้นโกรธเกลียดกัน ในทางข้อกฎหมายแล้วเขาไม่มีเหตุอะไรจะมาห้ามได้

“ที่ผมยืนยันถกเถียงและต่อสู้ทั้งหมด ก็ไม่ได้จะว่าร้ายโจมตีตำรวจว่าทำผิดแต่อย่างใด แต่ก็อธิบายตลอดทั้งในหนังสือ และใช้ปากพูดว่า โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว การบันทึกหลักฐานเพียงในกระดาษมันมีปัญหาเยอะ อยากเห็นทางปฏิบัติในกระบวนการทำงานของตำรวจพัฒนาได้แล้ว ถ้าตำรวจจะถ่ายวิดีโอก็ถ่ายไป แล้วผมก็จะถ่ายด้วย

“วันนี้เพิ่งเห็นคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ่อส่งมาให้ คำสั่งลงวันที่ 9 เมษายน 2564 เลย ก็ไม่รู้เกี่ยวอะไรกันหรือเปล่าถึงเป็นวันที่นี้ ผบ.ตร.อาจจะบังเอิญคิดเรื่องนี้ขึ้นมาได้พอดีจังหวะกันเลยก็ได้

Advertisement

“คำสั่งสรุปได้ว่า เวลาตำรวจเข้าค้น และจับกุม ก็ให้บันทึกภาพและเสียงไว้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่อาจทำได้ (คือไม่มีกล้อง หรือไม่มีเวลา)

“ส่วนเวลาสอบสวน ให้บันทึกภาพและเสียงในคดีสำคัญ เช่น คดีฆ่าคนตาย ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หรือคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือคำรับสารภาพ หรือคำให้การเป็นประโยชน์ ก็ให้ถ่ายวิดีโอไว้

“เมื่อบันทึกภาพและเสียงไว้แล้วให้ทำสำเนาสองชุด โดยคำสั่งฉบับนี้บอกว่า ถ้าจำเป็นกับการสอบสวนก็ให้ส่งให้พนักงานสอบสวน และส่งให้อัยการ พูดง่ายๆ คือ ถ้าเป็นประโยชน์กับฝ่ายตำรวจที่จะเอาผิดจำเลยก็ให้เอาเป็นหลักฐานส่งฟ้อง แต่ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์ หรือถ้าเป็นโทษ เช่น ตำรวจปฏิบัติผิดก็ไม่ส่งก็ได้ ภาพและเสียงที่บันทึกไว้ไม่เป็นข้อบังคับของตำรวจที่ต้องเอาส่งศาลเป็นหลักฐานในคดีเสมอไป ให้เก็บไว้กับตำรวจฝ่ายเดียว และไม่ต้องให้กับฝ่ายผู้ต้องหาเก็บไว้ด้วย

Advertisement

“ซึ่งก็โอเค อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์กับตำรวจนะครับ เป็นการพัฒนาการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอาชญากรรมทั่วๆ ไปให้แน่นหนามากขึ้น และทันกับโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่ว่า ค้น จับ สอบสวน มีถ้อยคำสำคัญ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น สุดท้ายก็มาเขียนใส่กระดาษแล้วให้เซ็น พอขึ้นศาลก็ไปเถียงกันได้ตลอดทุกครั้งว่า โดนซ้อม โดนข่มขู่ โดยหลอกให้เซ็น ซึ่งมีทั้งที่เป็นจริงแล้วก็ไม่เป็นจริง งั้นก็ควรเปลี่ยนเป็นบันทึกวิดีโอด้วยซะ ข้อถกเถียงจะได้หมดไป

“ขอเน้นย้ำว่า คำสั่งฉบับนี้ ‘ไม่ได้ห้าม’ ประชาชนที่ถูกค้น ถูกจับกุม หรือถูกสอบสวน ไม่ให้เป็นฝ่ายถ่ายวิดีโอเอง เพราะตำรวจไม่มีอำนาจอะไรจะออกคำสั่งห้ามทำสิ่งนั้น

“ทั้งนี้ เราในฐานะประชาชนก็ควรจะทราบไว้บ้างว่า หลังจากนี้หาก สน.ไหนพอเจียดงบไปซื้อกล้องวิดีโอแล้ว เวลาเข้าค้น จับ สอบสวน ก็อาจจะมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ เราก็บันทึกของเรา เขาก็บันทึกของเขานะครับ ถ้าหากระหว่างกระบวนการตำรวจทำหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว (เข้าใจว่าส่วนใหญ่จะถูก) วิดีโอที่บันทึกก็อาจจะไม่ได้ใช้อะไร แต่ถ้าตำรวจทำผิด ตำรวจคงไม่ส่งไฟล์ไปเป็นหลักฐาน เราก็ควรจะมีของเรา และถ้าหากตำรวจจะมาหาว่าเราทำผิดอะไร เราก็ควรมีหลักฐานไปยืนยันกลับบ้างครับ

“ป.ล.หาลิงก์คำสั่งในราชกิจจานุเบกษายังไม่เจอ แคปมาเป็นภาพก่อนครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image