ศาลออกมาตรการลดการคุมขัง จ่อยื่นไต่สวน 5 แกนคณะราษฎร

ศาลออกมาตรการลดการคุมขัง จ่อยื่นไต่สวน 5 แกนคณะราษฎร

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าจากกรณีมีข่าวการแพร่ระบาดเชื้อโควิดอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของศาลยุติธรรมก็มีขั้นตอนพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ประกอบกับล่าสุดมีกรณีศาลอาญาเลื่อนนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ หรือระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในส่วนของนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน อายุ 30 ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน ตาม ป.อาญา ม.112 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 28 เม.ย.64 ขอให้งดเบิกตัวผู้ต้องขังแม้โดยระบบการสื่อสารผ่านทางไกลเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาในพื้นที่เรือนจำ จึงไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องหาได้ โดยศาลอาญาเลื่อนไปนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 1 มิ.ย.64 เวลา 10.00 น. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก็เป็นการปฏิบัติตามแนวทางมาตรการลดการคุมขังและการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ออกหนังสือเวียนถึงหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม เน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการลดการคุมขังและการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขยายโอกาสเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2562 โดยการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาคดี (ทุกชั้นศาล) และผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่เคยถูกคุมขังคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิดในสถานที่คุมขัง และเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือภัยอันตราย โดยพึงใช้วิธีกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ

“รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมาใช้เพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นระหว่างนี้ และเมื่อใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว สามารถผ่อนคลายการเรียกหลักประกันลงได้ โดยวิธีดังกล่าวนำไปใช้กับการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในศาลสูงสำหรับจำเลยที่ไม่เคยถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีของศาลล่างได้ด้วย หากศาลกำหนดเงื่อนไขให้แก่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวต้องรายงานตัวเป็นระยะๆ อาจใช้วิธีรายงานตัวทางโทรศัพท์หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้” นายสุริยัณห์กล่าว

Advertisement

นายสุริยัณห์กล่าวว่า ส่วนกรณีศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หากจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มาก่อน ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง และกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไข เช่น มีคำสั่งกำกับดูแลผู้ต้องหาหรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) จำกัดการเดินทางของผู้ต้องหา เป็นต้น

“สำหรับการพิจารณาคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในกรณีสถานที่คุมขังแห่งใดมีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังเพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาดเชื้อโรค ให้อยู่ในพื้นที่ที่ทางสถานที่คุมขังกำหนดทำให้ไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องขังมาศาล หรือดำเนินการในลักษณะการประชุมทางจอภาพผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การสอบถามผู้ต้องหาว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่อาจดำเนินการ โดยส่งสำเนาคำร้องขอฝากขังไปยังสถานที่คุมขังเพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานที่คุมขังแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบและลงชื่อคัดค้านหรือไม่คัดค้านการฝากขัง หากผู้ต้องหาคัดค้านให้สถานที่คุมขังแจ้งให้ศาลทราบโดยเร็วเพื่อเรียกไต่สวนผู้ร้องถึงเหตุจำเป็นในการฝากขังต่อไป” นายสุริยัณห์กล่าว

นายสุริยัณห์กล่าวว่า ส่วนการอ่านคำพิพากษา กรณีจำเลยทุกคนในคดีได้รับการปล่อยชั่วคราว ให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาและแจ้งให้คู่ความทราบ เว้นแต่คู่ความแจ้งให้ศาลทราบว่าประสงค์จะฟังคำพิพากษา ตามกำหนดเดิม ก็ให้อ่านคำพิพากษาไปได้ โดยกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ส่วนกรณีจำเลยบางคนหรือทุกคนในคดีถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ให้อ่านคำพิพากษาตามกำหนดนัดเดิมโดยผ่านระบบการประชุมทางจอภาพผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

Advertisement

โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวอีกว่า แนวทางดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติที่ประธานศาลฎีกาท่านก่อนและท่านปัจจุบันได้วางไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดระลอกนี้แล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมนำมาเน้นย้ำเพราะเป็นแนวทางที่สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดยังลุกลามไปมากจะสังเกตเห็นได้ว่ายังมียอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนหลักพันทุกวัน การนำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดนำมาปฏิบัติใช้นั้น เพื่อความปลอดภัยสำหรับประชาชน ผู้ต้องขัง และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และทั้งช่วยลดความเสี่ยงและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอีกด้วย

ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ขณะนี้ที่ศูนย์ทนายกำลังดูเรื่องประกันตัวจะมี นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก, นายชูเกียรติ หรือจัสติน แสงวงค์ และ 2 ผู้ต้องหาคดีทุบรถ ผู้ต้องขังภายหลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนประกันนายภาณุพงศ์ แกนนำคณะราษฎร โดยให้เหตุผลว่า ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือขอให้งดเบิกตัวผู้ต้องขังแม้โดยระบบการสื่อสารผ่านทางไกลเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง จำกัดการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่เรือนจำและเลื่อนไต่สวนนายชูเกียรติออกไป ทางทีมทนายก็กำลังพิจารณาว่าจะยื่นคำร้องขอไต่สวนผ่านคอนเฟอเรนซ์ในรายที่สามารถไต่สวนได้ โดยจะพยายามประสานทางเรือนจำ เนื่องจากขณะนี้นายอานนท์และนายนายภาณุพงศ์ถูกเบิกตัวไปรักษาอาการอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เราก็จะดำเนินการประสานไปทั้งทางโรงพยาบาลและเรือนจำว่าจะขออนุญาตให้ไต่สวนคอนเฟอเรนซ์ที่โรงพยาบาลจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะทั้งทางนายอานนท์ที่อยู่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และนายชูเกียรติที่อยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ล้วนอาการดีขึ้นและกำลังจะหาย สามารถไต่สวนได้ ส่วนนายภาณุพงศ์เพิ่งเข้าไปรักษาตัวแต่ถ้าสถานที่ควบคุมตัวใครมีความสะดวก เราจะขอให้ศาลไต่สวนผ่านคอนเฟอเรนซ์ทันที

นายกฤษฎางค์ยังกล่าวถึงอาการของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ว่าเท่าที่คุยทางโทรศัพท์ก็ทราบว่ายังมีไข้อยู่ ส่วนนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความที่ตรวจพบเชื้อก็ยังแข็งแรงไม่มีอาการ คงเนื่องจากเป็นคนหนุ่ม ตอนนี้ก็ออกจากห้องฉุกเฉินมาอยู่ห้องพักเชื้อดูอาการ สักพักก็สามารถกลับไปกักตัวได้ ส่วนตนและทีมทนายคนอื่นตรวจแล้วไม่พบเชื้อ แต่ต้องกักตัวจนถึงวันที่ 21 พ.ค.นี้ และค่อยไปตรวจอีกครั้ง แต่เรื่องการยื่นประกันตัวที่กล่าวในตอนต้นไม่ต้องเป็นห่วง เรายังมีทีมทนายจะยื่นคำร้องประกันอยู่อีกมาก คาดว่าจะยื่นได้ภายในสัปดาห์นี้ จริงๆ เราทำเอกสารไว้เรียบร้อยแต่การจะยื่นก็ต้องประสานไปยังสถานที่ไต่สวนและก็ต้องคุยกับผู้เข้าไต่สวนเพื่อเตรียมความพร้อม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image