‘สมศักดิ์’ แจงคลัสเตอร์คุกระบาดหนัก ราชทัณฑ์ใช้ ‘บับเบิลแอนด์ซีล’ คุมเชื้อ

‘สมศักดิ์’ แจงคลัสเตอร์คุกระบาดหนัก ราชทัณฑ์ใช้ ‘บับเบิลแอนด์ซีล’ คุมเชื้อ

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมแถลงข่าวกรณีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ ที่กรมราชทัณฑ์ ถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา

นายสมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้โควิด-19 เข้าไปอยู่ในเรือนจำมากมาย ทั้ง กทม.และต่างจังหวัดรวมตัวเลขแล้วผู้ต้องขังติดเชื้อ 10,384 คน ขณะนี้ที่รวบรวมได้ เจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลทำงานอย่างหนักและต้องทำต่อไป เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มที่ อะไรที่หย่อนยานต้องเร่งปรับปรุง ตอนนี้มีมาตรการ 10 ข้อ คือ 1.ให้แถลงจำนวนผู้ต้องขังที่ตรวจเชิงรุกไปแล้ว 2.ตรวจเชิงรุกให้ครบทุกเรือนจำทุกคน 55,000 คน 3.เร่งสืบข้อเท็จจริงและสาเหตุการติดเชื้อ 4.การรักษาและการเฝ้าดูอาการคนไข้จะทำตลอดเวลาไม่มีวันหยุด

นายสมศักดิ์กล่าวว่า 5.ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหาวิธีการรักษาที่เร็วและได้ผลดีที่สุด ใช้ยาฟาราพิราเวียร์ รวมทั้งการใช้สมุนไพรไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร เข้าช่วยรักษา 6.ผู้ต้องขังเป็นประชาชนคนไทยที่ต้องอยู่ในเรือนจำไปไหนไม่ได้ 100% การอยู่ในที่ถูกล้อมไว้ ขยับขยายไปไหนไม่ได้เป็นอุปสรรคอย่างมหาศาลในการแก้ไข้ปัญหา ประกอบกับห้องนอนนั้นมีผู้ต้องขังอยู่กันอย่างแออัด 7.มีความจำเป็นต้องเอาผู้ต้องขังและผู้คุมที่ไม่ติดเชื้อในทุกเรือนจำจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน 8.จะมีการติดประกาศหน้าเรือนจำทุกแห่งในประเทศไทยเพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อกี่คนและไม่ติดเชื้อกี่คน หายแล้วกี่คนอย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 9.ผู้บัญชาการเรือนจำทุกคนจะทำรายชื่อผู้ติดเชื้อ และปรับปรุงเป็นรายวัน ตรวจสอบได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่ 08.00-18.00 น 10.กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์จะรีบเร่งวางแผน เตรียมตัวรับการระบาดทุกเมื่อ

Advertisement

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ จะพิจารณานโยบายการพักโทษในรูปแบบพิเศษ เช่น การติดกำไล EM ให้ละเอียดรอบครอบ โดยพิจารณาสิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริง ตลอดจนสภาวะของผู้ต้องขัง เพื่อกำหนดนโยบายการพักโทษขึ้นมารวมทั้งกฎหมายต่างๆ เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสังคมได้ประโยชน์ด้วยกัน ตลอดจนสิทธิขั้นพื้นฐานผู้ต้องขัง

“ถ้าเราใช้ยาฟาราพิราเวียร์รักษา 10,000 คน หัวหนึ่ง 5,000 บาท จะใช้เงินถึง 50 ล้านบาท แต่หากใช้วัคซีนกับผู้ต้องขัง 300,000 คน หัวละ 1,000 บาท จะใช้ 300 ล้านบาท จะหยุดเชื้อในเรือนจำได้ทั้งหมด ผมจะเสนอไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการให้เรียบร้อย หวังว่าทางนายอนุทินจะเข้าใจและเร่งดำเนินการให้ ส่วนสถานการณ์ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้บับเบิลแอนด์ซีล ควบคุมในเรือนจำ ร่วมมือกันส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัด ในเรื่องตัวเลขต้องแจกแจงให้ชัด เราจะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้” นายสมศักดิ์กล่าว

วันเดียวกันที่กรมราชทัณท์ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของผู้ต้องขังในเรือนจำใช้วิธีการไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์
นายอายุตม์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขัง 311,540 ราย เป็นจำนวนสูง เมื่อเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ประมาณ 13,000 คน และพื้นที่เรือนจำที่มีความเก่าคับแคบ ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแออัด ที่ผ่านมาพยายามสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างเต็มความสามารถ ด้วย 3 มาตรการ คือ 1.คนในห้ามออก 2.คนนอกห้ามเข้า และ 3.การกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ ผู้ต้องขังไปโรงพยาบาล และผู้ต้องขังออกศาล เป็นระยะเวลา 21 วัน และต้องสวอบเพื่อตรวจเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง คือก่อนเข้าห้องกักโรค และก่อนพ้นระยะกักตัว จนควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อทั้ง 2 ระลอกได้เป็นอย่างดี มีสถิติผู้ติดเชื้อเพียงหลักหน่วยและหลักสิบ สอดคล้องกับยอดผู้ติดเชื้อภายนอกเรือนจำ กระทั่งระลอกปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดกว้างขวาง พบการติดเชื้อในผู้ต้องขังจำนวนที่สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมามาก

Advertisement
อายุตม์ สินธพพันธุ์

นายอายุตม์กล่าวว่า เรือนจำและทัณฑสถานอาจดูเหมือนเป็นพื้นที่ปิดควบคุมการแพร่ระบาดได้ง่าย แต่ความจริงราชทัณฑ์ไม่สามารถควบคุมปริมาณบุคคลเข้าออกได้ 100% เนื่องจากเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถปฏิเสธการรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่และการนำตัวผู้ต้องขังออกศาลได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ต้องหมุนเวียนทุกวัน อีกทั้งสายพันธุ์โควิดที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน มีระยะฟักตัวนานขึ้นและไม่แสดงอาการ อาจเกิดการเล็ดลอดของเชื้อหลังจากผ่านพ้นระยะกักตัวได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์จะดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยใช้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีลและตรวจหาเชื้อเชิงรุก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต้องเร่งการสวอปให้ครบ 100% เรือนจำและทัณฑสถานที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อให้เร่งคัดแยกผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข เร่งคัดกรองให้เร็ว เอกซเรย์ให้เร็ว และคัดแยกให้เร็วเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ลดการแพร่เชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตได้ในที่สุด

นายอายุตม์กล่าวว่า ส่วนเรือนจำและทัณฑสถานอื่นๆ ทั่วประเทศ ให้เตรียมพร้อมจัดพื้นที่คัดแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเฝ้าระวังต่างๆ จัดตั้ง รพ.สนามในกรณีจำเป็น การตรวจหาเชื้อเชิงรุกผู้ต้องขังในเรือนจำมีทั้งหมด 143 แห่ง มีเรือนจำ 15 แห่งพบผู้ติดเชื้อ ขณะที่ 8 เรือนจำต้องเฝ้าระวัง ได้กำชับให้ผู้บัญชาการเรือนจำต่างๆ ดำเนินการอย่างรวดเร็วทั้งการตรวจโรคและการป้องกัน ต้องตรวจด้วยวิธีการสว็อบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกๆ 7 วัน ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ (ศบค.รท.) ขึ้น เพื่อรับมือ แก้ไข และจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image